xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง! 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แปลกตา ถูกน้ำท่วมจนกลายเป็นที่เที่ยวอันซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พระจมน้ำ จ.ตราด ถูกน้ำท่วมจากการสร้างอ่างเก็บน้ำจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีน (ภาพ : เพจ Amazing ไทยแลนด์-ททท.)
พาไปรู้จักกับ 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามแปลกตาของไทย ที่มีสภาพเปลี่ยนไปหลังถูกน้ำท่วม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่มีคนเดินทางมาเที่ยวชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันไม่ได้ขาด

ปลายเดือนกันยายนต่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2564 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง

เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ (64) แม้ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่า ปี 2554 ที่ผลจากการ “เอาอยู่” ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับมหาวิปโยคบ้านเมืองจมบาดาลเป็นเวลานาน

โบสถ์กลางน้ำ วัดเตย ถูกน้ำท่วมใหญ่ปี 38 จนกลายเป็นอันซีนเมืองนนท์
แต่อย่างไรก็ดีเหตุการณ์น้ำท่วมหลังจากปี 54 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนให้ผู้บริหารประเทศ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องนำไป ค-คิด, ว-วิเคราะห์, ย-แยกแยะ แล้วถอดบทเรียน เพื่อวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะยาว ในการรับมือ ป้องกัน และบริหารจัดการกับน้ำมท่วมในครั้งถัด ๆ ไป

สำหรับบ้านเรามีสถานที่หลายแห่ง โดยเฉพาะวัดวาอาราม ที่ภายหลังถูกน้ำท่วม ทั้งที่เกิดจากถูกน้ำท่วมเองตามธรรมชาติ หรือจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือถูกน้ำท่วมจากการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนเลื่องชื่อ

และนี่ก็คือ 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คัดสรร ที่ภายหลังจากถูกน้ำท่วมได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่มีความสวยงามแปลกตาน่าเที่ยวชมไม่น้อย

1.วัดติโลกอาราม อันซีนพะเยา


วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา
วัดติโลกอาราม เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่คู่เมืองพะเยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 2019-2030 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ปกครองล้านนา

ครั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2484-2484ทางกรมประมงได้กั้นประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจนเกิดเป็น“กว๊านพะเยา” เส้นเลือดหลักของจังหวัดพะเยาขึ้น

การถือกำเนิดของกว๊านพะเยา ทำให้ ชุมชน บ้านเรือน เรือกสวน และวัดหลายแห่งในพื้นที่กักเก็บน้ำ รวมถึงวัดติโลกอารามถูกน้ำท่วมมิดต้องจมลงอยู่ใต้ผืนน้ำ

หลวงพ่อศิลา-วัดติโลกอารามอันซีนพะเยา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้มีการขุดค้นพบพระเครื่องและพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี ที่ซากวัดร้างแห่งหนึ่งในกว๊านพะเยา ซึ่งภายหลังเรียกขานกันว่า “หลวงพ่อศิลา” หรือ “พระเจ้ากว๊าน”

จากนั้นในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการสำรวจวัดร้างกลางกว๊านที่ขุดพบหลวงพ่อศิลา พบหลักฐานเป็นศิลาจารึกเขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม แปลได้ว่า “วัดติโลกอาราม”

ทางจังหวัดพะเยาจึงได้ลงมือบูรณะปรับแต่งวัดติโลกอารามที่เคยจมอยู่ใต้น้ำขึ้นมาเป็นวัดกลางน้ำ กลางกว๊านพะเยา พร้อมอัญเชิญหลวงพ่อศิลาให้มาประดิษฐานที่วัดติโลกการาม เป็นการกลับคืนถิ่นสู่กว๊านพะเยาอีกครั้ง

ไหว้หลวงพ่อศิลา เที่ยววัดติโลกอาราม อีกหนึ่งกิจกรรมไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวกว๊านพะเยา
ปัจจุบันหลวงพ่อศิลาและวัดติโลกการาม นอกจากจะเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยาแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพะเยา

นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาแอ่วกว๊านพะเยา มักจะนิยมนั่งเรือแจวพื้นบ้านจากฝั่งสู่วัดติโลกอารามกลางน้ำ เพื่อไปสักการะองค์หลวงพ่อศิลาที่ขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์

เวียนเทียนกลางน้ำหนึ่งเดียวในไทยที่กว๊านพะเยา
นอกจากนี้ในวันพระใหญ่ มาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา ทางจังหวัดพะเยาได้มีการจัดงาน “เวียนเทียนกลางน้ำ”ขึ้น เพื่อให้ชาวพุทธได้มาร่วมทำบุญ เวียนเทียนกลางน้ำรอบองค์หลวงพ่อศิลาและวัดติโลกอาราม

นับเป็นการเวียนเทียนกลางน้ำในบรรยากาศที่แตกต่างกลางกว๊านพะเยา ถือเป็นอีกหนึ่งงานประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ “หนึ่งเดียวในไทย” ของจังหวัดพะเยาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

2.เมืองบาดาล อันซีนเมืองกาญจ


เมืองบาดาล สังขละบุรี
“วัดวังก์วิเวการาม (เก่า)” หรือ “เมืองบาดาล” อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นอดีตชุมชนเก่าและซากวัดร้างใต้ทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม ซึ่ง “หลวงพ่ออุตตมะ” เทพเจ้าของชาวมอญ ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจนำชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงร่วมแรงร่วมใจกันก่อตั้งชุมชนและวัดวังก์วิเวการาม (เก่า) ขึ้นด้วยแรงศรัทธา ตั้งแต่ปี พ.ศ 2496

ชุมชนเก่าและวัดวังก์ฯ (เก่า) แห่งนี้ สร้างบนเนินที่สูงบริเวณ “สามประสบ” ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสายคือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ไหลมารวมกันเป็นแม้น้ำแควน้อย

วัดวังก์วิเวการาม หลังเก่า ที่จมน้ำในเขื่อนเขาแหลม
ต่อมาในปี 2522-2527 มีการสร้าง “เขื่อนวชิราลงกรณ” หรือ “เขื่อนเขาแหลม” ขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ ชาวบ้านในชุมชนเก่าจึงต้องอพยพไปสร้างชุมชนใหม่บนที่สูงเหนือเขื่อน

ส่วนชุมชนเก่าและวัดวังก์ฯ หลังเก่าได้ปล่อยให้ทิ้งร้าง ถูกสายน้ำของเขื่อนท่วมทุกสิ่งทุกอย่างจมน้ำกลายเป็นเมืองใต้บาดาล

อย่างไรก็ดีเมื่อถึงคราวหน้าแล้งราวมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี น้ำในเขื่อนลดระดับต่ำลงมาก ก็จะปรากฏแผ่นดินและซากวัดเก่าแก่ของเมืองบาดาลโผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็น กลายเป็น “อันซีนเมืองกาญจน์” ให้ผู้สนใจไปล่องเรือเที่ยวชม โดยมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยให้ข้อมูล (ส่วนถ้าใครไปในช่วง ต.ค. - ม.ค. ที่น้ำค่อย ๆ ลดระดับลง ก็จะได้ชมโบสถ์โผล่พ้นน้ำ)

เมืองบาดาลยามน้ำลด
สำหรับวัดวังก์วิเวการาม (เก่า) หรือ เมืองบาดาล ถือเป็นจุดไฮไลท์สำคัญของซากชุมชนเก่าใต้ทะเลสาบ ซึ่งวันนี้ยังคงมีซาก พระอุโบสถ กุฏิของหลวงพ่ออุตตมะ และหอระฆัง ปรากฏให้ชมกัน ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเมืองสังขละควบคู่กับ “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี่ชุมชนเก่าใต้บาดาลยังมี “วัดศรีสุวรรณ (เก่า)” ที่จมอยู่ใต้น้ำลึกกว่าวัดอื่น ๆ ยามน้ำลดจึงปรากฏเพียงผนังโบสถ์ลอยน้ำให้นั่งเรือชมกันอีกด้วย

3.พระธาตุกลางน้ำ อันซีนหนองคาย



“พระธาตุกลางน้ำ” หรือ “พระธาตุหนองคาย” หรือ “พระธาตุหล้าหนอง” เป็นพระธาตุเก่าแก่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในยุคเดียวกับพระธาตุพนม หรือพระธาตุบังพวน ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคราวเดียวกับพระธาตุพนม จ.นครพนม

เดิมพระธาตุองค์นี้ชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนฝั่งริมแม่น้ำโขงในเขตวัดพระธาตุหนองคาย ในปี พ.ศ.2390 พระธาตุหนองคาย ถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งขาด พระธาตุพังลงในแม่น้ำโขง กลายเป็นพระธาตุกลางน้ำที่ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร

นักท่องเที่ยวนั่งเรือไปไหว้พระธาตุกลางน้ำอย่างใกล้ชิด
พระธาตุกลางน้ำ ก่อด้วยอิฐถือปูน ฐานเหลี่ยมมุมฉาก มีลักณะล้มเอียงตะแคงไปตามกระแสน้ำ ฐานด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาครั้งฐาน พระธาตุองค์นี้จะเห็นได้ชัดเจนยามแม่น้ำโขงลดระดับลงต่ำ

พระธาตุกลางน้ำ เป็นอีกหนึ่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่เมืองหนองคาย ซึ่งยามน้ำลดนักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรือไปสักการะพระธาตุองค์นี้กลางแม่น้ำโขงกัน ขณะที่บนฝั่งในวัดพระธาตุหนองคายก็ได้มีการสร้างพระธาตุหล้าหนององค์จำลองขึ้นใหม่ขึ้น ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับองค์เดิมที่จมลงสู่แม่น้ำโขง

4.พระจมน้ำ อันซีนตราด


พระจมน้ำ อันซีนตราด (ภาพ : เพจ Amazing ไทยแลนด์-ททท.)
“พระจมน้ำ” หรือ “พระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย” ตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ต.วังกระแจะ อำเภอเมือง จ.ตราด

พระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาวเด่น มีขนาดหน้าตักยาวกว่า 5 เมตร และมีความสูงประมาณ 9-10 เมตร

เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ตั้งอยู่ในเขตสำนักสงฆ์เขาระกำ ต่อมาทางจังหวัดตราดได้มีโครงการชลประทานสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ จึงมีการสร้าง “อ่างเก็บน้ำเขาระกำ” ขึ้นในบริเวณนี้ ทำให้น้ำท่วมสำนักสงฆ์เขาระกำ ต้องย้ายออกไป ส่วนพระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำตอนบนได้ถูกน้ำท่วมบางส่วนแต่ไม่มิดองค์พระ ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้อีกชื่อหนึ่งตามลักษณะที่เห็นว่า “พระจมน้ำ”

พระจมน้ำ อ่างเก็บน้ำเขาระกำ ยามน้ำลดระดับต่ำ
พระจมน้ำจะปรากฏพระวรกายตามระดับความสูงของน้ำ หน้าร้อนหน้าแล้งน้ำน้อยก็จะเห็นองค์พระตั้งเด่นลอยสูง บางปีน้ำลดระดับลงมากจนสามารถเดินลุยน้ำเข้าถึงองค์พระได้ ส่วนในหน้าฝนมีปริมาณน้ำมากก็จะเห็นองค์พระถูกน้ำท่วมสูงในระดับอก หรือในระดับไหล่เลยทีเดียว

วันนี้พระจมน้ำถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์น่าสนใจ ซึ่งทางจังหวัดตราดได้ชูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่

ขณะที่ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ก็ได้คัดสรรให้พระจมน้ำ เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนแห่งใหม่ในโครงการ “25 UNSEEN New Series” ที่เป็นการคัดแหล่งท่องเที่ยวแปลก ๆ ใหม่ ๆ ทั้งธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นมานำเสนอดึงดูดนักท่องเที่ยว



5.วัดเตย อันซีนเมืองนนท์

โบสถ์กลางน้ำวัดเตย อันซีนเมืองนนท์
วัดเตย เป็นวัดมอญเก่าแก่ แห่ง ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ.2375 โดยบริเวณที่สร้างวัดเตยในอดีต (เคย) มีต้นเตยกอใหญ่ขึ้นเป็นดง จึงเรียกว่า “บ้านเตย” และชาวมอญได้ร่วมกันสร้างวัดเตยขึ้นมา

ในอดีตพื้นที่ของวัดเตยเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขัง จึงได้มีการปรับถมพื้นที่ใหม่ให้สูงขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทางวัดได้ถมพื้นที่อีกครั้ง

ส่วนอุโบสถหลังเก่าอยู่ต่ำกว่าบริเวณวัด ทำให้มีน้ำท่วมขังอยู่บริเวณรอบโบสถ์ จนกลายเป็น “โบสถ์กลางน้ำ” จนมาถึงปัจจุบัน

โบสถ์เก่าของวัดเตยที่ถูกน้ำท่วมกลายเป็นโบสถ์กลางน้ำ
โบสถ์กลางน้ำ วัดเตยมีสายน้ำที่เกิดจากน้ำท่วมล้อมรอบภายใสนเขตกำแพงแก้ว ดูอันซีนแปลกตา แต่ว่าสวยงามคลาสสิก และเป็นอีกหนึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ของวัดและพื้นที่แห่งนี้ถึงการเคยถูกน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี

นอกจากโบสถ์กลางน้ำหลังเก่าแล้ว วัดเตยยังมีโบสถ์หลังใหม่ที่ภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงามวิจิตรจาก “ครูเทพเนรมิต” จิตรกรรมคนไทยเชื้อสายมอญฝีมือชั้นครู ที่ได้เริ่มลงมือเขียนภาพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

และนี่ก็คือ 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามแปลกตาของไทย ที่มีสภาพเปลี่ยนไปหลังถูกน้ำท่วม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่มีคนเดินทางมาเที่ยวชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันไม่ได้ขาด


#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น