xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุด “4 ปราสาทหิน” ถิ่นภูเขาไฟ บุรีรัมย์ เที่ยวตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปราสาทหินพนมรุ้ง
“บุรีรัมย์” เป็นเมืองแห่งปราสาทหิน เนื่องจากในสมัยโบราณดินแดนอีสานใต้ได้รับอิทธิพลสำคัญจากอารยธรรมขอม จึงมีการสร้างปราสาทขอมหรือปราสาทหินขึ้นอยู่ที่ทั่วไปในแถบอีสานใต้ ครั้งนี้ขอพาทุกคนมายลความงามปราสาทหิน สถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ที่ผู้มาเยือนจะต้องไม่ควรพลาด


ปราสาทหินพนมรุ้ง
เมื่อพูดถึงปราสาทหินของจังหวัดบุรีรัมย์ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) ก็จะเป็นปราสาทหินอันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง ปราสาทหินแห่งนี้ตั้งอยู่บน “เขาพนมรุ้ง” บริเวณปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ปราสาทแห่งนี้เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18

บริเวณด้านหน้าปราสาทหินพนมรุ้ง

นารายณ์บรรทมสินธุ์  ทับหลังที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองไทย
ปราสาทหินพนมรุ้ง ก่อสร้างด้วยคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีเส้นทางเดินสู่ตัวปราสาทที่ถูกออกแบบลดหลั่นกันไปตามภูมิประเทศ ไปตามเส้นทางที่มีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย ผ่านสะพานนาคซึ่งเป็นดังจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ นำสู่องค์ปราสาทประธานที่เปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ

บรรยากาศภายในปราสาทหินพนมรุ้ง

ปรางค์ประธาน ปราสาทหินพนมรุ้ง
สำหรับตัวอาคารปราสาทประธาน ก่อสร้างด้วย “หินทรายสีชมพู”อันงดงามสมส่วน ตามจุดต่างๆจะมีภาพจำหลักหิน(งานแกะสลักหิน)ฝีมือวิจิตรประณีต นำโดย “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” รวมไปถึงภาพจำหลักหินอื่นๆที่ช่างขอมโบราณได้ซุกซ่อนเรื่องราว และแฝงอารมณ์ขัน(ในบางภาพ)เอาไว้ให้เราได้เที่ยวชมกันอย่างเพลิดเพลิน

ด้านหน้าปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทเมืองต่ำ (อำเภอประโคนชัย)
ปราสาทเมืองต่ำ
ไม่ไกลจากปราสาทหินพนมรุ้งเท่าไหร่ เป็นที่ตั้งของ ปราสาทเมืองต่ำ (อำเภอประโคนชัย) ซึ่งเป็นปราสาทหินขนาดกะทัดรัด แต่มีความงดงามคลาสสิกสมส่วน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อถวายพระศิวะ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู

ด้านหน้าปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทเมืองต่ำมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เส้นทางเดินสู่ตัวปราสาทจะผ่านกลุ่มต้นไม้ใหญ่อันร่มรื่น นำสู่โคปุระ(ซุ้มประตู)ชั้นนอกที่สร้างล้อมลานปราสาท ที่มีลักษณะพิเศษคือสร้างเป็นปรางค์อิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ 5 ยอด อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ความงดงามของทับหลัง

บารายที่สร้างรายรอบตัวปราสาททั้ง 4 ด้าน
ปราสาทเมืองต่ำงดงามไปด้วยภาพจำหลักหินฝีมือประณีตละเอียดลออ นำโดยภาพ“พระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล” บนทับหลังซุ้มประตูด้านตะวันออก ซึ่งเชื่อกันว่าพระอินทร์จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่ภายในปราสาท

นอกจากนี้ปราสาทเมืองต่ำยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ “บาราย” (สระน้ำ) ที่สร้างรายรอบตัวปราสาททั้ง 4 ด้าน เปรียบดังมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

ภายในปราสาทเมืองต่ำ
บารายทั้ง 4 ด้านนี้ ที่มุมขอบสระสร้างเป็นรูปพญานาค 5 หัว กำลังชูคอแผ่พังพาน ด้านบนหัวพญานาคเรียบเกลี้ยงไม่มีรัศมีหรือเครื่องประดับใดๆ จนถูกเรียกเป็น “พญานาคหัวโล้น” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะขอมแบบบาปวนที่ยังคงเอกลักษณ์ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ปราสาทหนองหงส์ โบราณสถานขนาดเล็ก
ปราสาทหนองหงส์
อีกหนึ่งปราสาทที่น่าสนใจก็คือ “ปราสาทหนองหงส์” ตั้งอยู่ที่ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง เป็นโบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้าออกด้านหน้า ส่วนประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก

อายุสมัยของปราสาทหนองหงส์ เมื่อดูจากลักษณะการก่อสร้างและศิลปกรรมที่พบ ตรงกับศิลปะเขมรแบบ บาปวน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกับนครวัด-นครธม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลก และร่วมสมัยกับปราสาทเมืองต่ำ - ปรางค์น้อย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทโคกปราสาทเหนือ ใน จ.บุรีรัมย์

ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง
สำหรับทับหลังของปราสาทหนองหงส์ เป็นทับหลังที่ทำจากหินทราย จำหลักรูปพระยมทรงกระบือ ประทับเหนือหน้ากาล โดยตามความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้น “พระยม” ถือเป็นเทพประจำทิศใต้ และเป็นเทพแห่งความตาย ทรงกระบือเป็นพาหนะ พระหัตถ์ขวาถือคฑาเป็นอาวุธ มีดาวอังคารเป็นดาวประจำองค์ (ปัจจุบันทับหลังของปราสาทหนองหงส์ จัดแสดงให้ชมอยู่ที่ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

บรรยากาศโดยรอบของปราสาทหนองหงส์
ทับหลังพระยมทรงกระบือแห่งปราสาทหนองหงส์นี้ มีภาพเก่าแก่ที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีของไทยได้ถ่ายภาพไว้ขณะออกสำรวจเมื่อราว พ.ศ.2503-2504 ซึ่งขณะนั้นทับหลังยังคงอยู่คู่กับตัวปราสาทฝั่งทิศใต้ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการอ้างอิงว่าทับหลังชิ้นนี้เป็นของไทยอย่างแท้จริง

ปราสาทบ้านบุ อำเภอประโคนชัย
ปราสาทบ้านบุ
ปิดท้ายกันที่ “ปราสาทบ้านบุ” ตั้งอยู่ภายในเขตโรงเรียนบ้านบุวิทยาสรรค์ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย เป็นโบราณสถานขนาดเล็กหลังเดียว ก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหลังนี้จัดเป็นอยู่ในอยู่ศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง 1 ใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโปรดให้สร้างขึ้น จากเมืองพระนครหลวงมายังเมืองพิมายตามที่ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ มีอาคารที่เป็นห้องครรภคฤหะหรือบ้านมีไฟหลังเดี่ยว ตัวอาคารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกฐานสูงจากพื้นดิน ทอดตัวแนวออก-ตก สร้างด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าออกสองทางคือทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทางทิศใต้ของตัวปราสาทมีกรอบหน้าต่าง 5 บาน กรอบประตูและหน้าต่างสร้างด้วยหินทรายสีส้มอมเหลือง

ศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง

ปราสาทบ้านบุที่บูรณะเรียบร้อยแล้ว
เมื่อปี พ.ศ. 2556 กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและทดลองประกอบส่วนหลังคาที่พังลงมาเพื่อบูรณะปราสาทบ้านบุใหม่ให้สมบูรณ์ และงดงามดังที่เห็นในปัจจุบัน

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น