วัดพระพุทธชินราช เปิดให้ผู้สนใจเข้าสักการะ “ท้าวเวสสุวรรณ” หนึ่งเดียวในไทยที่ข้างองค์พระพุทธชินราชได้แล้วในแบบ New Normal พร้อมจัดสร้างท้าวเวสสุวรรณ ขนาดเท่าองค์จริงให้สักการบูชา
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร” จังหวัดพิษณุโลก หรือ “วัดใหญ่” หรือที่คนมักเรียกกันว่า “วัดพระพุทธชินราช” เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจเข้าสักการะ “ท้าวเวสสุวรรณ” สุดอันซีนที่ข้างองค์พระพุทธชินราช
สำหรับท้าวเวสสุวรรณองค์ดังกล่าว หล่อด้วยสำริดลงรักปิดทองเหลืองอร่าม ในท่าปางประทับนั่ง ถือ คทาวุทธัง (กระบองวิเศษ เป็นอาวุธ) สถิตถวายการอภิบาลอยู่ที่ฐานชุกชีรัตนบัลลังก์ ข้างพระชานุ (เข่า) ด้านซ้ายขององค์พระพุทธชินราช ซึ่งทางวัดใหญ่ระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและมีเพียงหนึ่งเดียวในไทย
นอกจากท้าวเวสสุวรรณแล้ว บนฐานชุกชีรัตนบัลลังก์ ยังมี “อาฬวกยักษ์” (เสนาบดีของท้าวเวสสุววรณ) สถิตอยู่ที่ข้างพระชานุด้านขวาขององค์พระพุทธชินราช เพื่อถวายการอภิบาลเช่นกัน
ทั้งนี้ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ จ.พิษณุโลก ได้ทำการจัดสร้างท้าวเวสสุวรรณข้างองค์พระพุทธชินราชเป็นวัตถุมงคลต่าง ๆ รวมถึงได้ทำพิธีเททองหล่อท้าวเวสสุวรรณปางดังกล่าวขนาดเท่าองค์จริง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดใหญ่ให้ผู้สนใจได้สักการะบูชา
สำหรับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ หรือ วัดใหญ่ หรือที่คนมักเรียกกันว่า วัดพระพุทธชินราช ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปทำบุญไหว้พระ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแบบ New Normal ทุกวัน ระหว่างเวลา 6.00 – 18.00 น.
ทั้งนี้ผู้เข้าวัดต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของทางวัดอย่างเคร่งครัด และต้องสำรวมกิริยา วาจา แต่งกายสุภาพ ผู้หญิงไม่ควรนุ่งสั้น หรือใส่เสื้อแขนกุด และต้องไม่ยืนถ่ายรูปพระพุทธชินราชในพระวิหาร หากต้องการใช้ขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า
ภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายให้สักการะบูชา นำโดย “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญแห่งสยามประเทศ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก ที่ว่ากันว่าถ้าหากใครมาเที่ยวเมืองสองแควแล้วไม่ได้สักการะองค์พระพุทธชินราชก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงเมืองนี้โดยสมบูรณ์
พระพุทธชินราช หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ส่วนซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงามคาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ซึ่งด้วยพุทธลักษณะอันงดงามโดดเด่น พระพุทธชินราชจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประติมากรรมพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย
นอกจากนี้ก็ยังมี พระพุทธชินสีห์, พระศรีศาสดา, พระเหลือ, พระพุทธรูปปาง,พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน (อันซีนไทยแลนด์), พระอัฏฐารส (พระยืนกลางแจ้ง), หลวงพ่อดำ (พระกินเณร), พระบรมสารีริกธาตุ (ในพระเจดีย์หลังวิหาร)
และล่าสุดคือองค์ท้าวเวสสุวรรณหนึ่งเดียวในไทย (ที่ข้างซ้ายองค์พระพุทธชินราช) ที่แม้มีการสร้างมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ว่าคนไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไหร่ ก่อนที่ทางวัดจะเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจเข้าสักการะหลังกระแสท้าวเวสสุวรรณที่มาแรงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับท้าวเวสสุวรรณ แม้จะมีรูปลักษณะภาพจำเป็นยักษ์ถือกระบองน่าเกรงขาม แต่ตามความเชื่อ ท่านเป็นเจ้าแห่งยักษ์ เป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลาย
ท้าวเวสสุวรรณ (หรือท้าวกุเวร) เป็น 1 ใน 4 ของ ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่รักษาทิศทั้ง 4 ในสวรรค์ชั้นแรกบนสวรรค์ทั้ง 7 ชั้น โดยท่านเป็นเทพประจำทิศเหนือ ผู้ปกครองโลกด้านทิศเหนือ คอยผู้ปกปักรักษาดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ขณะที่อีก 3 เทพของท้าวจตุโลกบาล ได้แก่ “พระอินทร์” (ท้าวธตรฐ) ปกครองโลกด้านทิศตะวันออก , “พระยม” (ท้าววิรุฬหก) ปกครองโลกด้านทิศใต้ และ “พระวรุณ” (ท้าววิรูปักษ์) ปกครองโลกด้านทิศตะวันตก
เชื่อกันว่าท้าวเวสสุวรรณ เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ที่คอยปกปักรักษาป้องกันสิ่งชั่วร้าย ภยันอันตาย รวมถึงเชื่อว่าท่านเป็นเทพแห่งความมั่งคั่ง และยังคอยช่วยเหลือเทพองค์อื่น ๆ ในการทำภารกิจต่าง ๆ ให้ลุล่วงสำเร็จ
ในบ้านเรามีความเชื่อเรื่องการสร้างท้าวเวสสุวรรณในวัดวาอารามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาช้านานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่วัดพระแก้ว วัดอรุณ วัดจุฬามณี วัดป่าภูก้อน เป็นต้น ซึ่งหลังจากเกิดกระแสท้าวเวสสุวรรณโด่งดังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีประชาขนผู้มีจิตศรัทธาเดินทางไปสักการะท้าวเวสสุวรรณตามวัดต่าง ๆ กันเป็นจำนวนมาก