xs
xsm
sm
md
lg

ลึก(แต่ไม่)ลับ 8 ศาลเจ้ารอบเยาวราช ไหว้ขอพรวันตรุษจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรุษจีนปีนี้เตรียมสถานที่ไปไหว้เจ้าขอพรกันแล้วหรือยัง ในปีนี้ที่โรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่ไม่หาย ถ้าใครไม่อยากไปเจอคนเยอะๆ ที่วัดดังหรือศาลเจ้าดังๆ ที่มักมีคนจำนวนมากไปกราบไหว้ วันนี้เราขอแนะนำศาลเจ้า 8 แห่งรอบเยาวราช ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่แต่อาจไม่โด่งดังนัก หลายแห่งตั้งอยู่อย่างลึกลับในซอยเล็กๆ บางแห่งเป็นศาลเจ้าท้องถิ่นแต่มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย

โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดเส้นทางเดินเท้าเที่ยวกรุงเทพฯ Walking BKK : “เกร็ดศาลเจ้าเก่าเล่าตำนานวัดมหายาน เสริมมงคลตรุษจีน” ในย่านเยาวราช ให้เราได้ไปเยือนศาลเจ้าเหล่านี้กัน

เทพเจ้าหลู่ตงปิน แห่งศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ

ภายในศาลเจ้าจุนเสียงโจซือในตรอกหัวเม็ด
1.ศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ

หลายคนอาจเคยเดินจากสะพานหันไปยังสำเพ็งผ่านตรอกหัวเม็ดที่เต็มไปด้วยร้านค้าตลอดสองข้างทาง แต่อาจไม่เคยสังเกตว่าในตรอกนี้มีศาลเจ้าเล็กๆ แอบซ่อนอยู่มุมหนึ่งในซอยซึ่งอยู่ในตรอกหัวเม็ดอีกที

ศาลแห่งนี้ชื่อว่า “ศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๔ โดยกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋ว ตัวศาลแม้มีขนาดเล็กแต่องค์ประกอบส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้าง เทพประธานในศาลคือ “เทพเจ้าหลู่ตงปิน” เป็นเซียนองค์ที่ 3 ใน 8 เซียน เล่ากันว่าท่านเป็นเซียนนักปราชญ์ที่รอบรู้หลักปรัชญา ทั้งยังเป็นเซียนกระบี่ที่สามารถ เรียกได้ว่าท่านมีความสามารถทั้งบุ๋นและบู๊ จึงมีผู้มากราบไหว้ขอพรจากท่านทั้งด้านเสริมมงคลให้ปัญญาด้านการศึกษา รวมถึงเรื่องธุรกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย

หากใครอยากไปกราบศาลเจ้าจุนเสียงโจซือแต่กลัวไปไม่ถูก ลองดูพิกัดของธนาคารไทยพาณิชย์สาขาหัวเม็ด ตัวศาลเจ้าจะอยู่ในซอยที่อยู่ตรงข้ามธนาคาร ปากซอยมีร้านค้าเชือกประดับตั้งอยู่หรือถามคนแถวนั้นได้เลย

ภายในโรงเจบุญสมาคม

เจ้าแม่ทับทิมและเทพนพเคราะห์ 9 องค์เป็นเทพประธาน

พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ในโรงเจบุญสมาคม

เทคนิค “เชี่ยนฉือ” คือการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาประกอบกันเป็นเรื่องราวต่างๆ งดงามมาก
2. โรงเจบุญสมาคม

มาทางย่านราชวงศ์กันบ้าง ที่นี่เป็นที่ตั้งของ “โรงเจบุญสมาคม” เตียชูหั่ง หรือบ่วงกิมฮกซั่วตั้ง แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าโรงเจตรอกไกรตามชื่อซอย โรงเจบุญสมาคมเป็นโรงเจเก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราช โดยสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์เป็นผู้พระราชทานนาม “บุญสมาคม” และเคยเสด็จเยือนโรงเจนี้ด้วยพระองค์เองอีกด้วย

โรงเจแห่งนี้แม้ตั้งอยู่ในซอยแต่ก็มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ภายในมีเจ้าแม่ทับทิมและเทพนพเคราะห์ 9 องค์เป็นเทพประธานและยังประดิษฐานรูปเคารพอื่นๆ อาทิ พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ พระมหาโพธิสัตว์อุยท้อ พระมหาโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น และบริเวณด้านซ้ายและขวาของอาคารศาลเจ้ายังประดิษฐานป้ายวิญญาณบรรพชนผู้ล่วงลับซึ่งพบในศาลเจ้าหลายแห่ง
และอยากชวนให้ชมรายละเอียดการตกแต่งโรงเจแห่งนี้ตามแบบจีนด้วยเทคนิค “เชี่ยนฉือ” คือการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาประกอบกันเป็นเรื่องราวต่างๆ ละเอียดงดงามมากทีเดียว

ศาลเจ้าอาเนี้ยใกล้ท่าน้ำราชวงศ์

องค์เจ้าแม่กวนอิมในศาลเจ้าอาเนี้ย

กระถางธูปที่มีผ้าคลุมด้านหน้าให้ดูเหมือนเป็นด้านหลัง เป็นการกลับกระถางธูปแก้เคล็ดไฟไหม้
3. ศาลเจ้าอาเนี้ย

ไม่ไกลกันนักในแถบทรงวาดใกล้ท่าน้ำราชวงศ์ มี “ศาลเจ้าอาเนี้ย” ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบในซอยไมตรีวานิช ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในราวรัชกาลที่ ๕ โดยในย่านนี้มีคนอยู่อย่างหนาแน่นเพราะเป็นแหล่งใกล้ท่าเรือขนส่งสินค้า มีบ้านเรือนอยู่ติดๆ กันสร้างด้วยไม้ ทำให้เกิดเพลิงไหม้อยู่บ่อยครั้ง ชาวจีนในแถบนี้จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้น โดยมีเจ้าแม่กวนอิมปางประทานพรนั่งบนดอกบัวเป็นองค์ประธานและคอยคุ้มครองชุมชน ปัดเป่าภัยร้ายต่างๆ

นอกจากการกราบไหว้บูชาอาเนี้ยหรือเจ้าแม่กวนอิมแล้ว ยังมีการแก้เคล็ดให้ชุมชนรอดปลอดภัยจากเพลิงไหม้ด้วยการวางกระถางธูปกลับทิศ เอาผ้ามาคลุมด้านหน้ากระถางธูปให้ดูเหมือนเป็นด้านหลัง เป็นความเชื่อที่แปลกไม่ซ้ำใคร

อุโบสถวัดกุศลสมาคร

พระพุทธรูป?ปางสมาธิและพระพุทธเจ้า ?3 องค์ ภายในวัดกุศลสมาคร

เจดีย์แบบจีนในวัดกุศลสมาคร
4. วัดกุศลสมาคร

วัดกุศลสมาครแห่งนี้เป็นวัดในอนัมนิกายหรือวัดญวน ตั้งอยู่บนถนนราชวงศ์ภาษาเวียดนามเรียกว่า “จั่ว โผ เพื๊อก” และเรียกเป็นภาษาจีนว่า “โผว ฮก หยี่” ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๕ ว่า “วัดกุศลสมาคร” มีความหมายว่าวัดที่มีแต่ความดี
ความบริสุทธิ์ ดุจน้ำในสาคร

ตัวอุโบสถสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบญวนผสมจีน คือปูนปั้นที่หน้าบันมีรูปมังกรดั้นเมฆ หลังคาประดับกระเบื้องกาบกล้วยซ้อนชั้นแบบจีน แต่ปลายหลังคามีชายสั้นเป็นตามแบบเวียดนามภายในประดิษฐานพระพุทธรูป​ปางสมาธิศิลปะพุทธมหายาน เบื้องหน้าพระประธาน​มีการนำพระพุทธเจ้า ​3 องค์ ตามคติมหายานรวมถึงเทพเจ้าองค์​ต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลให้ผู้คนที่เดินทางเข้ามากราบสักการะ

ศาลเจ้ากว๋องสิว

ตัวอักษรจีนสีทองด้านหน้าประตูศาลเจ้ากว๋องสิว

วัสดุต่างๆ ที่สร้างศาลเจ้ากว๋องสิวนำเข้ามาจากเมืองจีน
5.ศาลเจ้ากว๋องสิว

ศาลเจ้ากว๋องสิว หรือศาลเจ้ากวางตุ้ง สร้างขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยชาวจีนกวางตุ้งในกรุงเทพฯ ที่รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมการกุศลขึ้นเพื่อพบปะสังสรรค์และช่วยเหลือสิ่งต่างๆ แก่กัน และได้รวมเงินกันซื้อที่ดินบนถนนเจริญกรุง จัดสร้างศาลเจ้าขึ้น

ในการก่อสร้างศาลเจ้ากว๋องสิวนี้ได้ส่งคนไปหาวัสดุก่อสร้างต่างๆ มาจากเมืองจีน ศิลปกรรมต่างๆ ก็สร้างตามแบบจีนโบราณที่เรียกว่าเป็น “สามเรือนล้อมลาน” เมื่อเข้ามาจากประตูศาลเจ้าจะพบบานประตูไม้สีแดงขนาดใหญ่เขียนตัวอักษรจีนสีทองอ่านว่า “ฟู่” ซึ่งหมายถึงวาสนา พร้อมกับมีค้างคาวสัตว์มงคลล้อมรอบ เปรียบดังคำอวยพรแก่ทุกๆ คนที่เข้ามายังศาลเจ้าแห่งนี้


ภายในศาลเจ้า มี "ซำป้อหุกโจ้ว" และ"พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์" เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพรถือยาเม็ดกับน้ำ และด้านขวามีเทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าขงจื๊อ เทพเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้และเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะในการฝากดวง สามารถกราบสักการะขอพรด้านชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขประสบความสำเร็จทุกด้าน

ด้านหน้าศาลเจ้าฉือปุยเนี่ยเนี้ยที่ตำนานเล่าว่าเดิมเป็นกองขยะ

องค์เจ้าแม่กวนอิมแห่งศาลเจ้าฉือปุยเนี่ยเนี้ย ใบหน้าอวบอิ่มมีเมตตา

เทพไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าโชคภาพตามแบบจีน (องค์ด้านหลัง) และแบบทิเบต (องค์ด้านหน้า)
6. ศาลเจ้าฉือปุยเนี่ยเนี้ย

ศาลเจ้าฉือปุยเนี่ยเนี้ย หรือศาลเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่บนถนนพาดสาย เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ที่มีความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อย ศาลแห่งนี้สร้างขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยในย่านเศรษฐกิจอย่างเยาวราชก็มีแหล่งเสื่อมโทรมไม่น่าดูมาตั้งแต่สมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นตรอกแขวนคอ ตรอกเว็จขี้ ตรอกหมาเน่า เป็นต้น ในย่านพาดสายเองเดิมก็เป็นกองขยะเน่าเหม็นมาก่อน

เล่ากันว่าชาวจีนในแถบนี้ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่กวนอิมขึ้นเกี้ยวเพื่อจะไปที่ใดที่หนึ่ง แต่เกี้ยวกลับหนักขึ้นจนยกต่อไม่ไหว ต้องพักอยู่บริเวณนี้ซึ่งเป็นกองขยะสกปรก แต่เมื่อจะไปต่อก็กลับยกเกี้ยวไม่ขึ้น จนสุดท้ายต้องสร้างศาลให้เจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานอยู่ที่นี่ พร้อมกับพัฒนาพื้นที่บริเวณศาลเจ้าให้สะอาดสวยงาม และเป็นที่ตั้งของศาลมาจนปัจจุบัน

เจ้าแม่กวนอิมองค์ประธานในศาลเจ้าแห่งนี้มีขนาดเล็ก แต่มีใบหน้าอิ่มเอิบเมตตายิ่งนัก เมื่อได้เข้ามากราบท่านแล้วเหมือนได้ชำระจิตใจที่ยุ่งเหยิงเหมือนกองขยะให้สงบและสะอาด และอย่าลืมไปกราบเทพไฉ่ซิงเอี้ย หรือเทพเจ้าโชคลาภที่มีอยู่ 2 องค์ 2 เวอร์ชัน นั่นคือองค์เทพแบบจีนที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ และองค์ไฉ่ซิงเอี้ยปางทิเบต หรือวัชรญาณ ที่งดงามแตกต่างจากที่แบบจีนที่เราเคยเห็นกัน

ด้านหน้าศาลเจ้าเซียงกง

องค์เทพเซียงกง หรืออากงเทวดา
7. ศาลเจ้าเซียงกง

คำว่า “เซียงกง” นั้น หลายคนได้ยินแล้วคงนึกถึงย่านอะไหล่รถมือสองในแถบเยาวราช แต่รู้หรือไม่ว่าคำนี้มีที่มาจากศาลเจ้าเซียงกง บนถนนทรงวาด ซึ่งเป็นศาลเก่าแก่ของชาวจีนฮกเกี้ยนในย่านนี้ที่สร้างขึ้นในราวรัชกาลที่ ๓

“ศาลเจ้าเซียงกง” หรือแปลเป็นไทยว่าศาลอากงเทวดา เป็นองค์เทพท้องถิ่นที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเคารพบูชา เมื่อมาสร้างชุมชนในเมืองไทยก็สร้างศาลเพื่อประดิษฐานท่าน และขอพรจากท่านให้ปกป้องคุ้มครองอำนวยพรให้คนในชุมชนนี้ปลอดภัยมีโชคลาภ

ย่านเซียงกงแห่งเยาวราช โด่งดังเรื่องการขายอะไหล่มือสอง
ต่อมาเมื่อมีเรือกลไฟเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ย่านนี้ที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยาได้กลายมาเป็นแหล่งซ่อมเครื่องเรือ อะไหล่เรือต่างๆ จวบจนเมื่อมีรถยนต์เข้ามาใช้ในเมืองไทย ที่นี่ก็เป็นแหล่งซ่อมและแยกอะไหล่รถยนต์ด้วยเช่นกัน กลายเป็นย่านที่โด่งดังในหมู่ช่างเครื่องทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่จะมาหาอะไหล่มือสองไปซ่อมรถ

มาจนปัจจุบันร้านอะไหล่มือสองแม้บางร้านจะไปเปิดใหม่ ไม่ได้ตั้งอยู่ในย่านเยาวราชแล้วก็ตาม แต่ก็ยังใช้ชื่อ “เซียงกง” เพราะเป็นชื่อที่คนจะเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นร้านขายอะไหล่มือสอง แต่ก็อย่าลืมว่าที่มาของชื่อเซียงกงนั้นที่แท้แล้วคือองค์เทพของชาวจีนฮกเกี้ยนนั่นเอง

ศาลเจ้าหลี่ตี่เมี่ยว

ภายในห้องโถงชั้นสองของศาลเจ้าหลี่ตี่เมี่ยวที่สวยงามอลังการ
8. ศาลเจ้าหลี่ตี่เมี่ยว

ศาลเจ้าแห่งสุดท้ายที่พามาเยือนในวันนี้อยู่บนถนนพลับพลาชัย ใกล้แยกแปลงนาม คือ “ศาลเจ้าหลี่ตี่เมี่ยว” ศาลเจ้าขนาดใหญ่สร้างแบบผสมผสานระหว่างศาลเจ้าและพระราชวัง มีบันไดสูงขึ้นสู่อาคารด้านบน

เมื่อเข้าไปภายในห้องโถงชั้น 2 จะพบความงามอลังการภายในศาล โดยมีองค์หลีไทตี้ เป็นเทพประธานภายในห้องโถง ท่านเป็นเทพที่ดูแลทุกข์สุขให้แก่ผู้คน จึงมักมีผู้จะมาขอพรในเรื่องความรัก และขอบุตร สำหรับคนที่มีคู่ครองแล้ว

องค์หลีไทตี้ ที่ผู้คนมักมาขอพรเรื่องความรัก และขอบุตร

เสี่ยงเซียมซียา
จุดเด่นอีกอย่างของศาลเจ้าแห่งนี้คือการ “เสี่ยงเซียมซียา” โดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นอะไร ก็จะมาเสี่ยงทายเซียมซีดู เมื่อได้หมายเลขและใบเซียมซี (ภาษาจีน) แล้วก็นำใบเซียมซีนั้นไปให้หมอยาที่ศาลเจ้าจัดยาซึ่งเป็นยาสมุนไพรจีนไปต้มกิน แต่ในช่วงนี้มีป้ายติดไว้ว่าคนจัดยาป่วย ใครอยากมาเซียมซียาก็อาจต้องรอไปก่อน

ผู้ที่อยากไปกราบไหว้ศาลเจ้าเหล่านี้แต่กลัวไปไม่ถูก สามารถนำชื่อของศาลเจ้าแต่ละแห่งไปเสิร์ชใน Google Map ได้เลย ขอแนะนำให้ใช้รถสาธารณะแล้วเดินเท้าไปยังแต่ละแห่ง จะได้ชมบรรยากาศเยาวราชมุมใหม่ๆ ที่อาจยังไม่เคยเห็น และยังได้แวะสนับสนุนร้านค้าร้านอาหารในพื้นที่อีกด้วย


สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพฯ (ดูแลกรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นนทบุรี) โทร.0 2276 2720 ถึง 1

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น