xs
xsm
sm
md
lg

“สืบ” ตำนานนักอนุรักษ์ กับวีรกรรมอพยพสัตว์ป่ากลางเขื่อนเชี่ยวหลาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สืบ นาคะเสถียร ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อผืนป่า (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
เช้าวันที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนดังก้องป่า เมื่อ “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเพื่อเรียกร้องให้สังคมและหน่วยงานราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

กระสุนปืนนัดนั้น พรากชีวิตของคนที่ต่อสู้เพื่อป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างยอมถวายชีวิต แต่ก็ก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเข้มข้นและจริงจังครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้งในทันที รวมไปถึงการก่อตั้ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ขึ้นในเวลาต่อมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า คัดค้านโครงการนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าตะวันตกและแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ในประเทศไทย

สืบเริ่มต้นชีวิตข้าราชการกรมป่าไม้ ในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นวันที่ครบ 31 ปี ในการตายของสืบ ซึ่งเราขอหยิบยกเอาบางช่วงบางตอนของการทำงานอย่างจริงจังและทุ่มเทต่อการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าของเขามาเล่าขานกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการรำลึกถึงลูกผู้ชายแห่งป่า “สืบ นาคะเสถียร”

สืบ นาคะเสถียร จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ใน พ.ศ.2518 โดยประจำการอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี เป็นแห่งแรก

จากนั้นก็ได้มาทำงานด้านวิจัยสัตว์ป่า ซึ่งเป็นงานที่ตรงกับความสนใจของเขา จนทำให้งานวิจัยต่างๆ นั้นกลายมาเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสัตว์ป่าในไทย ก่อนที่จะได้มาทำงานชิ้นสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอนุรักษ์มากขึ้น นั่นคือการเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.2529

ภาพการช่วยเหลือสัตว์ป่ากลางเขื่อนเชี่ยวหลาน (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
เขื่อนเชี่ยวหลานสร้างขึ้นกั้นลำน้ำจากคลองแสง ซึ่งทอดยาวผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและอุทยานแห่งชาติเขาสก ถือเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของสัตว์ป่าน้อยใหญ่นานาชนิด แต่เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การก่อสร้างได้ดำเนินไป และเมื่อเริ่มมีการปิดกั้นอุโมงค์เพื่อกักเก็บน้ำก็ทำให้ระดับน้ำในคลองแสงเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ซึ่งเดิมเป็นเนินเขาและภูเขาได้ถูกน้ำตัดขาด กลายสภาพเป็นเกาะจำนวนมาก

เมื่อสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน สัตว์ป่าซึ่งเคยอาศัยในบริเวณนี้ก็จะหนีน้ำท่วมไปติดค้างอยู่ตามเกาะเหล่านี้ สืบ ในฐานะหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า รวมถึงทีมงานทุกๆ คนต้องทำงานอย่างแข็งขันในทุกๆ วันด้วยการนั่งเรือหางยาวขนาดใหญ่ออกไปช่วยจับสัตว์ต่างๆ กลางทะเลสาบ แข่งกับเวลาและระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี อดีตบรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารสารคดี ที่เคยได้มีโอกาสไปเก็บภาพและข้อมูลขณะที่สืบออกทำงานกลางเขื่อนเชี่ยวหลาน ได้บันทึกไว้ในบทความ “สานสืบเจตนา” เล่าเรื่องขณะที่สืบทำงานในโครงการอพยพสัตว์ป่าไว้ว่า ภารกิจประจำวันของสืบคือการนั่งเรือหางยาวออกไปช่วยจับสัตว์ เช่น กวาง กระจง เสือลายเมฆ ลิงลม เก้ง หมูป่า และแม้กระทั่งงูจงอางขนาดยาวกว่า 3 เมตร ก็ได้รับการช่วยเหลือเมื่อสืบเล็งเห็นว่ามันคงว่ายน้ำหนีได้ไม่ถึงฝั่ง

สัตว์ป่าที่ต้องติดเกาะกลางเขื่อน (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

ความสนใจของสืบที่มีต่อสัตว์ป่า (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
ความทุ่มเทและเอาจริงเอาจังในการทำงานของเขานั้นได้ถูกถ่ายทอดให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบผ่านรายการสารคดีทางโทรทัศน์ “ส่องโลก” โดยโจ๋ย บางจาก ผู้ชมจำนวนมากได้เห็นภาพที่เขาล่องเรือหางยาวออกช่วยสัตว์ป่าทุกวัน ได้ฟังคำพูดและเห็นแววตาที่มุ่งมั่นเมื่อให้สัมภาษณ์ ได้เห็นภาพที่เขาลงมือปั๊มหัวใจให้กวางที่ขาดใจตาย และใบหน้าเศร้าสร้อยที่ไม่สามารถช่วยกวางตัวนั้นได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมไทยขณะนั้นได้รับรู้ว่ามีข้าราชการป่าไม้คนหนึ่งที่ทุ่มเทให้กับการช่วยเหลือสัตว์ป่ามากเพียงใด

ขณะที่เมื่อ 2 ปี ผ่านไป โครงการอพยพสัตว์ป่าสามารถช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าได้ 1,364 ตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับสัตว์ป่าอีกจำนวนมหาศาลที่จมน้ำตาย อดอาหารตาย ต้องถือว่าโครงการดังกล่าวล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ส่วนสัตว์ที่ช่วยมาได้จำนวนหนึ่งก็ตายระหว่างการรักษาพยาบาล จากความเครียด จากการขาดอาหารมาก่อนหน้านี้ บ้างก็ปรับตัวกับสถานที่อยู่ใหม่ไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลกระทบอย่างใหญ่หลวงของเขื่อนที่มีต่อระบบนิเวศของป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่แห่งนี้อย่างประเมินค่ามิได้

โครงการอพยพสัตว์ป่าดึงความสนใจให้คนหันมามองเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ระดับหนึ่ง โดยสืบยังได้ใช้บทเรียนของการสูญเสียสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน มาร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จ.กาญจนบุรี จนสำเร็จ แต่สิ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมเกิดกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติได้มากที่สุดคือช่วงที่สืบเข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ใน พ.ศ.2532

ความเครียดและกดดันจากการทำงานทำให้เขาเลือกจบชีวิตตัวเอง
ป่าห้วยขาแข้งในช่วงนั้นเต็มไปด้วยปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เสียงปืนดังก้องป่าแทบทุกคืนจากการลักลอบล่าสัตว์ ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบๆ ป่า ที่ถูกบีบให้ต้องทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตรายของผู้มีอิทธิพลและผู้ลักลอบล่าสัตว์ บ้างถูกยิงเสียชีวิต รวมถึงตัวของสืบเองที่ทำงานดูแลรักษาป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงจังก็ถูกเล็งเป็นเป้าและถูกตั้งค่าหัว ที่สำคัญปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพียงไม่กี่คน แต่ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากพอก็ไม่สนใจที่จะช่วยแก้ปัญหานั้น

ทางรอดในการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าทางเดียวที่สืบเล็งเห็น คือการผลักดันให้ป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่เชื่อมต่อกันเป็นป่าผืนใหญ่นี้ให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยเขาได้ทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอต่อยูเนสโก และถึงกับบินไปต่างประเทศเพื่อสอบถามผลความคืบหน้าในการพิจารณา เพื่อหวังให้ผืนป่ามีสิ่งค้ำประกันเพื่อปกป้องคุ้มครองให้อยู่รอด

ส่วนตัวของสืบเองนั้น ด้วยนิสัยที่ทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับการทำงาน บวกกับความเครียด ความกดดัน ทางตันของปัญหาและอีกหลายๆ เหตุผล ทำให้เขาตัดสินใจที่จะจบชีวิตตัวเองด้วยกระบอกปืน หลังจากที่พยายามจัดการสะสางภาระงานต่างๆ ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อมูลของป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นมรดกโลก

รูปปั้นของสืบกลางป่าห้วยขาแข้ง (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
กระสุนปืนที่ดังขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533 ได้พรากชีวิตของนักอนุรักษ์คนหนึ่งที่ทำงานอย่างถวายหัวเพื่อรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า แต่ชีวิตที่เสียไปนั้นไม่สูญเปล่า เพราะมันได้สร้างกระแสและความตระหนักรู้แก่คนในสังคมไทยให้กลับมาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติอีกครั้ง

1 ปี ให้หลังเมื่อสืบเสียชีวิต ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยใน พ.ศ.2534 สมดังความตั้งใจของเขา และจวบจนวันนี้ กว่า 31 ปีผ่านมาแล้ว เรื่องราวของ “สืบ นาคะเสถียร” ก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของคนรักษ์ป่าให้นักอนุรักษ์รุ่นหลังได้เดินตาม

อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานในปัจจุบัน

ทะเลสาบของเขื่อนเชี่ยวหลานที่ยังคงมีเกาะแก่งหลงเหลือ
#################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น