หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง หลายคนเริ่มที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้จะขอพาไปเที่ยวที่ “วนอุทยานเขานางพันธุรัต” จ.เพชรบุรี หนึ่งใน 25 UNSEEN New Series ของเมืองไทยที่ไม่ควรพลาด
“วนอุทยานเขานางพันธุรัต” มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน มีลักษณะทางภูมิทัศน์เป็นปฏิมากรรมทางธรรมชาติ มีลักษณะสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ มองดูคล้ายเหมือนคนนอนหงายอยู่
โดยชื่อของวนอุทยานแห่งนี้ มาจากชื่อของ “เทือกเขานางพันธุรัต” ที่มีที่มาของชื่อมาจากวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง” ในตอนที่พระสังข์หลบหนีนางพันธุรัตจนเป็นเหตุให้นางต้องอกแตกตาย เพราะความรักในตัวพระสังข์
ซึ่งเชื่อกันว่าลักษณะการนอนตายของนางพันธุรัตคล้ายกับลักษณะของเทือกเขาแห่งนี้ โดยหากใช้จินตนาการในการมองจากระยะไกลจะเห็นเทือกเขาคล้ายนางพันธุรัตนอนหงายอยู่ มีศีรษะอยู่ทางทิศใต้ จึงเป็นที่มาของชื่อ "เทือกเขานางพันธุรัต" ซึ่งบางครั้งชาวบ้านพากันเรียกว่า "เขานางนอน" นั่นเอง
และไม่ใช่เพียงชื่อของเทือกเขาเท่านั้น ที่มีเรื่องราวเกี่ยววรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ภายในเขตวนอุทยานพันธุรัตยังมีอีกหลายจุดที่มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องนี้อีกด้วย โดยได้จัดเป็น “เส้นทางศึกษาธรรมชาติวนอุทยานเขานางพันธุรัต” เริ่มจาก
“ช่องกระจกนางพันธุรัต” มีลักษณะเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ กว้าง 1.5 เมตร สูง 4 เมตร จากจุดนี้สามารถเดินลอดช่องกระจกไปพบกับจุดชมวิว ซึ่งจะมองเห็นเส้นทางภายในวนอุทยานฯ และทุ่งนาของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงได้
โดยช่องกระจกนางพันธุรัตนี้ ถือเป็นจุดไฮไลต์คู่วนอุทยานพันธุรัต ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยกให้เป็น 1 ใน 25 UNSEEN New Series ประจำปี 2564 ที่ทุกคนไม่ควรพลาด
ไม่ไกลจากช่องกระจกนางพันธุรัต จะมี “เมรุนางพันธุรัต” ตั้งอยู่ โดย “เมรุนางพันธุรัต” ตั้งตามลักษณะเขาหินปูนที่มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายระมิดสามเหลี่ยม มองดูคล้ายเมรุเผาศพของคนสมัยโบราณ
ซึ่งหากเชื่อมกับวรรณคดีเรื่องสังข์ทองที่ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่นางพันธุรัตอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาจากยอดเขาเพื่อกลับไปอยู่กับตนนั้น แต่พระสังข์ไม่ยอมกลับนางพันธุรัตเสียใจถึงอกแตกตายจึงได้จัดการทำศพนางพันธุรัตที่นี่ จึงตั้งชื่อว่า "เมรุนางพันธุรัต" นั่นเอง
และใกล้กับบริเวณเมรุ ได้มีการตั้ง “ศาลแม่นางพันธุรัต” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั่วไปอีกด้วย
จากนั้นตามรอยพระสังข์กันต่อยังจุดต่อมาคือที่ "บ่อชุบตัวพระสังข์" โดยในบริเวณนี้มีลักษณะคล้ายกับเป็นหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณหนึ่งสนามฟุตบอล ลึกลงไปหลายสิบเมตร เบื้องหน้าคือแนวผาหินล้อมรอบหลุม ส่วนเบื้องล่างเขียวชอุ่มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด
จุดนี้ตามตำนานเล่าว่าพระสังข์ได้แอบเข้าไปในเขตหวงห้าม และได้พบบ่อทองพร้อมกับชุดเจ้าเงาะ จากนั้นเมื่อนางพันธุรัตออกไปหาอาหารกิน พระสังข์จึงย่องเข้าไปยังบ่อชุบตัวและได้ลงชุบตัวในบ่อทองจนร่างกายเป็นสีทอง แล้วจึงกลับมาเอารูปเงาะ เกือกแก้ว และไม้เท้าเพื่อหนีไป
จากบ่อชุบตัวพระสังข์ จะเดินผ่าน “ลานเกือกแก้ว” เป็นลานกว้างประมาณ 3 ไร่ โดยสาเหตุที่เรียกว่าลานเกือกแก้ว เพราะพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะคล้ายกับรองเท้าผู้หญิง และยังตรงกับตำนานที่เล่าว่า หลังจากที่พระสังข์ชุบตัวและหนีนางพันธุรัตมา ได้แวะสวมเกือกแก้วที่บริเวณนี้อีกด้วย
เมื่อเดินผ่านลานเกือกแก้วจะขึ้นไปยัง “จุดชมวิวคอกช้าง” ที่ในอดีตด้านล่างบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามาก่อน จึงเป็นที่มาของชื่อจุดชมวิวนี้ ที่นี่สามารถมองเห็นวิวระยะไกลแบบ 180 องศา ได้ถึงเขาวังเลยทีเดียว
ซึ่งในจุดนี้ยังสอดคล้องกับเรื่องสังข์ทองที่ว่า เมื่อนางพันธุรัตได้ออกล่าสัตว์มาเป็นอาหารอย่างสนุกสนาน ช้างป่าที่อาศัยบริเวณนี้จึงตกเป็นอาหารของนางนั่นเอง
นอกจากจุดชมวิวคอกช้างแล้วยังมี “จุดชมวิวทุ่งเศรษฐี” ที่เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามของ จ.เพชรบุรี และยังสามารถมองเห็นวิวของหาดชะอำได้อีกด้วย โดยเวลาที่เหมาะจะรอชมพระอาทิตย์ขึ้นคือ ประมาณ 06.00-06.30 น.
ส่วนใครที่อยากมานอนกางเต็นท์ชมบรรยากาศสุดชิลเย็นสบาย ภายในวนอุทยานฯ ก็ได้มีจัดเตรียมสถานที่ “ลานกางเต็นท์” ให้นักท่องเที่ยวได้นอกพักแรมกันได้อีกด้วย โดยอยู่ไม่ไกลจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและร้านค้าสวัสดิการ และทางวนอุทยานฯ ยังเพิ่มสีสันของพื้นถนนบริเวณใกล้ลานกางเต็นท์ให้เป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่ไม่ควรพลาดอีกด้วย
หากอยากมาตามรอยตำนานของวรรณคดีเรื่องสังข์ทองกัน “เทือกเขานางพันธุรัต” แห่งนี้ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเที่ยวชมแล้ว โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการเข้าท่องเที่ยวภายในวนอุทยานฯ ได้ที่เฟซบุ๊กเพจวนอุทยานเขานางพันธุรัต หรือโทร. 09-5761-0906
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline