xs
xsm
sm
md
lg

กราบพระคันธารราฐอายุกว่า 1,500 ปี ณ "วัดหน้าพระเมรุ" อยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระคันธารราฐสมัยทวารวดีอายุกว่า 1,500 ปี แห่งวัดหน้าพระเมรุ
อีกหนึ่งวัดงามที่ไม่ควรพลาดชมในเมืองกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา คือ "วัดหน้าพระเมรุราชิการาม" หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "วัดหน้าพระเมรุ" วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้น ณ สถานที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งต้นสมัยอยุธยา และมีเพียงตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2046 แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วัดหน้าพระเมรุเป็นเพียงวัดเดียวในเขตเมืองพระนครศรีอยุธยาที่ไม่ถูกทำลายเมื่อครั้งเสียกรุง เชื่อว่าเนื่องจากข้าศึกได้ใช้วัดหน้าพระเมรุเป็นที่ตั้งทัพ ทำให้สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมตามแบบอยุธยาและพระพุทธรูปเก่าแก่ทั้งหลายยังคงสภาพดีมาจนปัจจุบัน

 อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ
ที่ตั้งของวัดหน้าพระเมรุอยู่บริเวณริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง ไม่ไกลจากพระราชวังหลวงในเขตโบราณสถาน ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจควรค่าแก่การชมอยู่มากมาย นับตั้งแต่พระอุโบสถแบบอยุธยาขนาดใหญ่ซึ่งมีเสาอยู่ภายใน และสิ่งที่โดดเด่นคือพระประธานในพระอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยหล่อสำริดขนาดใหญ่ นามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” ขนาดหน้าตักกว้าง4.40 เมตร สูง6 เมตร

ข้อมูลจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ว่า สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหรือบูรณะขึ้นในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยลักษณะทางพุทธศิลป์น่าจะเกิดจากการผสมผสานคติความเชื่อแบบ “เทวราชา” ของขอม กับแบบ “ธรรมราชา” ของกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ โดยช่างผู้รังสรรค์ได้ถ่ายทอดแนวความคิดในการจำลองเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ให้เข้ากับปรัชญาและสิ่งแวดล้อมตลอดจนอิทธิพลของศิลปะในยุคนั้นๆ (ซึ่งเป็นยุคที่ย้อนกลับไปนิยมศิลปะแบบขอมในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง)

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย
พระพักตร์ของพระพุทธรูปยังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยมีพระพักตร์ค่อนข้างดุ พระเนตรดุจตาหงส์ พระนาสิกโด่งงุ้ม และพระโอษฐ์กว้างรูปแบบของพุทธศิลป์ลักษณะดังกล่าวนี้ยังปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่น วัดใหญ่ประชุมพล วัดตูม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่วัดพระนอน จังหวัดเพชรบุรี แต่ที่วัดหน้าพระเมรุ ถือได้ว่ามีความงดงามสมบูรณ์แบบมากที่สุดทั้งในเรื่องของขนาดและความงดงามทางพุทธศิลป์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของอิทธิพลทางศิลปะจากภายนอกและศิลปะท้องถิ่นที่ปรับประยุกต์เข้าหากัน

อุโบสถแบบอยุธยาขนาดใหญ่

พระคันธารราฐภายในวิหารน้อย
ขณะที่มีพระพุทธรูปงามล้ำค่าอีกองค์หนึ่งในวัดหน้าพระเมรุ นั่นคือ "พระคันธารราฐ" ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารน้อย หรือวิหารสรรเพชญ์ หรือวิหารเขียน ซึ่งมีขนาดกว้างเพียง6 เมตร ยาว16 เมตร โดยพระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวปางปฐมเทศนาสมัยทวารวดี ประทับห้อยพระบาทบนดอกบัวบาน สันนิษฐานว่าสร้างระหว่าง พ.ศ.1000-1200 ซึ่งพระยาไชยวิชิต (เผือก) แม่กองบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่3 จารึกไว้ว่า อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุที่อยุธยา ทว่ามีบันทึกในสมัยรัชกาลที่5 ว่าอัญเชิญมาจากวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบพระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่หลายองค์

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทย โดยมีความเก่าไล่เลี่ยกับยุคสมัยของโบโรบูดูร์ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า1,000 ปีมาแล้ว นับเป็น1 ใน6 พระพุทธรูปที่สร้างจากศิลาที่มีอยู่ในโลก และเป็น1 ใน5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ควรพลาดที่จะมากราบสักการะท่านอย่างยิ่ง

ด้านหน้าวิหารน้อย

วิหารหลวงพ่อขาว
ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในพื้นที่คือ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปบุด้วยเงินทั้งองค์ปางมารวิชัย อายุกว่า500 ปี เนื้อเงินที่หล่อเป็นองค์พระสุกสกาวจนคนต่างเรียกท่านว่าหลวงพ่อขาว วิหารของท่านตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยา ปัจจุบันมีผู้ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก

พระพุทธลีลาภายในวิหารหลวง
อีกทั้งยังมีพระพุทธลีลา ประดิษฐานในวิหารหลวง เป็นปฏิมากรรมนูนต่ำของพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะลพบุรี อายุกว่า 800 กว่าปี ว่ากันว่า ต้องการสิ่งใดให้มากราบไหว้ขอต่อท่าน แล้วจะสำเร็จสมดังปรารถนา

เจดีย์รายที่มีต้นโพธิ์ขึ้นเติบโต
ก่อนกลับอย่าลืมแวะไปชมเจดีย์ราย 3 องค์ ที่มีรากไทรแผ่เข้าครอบคลุมดูกลมกลืนราวกับเป็นต้นไม้เจดีย์ ที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ โดยเจดีย์ดังกล่าวนี้ได้ปรากฏในภาพวาดกรุงศรีอยุธยาในหนังสือของ อ็องรี มูโอ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย

#################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น