xs
xsm
sm
md
lg

“เขาช้างเผือก” โมเดล...ความร่วมมือรัฐ-ชุมชน ลมหายใจแห่ง “บ้านอีต่อง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


เขาช้างเผือก แหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ ที่เป็นดังลมหายใจแห่งบ้านอีต่อง (ภาพ : อช.ทองผาภูมิ)
“เขาช้างเผือก” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองกาญจน์ วันนี้นอกจากจะเป็นต้นแบบของการจัดการทริปเดินป่าระยะสั้นที่เกิดจากความมือกันระหว่างภาครัฐ-ชุมชนแล้ว ที่นี่ยังเป็นดังลมหายใจทางการท่องเที่ยวของหมู่ “บ้านอีต่อง” อีกด้วย

...ฤดูหนาวมาเยือนคราใด แหล่งท่องเที่ยวประเภทขุนเขาป่าไพร ที่ได้พักฟื้นเติมพลังในช่วงฤดูฝน พลันกลับมาคึกคักพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

หนึ่งในนั้นก็คือ “เขาช้างเผือก” จ.กาญจนบุรี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ที่นอกจากจะขึ้นชื่อในเรื่องมนต์เสน่ห์ความงาม และความโหดหิน (พอสมควร) ของการเดินป่าไต่เขาขึ้นไปพิชิตยอดเขาแล้ว เขาช้างเผือกวันนี้ ยังเป็นหนึ่งในขุนเขาต้นแบบของทริปเดินป่าระยะสั้นในบ้านเรา หรือ “เขาช้างเผือกโมเดล” ที่ทางภาครัฐคือ อช.ทองผาภูมิ และชาวบ้านในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านอีต่องได้ไม่น้อยเลย

ไต่ระทึกสันคมมีด พิชิตยอดเขาช้างเผือก


ไฮไลท์เส้นทางเดินผ่านสันคมมีดสู่จุดกางเต็นท์
เขาช้างเผือก ตั้งอยู่ในพื้นที่“อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ” จ.กาญจนบุรี เป็นภูเขาสูงใหญ่ มียอดสูงสุด 1,249 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น และวิวทิวทัศน์บนยอดเขาที่สวยงาม อีกทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องของการเดินทางขึ้นไปพิชิตยอดเขาที่ไม่ธรรมดา ทำให้เขาช้างเผือกเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว เดินป่าพิชิตขุนเขา (ทริประยะสั้น) ในอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

สำหรับเส้นทางเดินป่าพิชิตยอดเขาช้างเผือก มีระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 4-6 ชั่วโมง โดยเริ่มต้นออกเดินจาก “บ้านอีต่อง” สู่ยอดเขาช้างเผือก เพื่อขึ้นไปพักค้างคืนแบบกางเต็นท์บนแนวยอดเขา ในกำหนดเวลา 2 วัน 1 คืน (ตามข้อกำหนดของทางอุทยานฯ)

เขาช้างเผือกกับแนวสันเขาอันเป็นเอกลักษณ์
เส้นทางเดินเท้าสายนี้จะผ่านป่าโปร่ง ท้องทุ่งหญ้า และทางเดินตามแนวสันเขาที่ต่อเนื่องกัน บางช่วงต้องเดินขึ้นเขาสูงชันเกือบ 50 องศา บางช่วงเป็นทางเดินก้อนหินแหลม บางช่วงก็ต้องไต่เชือกเพื่อช่วยยึดพยุงตัว

ระหว่างทางเดินขึ้นเขา จะมีจุดพักเหนื่อยต่าง ๆ อาทิ ดงส้าน ดงไผ่ หุบกระเหรี่ยง เขาชะมด หุบคะเนียง เขาช้างน้อย เป็นต้น รวมถึงมีเส้นทางเดินไฮไลท์ที่เรียกว่า “สันคมมีด” ที่เป็นแนวสันเขาแคบ ๆ (กว้างประมาณ 1 เมตร) ไล่ระดับความชันขึ้นไปสู่ยอดเขาสูง

นักท่องเที่ยวที่เดินผ่านช่วงสันคมมีด ส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หวาดเสียว” แต่ว่าเมื่อเดินผ่านมาได้ต่างก็ประทับใจไปตาม ๆ กัน กับวิวทิวทัศน์ที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะภาพของแนวขุนเขาสูงใหญ่ที่ทอดตัวยาวตระหง่านเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งล้วนต่างเป็นยอดปรารถนาของนักท่องเที่ยวที่ลุยเดินขึ้นมาพิชิตยอดเขาช้างเผือกแห่งนี้

บ้านอีต่อง
“บ้านอีต่อง” ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา

สำหรับ “บ้านอีต่อง” ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี (จุดเริ่มต้นของการออกเดินเท้าขึ้นไปพิชิตยอดเขาช้างเผือก) ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอทองผาภูมิราว 60 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ “เหมืองปิล๊อก” เหมืองแร่ชื่อดังในอดีต

ปัจจุบันบ้านอีต่องเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอันโดดเด่นของจังหวัดกาญจนบุรี กับบรรยากาศหมู่บ้านเล็กกลางขุนเขาโอบล้อม และตำนานเหมืองปิล๊อกอันลือลั่น

เส้นทางสู่ (อดีต) เหมืองปิล๊อก
วันนี้แม้หน้าตาของบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ที่บ้านอีต่องจะดูเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก แต่หมู่บ้านแห่งนี้ ก็ยังคงความเรียบง่ายและมีเสน่ห์แอบแฝงอยู่

นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวบ้านอีต่องกันในช่วงฤดูหนาวปลายปี ที่มีอากาศหนาวเย็น มีวิวทิวทัศน์สวยงาม มีบ้านเรือนริมน้ำอันทรงเสน่ห์ ให้ผู้สนใจไปพักค้างนอนโฮมสเตย์ หรือไปแวะเที่ยวชมบรรยากาศ เดินเล่น ถ่ายรูป ช้อปปิ้ง กินอาหาร นั่งร้านกาแฟ เป็นต้น

บ้านอีต่อง
เขาช้างเผือก ลมหายใจแห่งบ้านอีต่อง

บ้านอีต่องจะมีความคึกคักเป็นพิเศษในช่วงเปิดฤดูเที่ยวเขาช้างเผือก จากนักท่องเที่ยวที่ต่างก็มุ่งหน้ามาเพื่อขึ้นไปเป็นผู้พิชิตยอดเขาช้างเผือกแห่งนี้

ทุกวันที่ในช่วงฤดูขึ้นเขาช้างเผือก จะมีรถยนต์และคนเดินทางเข้ามายังบ้านอีต่องทุกวัน (อย่างต่ำก็ ตามจำนวนจำกัดของนักท่องเที่ยวที่มาขึ้นเขาในวันนั้น)

ขณะที่บางคนก็เลือกเดินทางมาเที่ยวและพักตามโฮมสเตย์ก่อนเพื่อเตรียมตัวขึ้นเขาช้างเผือกในวันรุ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ลูกหาบขึ้นเขาช้างเผือก แห่งบ้านอีต่อง
นอกจากนี้เหล่าบรรดา “ลูกหาบ” ชาวบ้านอีต่อง ถือเป็นผู้รับอานิสงส์โดยตรงจากฤดูเปิดเขาช้างเผือก เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องมาใช้บริการแบกสัมภาระขึ้นเขาทุกวัน

ด้วยเหตุนี้ลูกหาบเขาช้างเผือก จึงมีการตั้งชมรมขึ้นมา มีกระบวนการจัดการกันเอง (โดยทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว) มีคนมาเป็นสมาชิกชมรมราว 50 คน พร้อมคิดค่าบริการตามข้อกำหนดของปีนั้น ๆ

ไต่เชือกขึ้นสู่เส้นทางเดินสันคมมีด
การขึ้นเขาช้างเผือกแต่ละวันจะใช้ลูกหาบประมาณ 10 คน เมื่อมีคนมาขึ้นทุกวัน ลูกหาบก็มีรายได้ทุกวัน มีเงินเข้าบ้านอีต่องเฉพาะค่าลูกหาบรวมแล้ววันละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท

นี่ยังไม่นับพวกรายได้จากที่พัก การกิน ดื่ม และการจับจ่ายใช้สอยอื่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวมากระจายรายได้ให้กับบ้านอีต่องแห่งนี้

นับได้ว่าเขาช้างเผือกเป็นหนึ่งในลมหายใจด้านการท่องเที่ยวของบ้านอีต่องที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไม่น้อยเลย


จุดกางเต็นท์บนยอดเขา ไม่มีทั้งน้ำดื่มและน้ำอาบ
“ดุล”ลูกหาบแห่งบ้านอีต่อง เล่าว่า บ้านอีต่อง ถ้าไม่มีการท่องเที่ยวและเขาช้างเผือก คนในหมู่บ้านแทบไม่มีรายได้อะไรเลย ไม่มีเหมืองให้ทำ ไม่มีงานก่อสร้าง ทุกวันนี้อีต่องอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยว ซึ่งก็จะมีคนมากแค่ช่วงเทศกาล แต่ในช่วงโควิด-19 บ้านอีต่องแทบไม่มีคนมาเที่ยว แต่ยังดีที่มีเขาช้างเผือก ทำให้แต่ละปีลูกหาบมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

“เฉพาะช่วงที่อุทยานฯ เปิดให้เที่ยวเขาช้างเผือกสองเดือน ลูกหาบบางคนมีรายได้ถึง 3-4 หมื่นบาทเลยก็มี ยิ่งถ้าเปิดได้นานกว่านี้ หรือมีที่เที่ยวอื่น ๆ ให้มากกว่านี้ มันก็ดียิ่งขึ้น” ดุลกล่าว

เขาช้างเผือกโมเดล ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชน


เส้นทางเดินผ่านแนวสันเขาสู่ยอดเขาช้างเผือก
เขาช้างเผือกไม่ใช่เพิ่งมาโด่งดังในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ แต่ที่นี่ได้รับความนิยมจากนักเดินป่า นักนิยมไพร มานานนับสิบปีแล้ว แต่สมัยก่อนไม่ได้มีการจัดระเบียบและระบบการบริหารจัดการดังในปัจจุบัน

ในอดีตจึงมีบริษัททัวร์แกมโกงบางที่ เหมาไปจองสิทธิ์มาก่อนจนเต็มแล้วมาปล่อยขายในราคาสูง เป็นการการตัดสิทธิ์คนอื่น จนกลายเป็นข่าวมีการร้องเรียนไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ดูแลเขาช้างเผือก

เจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
กระทั่ง “เจริญ ใจชน” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้เข้ามาจัดระบบทริปการขึ้นเขาช้างเผือกจนเข้าที่เข้าทาง (ดังในปัจจุบัน) โดยเปิดให้จองผ่านทางออนไลน์เท่านั้น และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในการขึ้นแต่ละวัน

ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การดูแลนักท่องเที่ยวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จำนวนลูกหาบ และมีความเหมาะสมต่อสภาพธรรมชาติของพื้นที่บนยอดเขาที่ “ไม่มีน้ำ” คณะนักท่องเที่ยวต้องแบก “น้ำดื่ม” ขึ้นไปเอง ส่วน “น้ำอาบ” นั้นไม่มี (จึงเป็นข้อกำหนดของการพักค้างเพียง 1 คืนเท่านั้น)

จุดกางเต็นท์บนแนวสันเขา
หัวหน้าฯ เจริญ เล่าว่า แต่เดิมชาวบ้านแถวนี้ก็เข้าป่าล่าสัตว์ บ้างลักลอบตัดไม้ เพราะเขาไม่มีอาชีพ แต่พอเขาช้างเผือกเริ่มมีคนมาเที่ยว หลายคนก็มาเป็นลูกหาบ แต่ระบบยังเป็นแบบใคสาวได้สาวเอา มันก็เลยไม่เป็นระบบ ทางอุทยานฯจึงเข้ามาพูดคุย ชี้แจง ทำความเข้าใจกันก่อน มากำหนดกฎระเบียบร่วมกัน ทั้งทางอุทยานฯ ผู้นำชุมชน และลูกหาบ ว่าเราจะทำหรือไม่ ทำอะไรบ้าง ก็มาปรับมาจูนกัน

“ก่อนการเปิดให้ท่องเที่ยวเขาช้างเผือกในแต่ละปี ก็จะมีการมาประชุมร่วมกัน เปิดใจกันว่าใครคับข้องเรื่องอะไรจะเสนออะไรก็มาพูดคุยกัน แล้วก็จะขึ้นไปตรวจพื้นที่ก่อนเปิดฤดูการท่องเที่ยวทุกปี ซึ่งทั้งอุทยานฯและชาวบ้านต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการดูแลและบริการนักท่องเที่ยว”

หัวหน้าฯ เจริญ อธิบาย พร้อมเล่าต่อว่า เดี๋ยวนี้ลูกหาบและชาวบ้านก็เข้าใจแล้วว่า การมีเขาช้างเผือกในหมู่บ้านเขา มันทำเงิน สร้างรายได้ให้ชุมชนเขาได้ ชุมชนก็ช่วยเราดูแลป่า รักษาป่า เป็นหูเป็นตาให้ เมื่อมีไฟป่า ก็ช่วยดู ช่วยดับ เพราะไม่มีใครอยากมาเดินป่าที่ถูกไฟเผา วันนี้ต้องถือว่าพวกเขาต่าง “เข้าใจ

ยามเช้าบนยอดเขาช้างเผือก
“เหตุที่ อุทยานฯทองผาภูมิ เปิดให้ขึ้นเที่ยวทุกฤดูกาลแค่สองเดือน เพราะข้างบนมันเป็นทุ่งหญ้า ถ้าเลยจากมกราคมไปแล้ว เสี่ยงกับไฟป่ามาก ซึ่งถ้ามันมีไฟป่า จะอันตรายมาก แต่ต่อไปทางอุทยานฯ ก็อาจจะพิจารณาให้คนขึ้นถึง 80 คนในการขึ้นแต่ละวันก็ได้ หรืออาจจะพิจารณา หาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้ชุมชน เพื่อเป็นการดึงนักท่องเที่ยว”

สำหรับเขาเขาช้างเผือก ทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวภูเขาสูงที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามทั่ว ๆ ไป ซึ่งชาวบ้านเห็นกันอยู่ทุกวันจนชินตา

แต่ว่าเขาช้างเผือก สำหรับชาวบ้านอีต่องส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นดังลมหายใจทางการท่องเที่ยวของหมู่บ้านแห่งนี้ก็ว่าได้


เขาช้างเผือก เป็นดังลมหายใจทางการท่องเที่ยวของบ้านอีต่อง
####################################


หมายเหตุ : ฤดูกาลขึ้นเขาช้างเผือกปี 64-65 จะเริ่มเร็ว ๆ นี้ โดยทาง “อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ” จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ สามารถติดตามได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ - Thongphaphum National Park

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น