เป็นข่าวเศร้าสำหรับหลายๆ คน เมื่อโรงภาพยนตร์สกาลา โรงภาพยนตร์ที่มีความงดงามของสถาปัตยกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ได้ถูกทุบทำลายไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ผู้ชนะประมูล ได้เข้ามาพัฒนาบริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมจากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับโรงภาพยนตร์สกาลานั้น ถือเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่อยู่คู่กับสยามสแควร์มากว่า 50 ปี มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่งดงามแบบ Art Deco เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสาน จนได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ.2555
และหลังจากที่ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ตัดสินใจยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ โรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็ได้ทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายของมัน โดยได้ร่วมกับหอภาพยนตร์จัดกิจกรรม Final Touch of Memory ‘La Scala ลาสกาลา’ ฉายเรื่อง Cinema Paradiso ที่กำกับโดยจูเซปเป ทอร์นาทอเร เป็นโปรแกรมปิดท้ายเมื่อเดือน ก.ค. 2563
ก่อนจะปิดตำนานไปอย่างแท้จริงด้วยการถูกทุบทิ้งเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวว่าทาง CPN จะสร้างสกาลาขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม แต่เชื่อว่าจิตวิญญาณแบบเดิมอาจไม่เหลืออยู่
แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับวงการภาพยนตร์ วงการสถาปัตยกรรม รวมถึงหลายๆ คนที่มีประวัติศาสตร์ความทรงจำอันน่าประทับใจกับโรงหนังแห่งนี้ แต่เราก็ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้อีกแล้ว อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังทำให้นึกถึงโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนระดับตำนานอีกหลายๆ แห่งในไทย ที่บ้างก็ยังคงใช้งานอยู่ แต่บ้างก็ถูกรื้อทำลาย หรือถูกทิ้งร้าง ที่เรายังคงสามารถไปเที่ยวชมรำลึกถึงอดีตกันได้
"ศาลาเฉลิมกรุง"
หากพูดถึงโรงภาพยนตร์แห่งแรกๆ ของเมืองไทย ต้องนึกถึง "ศาลาเฉลิมกรุง" บนถนนเจริญกรุง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โรงมหรสพที่รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างเป็นโรงมหรสพที่ทันสมัย และพระราชทานนามเป็นที่ระลึกว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2473
ตัวอาคารศาลาเฉลิมกรุงออกแบบโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ในสไตล์ Contemporary Architecture มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงตระหง่านมั่นคงตามแบบตะวันตก มีความโดดเด่นตรงที่เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ มีระบบปิดเปิดม่านอัตโนมัติ ไม่มีเสาบังตา มีระบบไฟแสงสีทันสมัย โดยได้เปิดฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่อง "มหาภัยใต้ทะเล" เป็นภาพยนตร์ปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2476 และกลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงที่หนุ่มสาวสมัยนั้นต่างอยากมาสัมผัส
แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับโรงมหรสพอีกหลายๆ แห่งในเมืองไทย ที่เมื่อรูปแบบความบันเทิงเปลี่ยนแปลงไป โรงภาพยนตร์ทันสมัยเกิดขึ้นมากมาย จนกลายมาเป็นโรงหนังควบคู่ศูนย์การค้า และเมื่อภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ผู้คนสามารถรับชมได้ที่บ้านด้วยเครื่องเล่นวิดิโอ โรงมหรสพแห่งนี้จึงเงียบเหงาไปและเปิดให้บริการถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2535 เป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะยุติการแสดงไว้ชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ จากนั้นจึงเปิดให้บริการอีกครั้งจนปัจจุบัน โดยเปลี่ยนบทบาทใหม่ เน้นการแสดงนาฏศิลป์โขนจินตนฤมิต
"ศาลาเฉลิมไทย"
"ศาลาเฉลิมไทย" เป็นโรงมหรสพและโรงภาพยนตร์ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย หรือบริเวณด้านหน้าโลหะปราสาทวัดราชนัดดา สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2483 ตามดำริของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโรงละครแห่งชาติ เริ่มใช้แสดงละครเวทีมาจน พ.ศ.2496 จากนั้นจึงได้เปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์
ตัวอาคารศาลาเฉลิมไทยอาคารก่อสร้างขึ้นด้วยรูปทรงโมเดิร์นตามแบบตะวันตกไม่มีหลังคา คล้ายคลึงกับศาลาเฉลิมกรุง อาคารได้รับการออกแบบโดยจิตรเสน อภัยวงศ์ ที่จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส และตกแต่งภายในโดยศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา
ศาลาเฉลิมไทยในขณะนั้นเป็นแหล่งบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นของโรงหนังไทยที่มีการขายข้าวโพดคั่วแบบอเมริกัน ขณะที่บริเวณรอบๆ เต็มไปด้วยของค้าของขายจำพวกอาหารกินเล่น รวมไปถึงแผงหนังสือ
แต่ปัจจุบันไม่มีศาลาเฉลิมไทยอีกแล้ว เพราะใน พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย เนื่องจากบดบังทัศนียภาพของวัดราชนัดดารามวรวิหารและโลหะปราสาท ซึ่งเป็นวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ของศาลาเฉลิมไทยได้กลายมาเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และมองเห็นโลหะปราสาทได้อย่างแจ่มชัด
"ศาลาเฉลิมธานี"
โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี เป็นอีกหนึ่งโรงหนังที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ตั้งอยู่บนถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2461 โดยบริษัทภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อแรกเปิดกิจการใช้ชื่อว่า "โรงหนังนางเลิ้ง" ต่อมาในปี พ.ศ.2475 บริษัทสหศีนิมา จำกัด ซึ่งเป็นเป็นบริษัทค้าภาพยนตร์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เข้ามาดำเนินกิจการ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อโรงหนังนางเลิ้งเป็น "ศาลาเฉลิมธานี" และได้ดำเนินการฉายภาพยนตร์มาอย่างต่อเนื่อง
ศาลาเฉลิมธานี ดำเนินกิจการเรื่อยมาจนกระทั่งถึง พ.ศ.2536 จึงได้ปิดกิจการลงเนื่องจากภาวะซบเซาของภาพยนตร์ไทย ถือเป็นอันสิ้นสุดแหล่งบันเทิงเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่ได้ให้ความบันเทิงแก่ประชาชนมาถึง 75 ปี
ปัจจุบันเรายังคงสามารถไปชมอาคารภายนอกของโรงภาพยนตร์เฉลิมธานีได้ โดยมีที่ตั้งอยู่ด้านหลังตลาดนางเลิ้ง ตัวอาคารโรงหนังยังคงสภาพเป็นอาคารโครงสร้างไม้ ซึ่งเป็นลักษณะของโรงภาพยนตร์มาตรฐานสมัยรัชกาลที่ 6 ผนังชั้นล่างและห้องฉายภาพยนตร์ชั้นบนเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ผนังชั้นบนเป็นผนังไม้ตีตามนอน ประตูและหน้าต่างเป็นไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นไม้มุงด้วยสังกะสี ฝ้าเพดานเป็นกระดานอัด วัสดุป้องกันเสียงสะท้อนใช้ลังกระดาษสำหรับวางไข่บุผนังด้านในของโรงภาพยนตร์ เก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ทั้งหมดถูกถอดออก สภาพของอาคารโดยทั่วไปอยู่ในสภาพทรุดโทรม บริษัทเอกชนได้เช่าทำเป็นโกดังเก็บของ
"วิกครูทวี"
ใครที่เคยไปเดินเล่นที่ตลาดเก่าโพธาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ คงได้ชมบรรยากาศความคลาสสิกที่ยังคงอยู่จนปัจจุบัน โดยตลาดเก่าแบ่งออกเป็นตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง โดยหากได้มาเดินที่ตลาดบน บริเวณนี้จะยังคงเห็นเรือนไม้แถวเก่าแก่อยู่หลายหลัง อาทิ บ้านแม่เลขา ที่ตั้งของชมรม "อย่าลืมโพธาราม" แถมยังมีคาเฟ่และร้านค้าเล็กๆ ให้เข้าไปนั่งเล่นกัน
และที่สำคัญคือย่านตลาดบนยังเป็นที่ตั้งของ "วิกครูทวี" โรงหนังเก่าแก่ในโพธาราม ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เริ่มจุดเริ่มต้นมาจากครูทวี หรือ ทวี แอคะรัต เป็นผู้สร้างห้องโรงหนังขึ้นก่อนที่บริเวณตลาดกลาง เริ่มแรกสร้างเป็นห้องแถวไม้ แล้วนำผนังกั้นห้องออกกลายเป็นห้องยาวๆ ตั้งจอไว้ทางทิศเหนือ
มีเก้าอี้ไม้ยาว ประตูบานเฟี้ยม
จากนั้นได้ย้ายโรงภาพยนตร์มาตั้ง ณ ที่อยู่ปัจจุบัน และสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสมัยใหม่แทนใน พ.ศ.2501 จากนั้นวิกครูทวีก็ดำเนินกิจการมาตามลำดับ แต่ก็ไม่สามารถทานกระแสโลกที่เปลี่ยนไป สุดท้ายจึงปิดตัวลงถาวรเมื่อเดือนกรกฏาคม 2541 จนภายหลังมีการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้เป็นศูนย์ทำกิจกรรมของชาวโพธาราม เรายังสามารถไปชมบริเวณด้านนอกอาคารกันได้
"หลักเมืองภาพยนตร์”
บนถนนโสมพะมิตร อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มีโรงหนังเก่าที่ชื่อว่า "หลักเมืองภาพยนตร์" ที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนแห่งแรกของกาฬสินธุ์ โดยข้อมูลจากเพจ Studio Locomotive กล่าวว่า เตี่ยมีชัย เป็นเจ้าของเดิมของหลักเมืองภาพยนตร์ และเจ้าของหน่วยรถฉายหนังกลางแปลง "มีชัย ภาพยนตร์" โดยโรงหนังแห่งนี้เปิดให้บริการความบันเทิงแก่ชาวกาฬสินธุ์มาตั้งแต่เปิดทำการ พ.ศ.2512 โดยฉายภาพยนตร์เรื่องแรกคือเรื่อง "วิมานคนแคระ" (The Gnome-Mobile)
หลักเมืองภาพยนตร์ได้ปิดตัวลงไปเมื่อ พ.ศ.2539 หลังจากทำหน้าที่ให้ความบันเทิงมายาวนานถึง 27 ปี โดยได้ถูกทิ้งร้างไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ต่อ แต่เมื่อปี 2561 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เข้ามาสร้างสีสันด้วยการให้ศิลปินกราฟิตี้เข้ามาวาดลวดลายในย่านชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ โดยจุดหนึ่งที่มีภาพกราฟิตี้ก็คือที่หลักเมืองภาพยนตร์ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กำลังขายตั๋วหนังและขายป๊อบคอร์นให้คนที่มาชม และมีภาพใบปิดหนัง มิตร-เพชรา ย้อนยุคให้นึกถึงสมัยที่การชมภาพยนตร์กำลังรุ่งเรือง
โรงหนังแห่งนี้แม้จะถูกทิ้งร้าง แต่ยังคงความงดงามของลวดลายแผงเหล็กบังตาหน้าอาคารที่ทำเป็นลวดลายประจำยาม ลายมงคลลักษณะคล้ายดอกไม้สี่กลีบ และยังมีข่าวดีมาว่า หลักเมืองภาพยนตร์กำลังจะถูกรีโนเวทให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในเร็วๆ นี้อีกด้วย
ไม่เพียงโรงภาพยนตร์ทั้ง 5 แห่งที่กล่าวมานี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายโรงหนังสแตนด์อโลนที่เคยเป็นแหล่งบันเทิงในอดีต แต่วันนี้กลายเป็นเพียงความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ฟ้าสยาม แห่งสุพรรณบุรี ที่วันนี้ปิดให้บริการ แต่ยังคงสภาพสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โรงหนังสหภาพยนตร์ แห่งสงขลา ที่ก็มีโครงการจะปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงโรงหนังเก่าในกรุงเทพฯ เช่นโรงหนังโคลีเซียม มงคลรามา ศาลาเฉลิมเขตร์ ฯลฯ เหล่านี้ก็ยังเป็นชื่อคุ้นหูคนกรุงเทพฯ แม้จะปิดให้บริการไปนานเต็มทีแล้วก็ตาม
#################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline