“เมืองสองแคว” เป็นเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ มีองค์พระพุทธชินราชอันสวยงามศักดิ์สิทธิ์ มีทั้ง วัดเก่าแก่ โบราณสถาน อย่างเช่นที่ “วัดจุฬามณี” ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของเมืองพิษณุโลก ที่สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย
“วัดจุฬามณี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ตามถนนบรมไตรโลก-นารถ ระยะทาง 5 กิโลเมตร โบราณสถานเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย และยังเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควโบราณก่อนจะมาเป็นเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป
บริเวณโดยรอบของวัดนี้มี “กำแพงแก้ว” ขนาดกว้าง 49 เมตรยาว 113 เมตร สูง 1.6 เมตร ก่อด้วยอิฐสร้างล้อมศาสนสถานทั้งหมด โดยภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญน่าชม คือ “ปรางค์ประธาน” ตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
องค์ "ปรางค์ประธาน" ของวัดมีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุม มีมุมต่อยื่นออกไป จากปรางค์ประธานย่อมุมเช่นเดียวกับส่วนฐานมีขนาด 14.50 x 18.50 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ทรงอิทธิพลแบบขอมที่มีมุข สันบันไดประตูหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนยอดพระปรางค์ชำรุดหักไป ตัวองค์ประกอบที่ภายนอกประดับปูนและมีลายปูนปั้นตามคติโลกภูมิชั้นฐานไพที มียักษ์ภูต สูงขึ้นไปมีลายหงส์คาบสร้อยดอกไม้รอบองค์ปรางค์ ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามขั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ มีลักษณะเดียวกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
และมี “วิหาร” ตั้งอยู่ในกำแพงทิศตะวันออกของปรางค์ประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดกว้าง 8.9 เมตรยาว 27.56 เมตร ก่อด้วยอิฐและยังมีแนวผนัง ด้านหลังและผนังทิศใต้ สูง 3.75 เมตร วิหารแต่ละห้องเจาะเป็นช่องช่องเพื่อให้แสงผ่านเข้าได้ลักษณะศิลปะอยุธยาตอนต้น ตอนกลางเช่นวัดนางพญา และหลักฐานพระราชพงศาวดารระบุว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ให้สร้างพระวิหาร วัดจุฬามณี ในปีพ.ศ. 2203 และมีการสร้างวิหารใหม่ทับลงไปในปีพ.ศ. 2495
หากใครที่มาเยือนวัดแห่งนี้แล้วจะต้องไม่พลาดมากราบไหว้ขอพร “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางขัดสมาธิเพชรบนฐานรองรับองค์ เดิมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งศรีสัชนาลัย ทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีแห่งนี้ และเป็นผู้สร้างหลวงพ่อเพชรไว้ ต่อมาหลวงพ่อเพชรได้ชำรุด อดีตเจ้าอาวาสจึงนำปูนมาพอกไว้ หลังจากปูนหลุดกะเทาะออกมาจึงเห็นว่าพระพักตร์ชำรุด พระกรหัก ประชาชนจึงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อขึ้นมาใหม่ ทำให้พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชรคล้ายศิลปะเชียงแสน และได้มีการนำเพชรมาประดับที่พระเนตรและเม็ดพระศก ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” แต่เพชรได้ถูกขโมยไปปัจจุบันประชาชนจึงได้ช่วยกันอนุรักษ์องค์หลวงพ่อไว้ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ใกล้กันมี “มณฑป” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ลักษณะทรงสี่เหลี่ยม ขนาดฐาน 12.30 น มณฑปมีขนาดกว้าง 5.30 เมตร มีเสาอยู่ด้านใน 12 ต้น รองรับหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง
ด้านในมีฐานพระพุทธบาทมีมุขด้านหน้ายื่นออกมา แสดงถึงการรับซุ้มหน้าบันและหลังคา ซึ่งน่าจะลดหลั่นกันอย่างน้อย 2 ชั้น ด้านหลังมีซุ้มเล็ก ส่วนบนหน้าบานลด 2 ชั้น ประดิษฐานศิลาจารึกลักษณะรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมอาคารและมุขเป็นลักษณะศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีประวัติฯ การสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้สร้างขึ้น โดยด้านหลังมณฑปมีหลักศิลาจารึก เขียนเรื่องประวัติฯ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ครองเมืองพิษณุโลก เรื่องกำเนิดรอยพุทธบาท เรื่องการสาปแช่งในการห้ามเคลื่อนย้ายหรือห้ามทำลายเมืองที่มีพุทธศาสนา
ถัดไปจะพบกับ “อุโบสถหลังเก่า” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของปรางค์ในเขตกำแพงแก้ว ฐานขนาดกว้าง 9.3 เมตร ยาว 17.20 เมตร ส่วนผนังพังทลายไปแล้วเหลือเฉพาะส่วนพื้น ภายในมี “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่ ซึ่งในสมัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอัญเชิญหลวงพ่อขาวมาจากมูลดินอินทรารามในค่ายทหาร และมีใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่โดยรอบ 8 ทิศ ปักในลักษณะใบเสมาคู่
นอกจากนี้ภายในวัดจุฬามณียังมี “พระวิหารเก่า” เป็นอาคารแบบทรงโรง ศิลปะสมัยอยุธยาลักษณะคล้ายพระอุโบสถของวัดราชบูรณะ และมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์อยู่ภายในวัดจุฬามณี อย่างเช่น “หลวงพ่อคง” พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย องค์สีเหลือง ศิลปะสุโขทัย ที่ประดิษฐานเดิมปรักหักพัง ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันสร้างพระวิหารหลังเล็กขึ้นมาใหม่เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อคง ด้านขวาขององค์หลวงพ่อคงมีหลวงพ่อดำที่อัญเชิญมาจากจากวัดจูงนาง
สำหรับ “หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นเนื้อสีดำ ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา ตามประวัติชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อดำมาทางเรือจากวัดจูงนาง เดิมหลวงพ่อดำมีสภาพชำรุด ต่อมาครูทิว บูรณเขต เป็นผู้บูรณะ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลังเล็กเช่นเดียวกับหลวงพ่อคง
นอกจากนี้ยังมี “อุโบสถ์หลังใหม่” ทรงจัตุรมุขที่หน้าจั่ว ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรพุทธศิลป์ที่อ่อนช้อยแบบสุโขทัย แต่ปางขัดสมาธิเพชร มีใบเสมาบนฐานที่มียักษ์แบก กำแพงแก้วมีนางฟ้าเทวดาพนมล้อมอุโบสถ์ บริเวณซุ้มประตูที่บูรณะมีลายไทย ทุกทางเข้ามีพระอินทร์ที่ดูแลชั้นจุฬามณีตามชื่อ สวรรค์ชั้นสูงสุด ทุกซุ้มที่ทำใหม่โดยนำลายเดิมจากองค์ปรางค์มาสร้าง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline