เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 11.10 น. (เวลาประเทศไทย) ภูเขาไฟใต้ทะเลในประเทศตองกา เกิดปะทุขึ้น ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 1.2 เมตร และยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังประเทศใกล้เคียง รวมถึงมีคำเตือนคลื่นสูงและสึนามิรอบๆ มหาสมุทรแปซิฟิกด้วย
จากเหตุการณ์นี้ เกาะเล็กๆ ในทะเลแปซิฟิก จึงได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้น
มาทำความรู้จักกับ “Hunga Tonga-Hunga Ha’apai” จุดเกิดเหตุภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดแห่งนี้กัน
“Hunga Tonga-Hunga Ha’apai” (ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย) เป็นเกาะเล็กๆ ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนเหนือ ห่างจากกรุงนูกูอาโลฟาของประเทศตองกา 65 กิโลเมตร เกาะแห่งนี้เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าทึ่ง ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ถือกำเนิดเกาะใหม่ขึ้นมาได้จากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล
แต่เดิมบริเวณนี้มีเกาะอยู่ 2 เกาะ นั่นคือ เกาะ Hunga Tonga และ เกาะ Hunga Ha’apai จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2014 เกิดการปะทุขึ้นของภูเขาไฟใต้ทะเล และมีการปะทุต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2015
จนเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2015 ก็มีการปะทุครั้งใหม่ ภูเขาไฟพ่นเถ้าถ่านพุ่งสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า สูงถึง 9 กิโลเมตร (30,000 ฟุต) ส่งผลให้เที่ยวบินต่างๆ ที่เดินทางจากนิวซีแลนด์มายังตองกาต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป และหลังจากนั้นอีกราวๆ 1 สัปดาห์ เถ้าถ่านและฝุ่นดินที่กระจายขึ้นไปบนฟ้าก็ตกลงมาด้านล่าง และถูกน้ำทะเลซัดมากองรวมกันจนกลายเป็นแผ่นดินเกิดใหม่ที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 เกาะ จนทำให้กลายเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ในที่สุด นักธรณีวิทยาจึงได้ตั้งชื่อให้เกาะกำเนิดใหม่นี้ว่า “Hunga Tonga-Hunga Ha’apai”
เกาะที่ถือกำเนิดใหม่นี้ มีความกว้าง 1-2 กิโลเมตร ยาว 2 กิโลเมตร และมีความสูง 120 เมตร ในช่วงแรก นักธรณีวิทยาคาดการณ์ว่าเกาะใหม่แห่งนี้อาจจะดำรงอยู่ไม่กี่เดือนก่อนที่จะถูกกระแสน้ำพัดพาไป
ต่อจากนั้นก็ได้มีการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า เถ้าภูเขาไฟที่เกิดจากการปะทุในครั้งนี้ได้ทำปฏิกิริยากับน้ำทะเลอุ่นๆ ที่อยู่โดยรอบ ทำให้เถ้าถ่านกลายเป็นหินที่มีความแข็งแรง นักภูเขาไฟวิทยาเชื่อว่า เกาะแห่งนี้น่าจะคงอยู่อีกหลายทศวรรษ แทนที่จะถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็วเหมือนที่เคยคาดการณ์ จากปรากฏการณ์นี้จึงทำให้ “Hunga Tonga-Hunga Ha’apai” เป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟแห่งที่ 3 ในรอบ 150 ปี ที่สามารถอยู่รอดได้มากกว่า 2-3 เดือน หลังจากการถือกำเนิด
ในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ด องค์การนาซา ได้ลงพื้นที่ทำการศึกษาเกาะใหม่แห่งนี้ โดยใช้เป็นต้นแบบจำลองสำหรับรูปร่างภูเขาไฟบนดาวอังคาร โดยมีการตีพิมพ์ข้อมูลทางวิชาการออกมาว่า ลักษณะการกัดเซาะบนเกาะใหม่แห่งนี้ คล้ายกันกับที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารเป็นอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้บ่งชี้ว่า ครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยถูกน้ำท่วมในช่วงเวลาสั้นๆ และระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคล้ายคลึงระหว่าง Hunga Tonga-Hunga Ha’apai และธรณีสันฐานของภูเขาไฟบนดาวอังคาร
นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2018 ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์ได้ลงไปสำรวจเกาะนี้ และพบว่า พื้นผิวของเกาะเต็มไปด้วยกรวดและดินโคลนเหนียวๆ มีพืชพรรณต่างๆ ขึ้นเต็มไปหมด มีสัตว์หลายชนิดเริ่มเข้ามาอยู่อาศัย โดยสัตว์จำพวกแรกที่มาถึงคือนก และมีการเข้ามาทำรังวางไข่กันด้วย ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศน์ แต่จากการสำรวจ นักวิจัยพบว่าเกาะแห่งนี้อาจจะถูกกัดเซาะเร็วกว่าที่คาดว่าจะคงอยู่อีกหลายทศวรรษ เนื่องจากมีฝนตกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
จนกระทั่งการปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2021 มีการปะทุต่อเนื่อง และจบลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2022 ก่อนจะเริ่มต้นอีกครั้งในวันที่ 13 มกราคม และมีการระเบิดอย่างรุนแรงในวันที่ 15 มกราคม มีรายงานการเกิดเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนในหลายประเทศ เกิดสึนามิและคลื่นยักษ์ในหลายแห่ง
จากการสำรวจเรดาร์ก่อนและหลังการปะทุในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าเกาะส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว เหลือเพียงส่วนเล็กๆ ของ เกาะ Hunga Tonga และ เกาะ Hunga Ha’apai แต่ยังไม่มีภาพพื้นที่จริงในบริเวณนั้น จึงยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “Hunga Tonga-Hunga Ha’apai” เกาะใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2015 จะยังคงอยู่หรือจากไปแล้ว
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline