xs
xsm
sm
md
lg

อีกแล้ว! หยิบหิน “ปราสาทพนมรุ้ง” กลับบ้านต้องส่งคืน พร้อมกราบขอขมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักท่องเที่ยวแอบหยิบหิน “ปราสาทพนมรุ้ง” กลับบ้านต้องส่งคืน พร้อมกราบขอขมา
นักท่องเที่ยวแอบหยิบหิน ที่“ปราสาทหินพนมรุ้ง” กลับบ้าน ต้องส่งไปรษณีย์กลับคืนแบบน่ากังขา ระบุรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมกราบขอขมา หลังเพิ่งเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพจ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park” เปิดเผยว่า

...วันจันทร์ ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้รับพัสดุจากประชาชน ภายในพัสดุมีก้อนหิน (เป็นหินภูเขาไฟ) จากเขาพนมรุ้งพร้อมจดหมายเขียนข้อความว่า "ข้าพเจ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอกราบขอขมาด้วยกาย วาจา ใจ ขอคืนสู่อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง ข้าพเจ้าเก็บตรงกลางทางขึ้นปราสาทนานแล้ว *เห็นข่าวตอนเช้า 18 ส.ค. 64 จึงนึกขึ้นได้ ขอคืนสู่พนมรุ้ง"
บัดนี้เจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งได้นำก้อนหินกลับสู่ปราสาทพนมรุ้งแล้ว

#โบราณสถานเป็นของทุกท่าน_โปรดช่วยกันดูแลรักษา
#ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่หยิบจับ_หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดออกจากโบราณสถาน
#พนมรุ้งดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์


หินที่แอบหยิบไปแล้วส่งคืนกลับมาทางไปรษณีย์  (ภาพจาก : เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์)
สำหรับกรณีมีคนแอบหยิบหิน ดิน หรือสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่ปราสาทหินพนมรุ้ง แล้วมีเหตุให้ต้องนำส่งคืนทางไปรษณีย์ นั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว โดยล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีนักท่องเที่ยวแอบหยิบดินจากปราสาทหินพนมรุ้งกลับบ้าน แล้วมีเหตุให้ต้องส่งคืนที่เดิมทางไปรษณีย์ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวโด่งดัง

อย่างไรก็ดีจากทั้ง 2 เหตุการณ์ ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับที่พิสูจน์ไม่ได้ พร้อมระบุพื้นที่พนมรุ้งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่หากไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่

ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน
ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่องค์ประกอบโดยรวมได้รับการยกย่องว่าเป็นปราสาทหินที่งดงามที่สุดในเมืองไทย

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 และมีการบูรณะเรื่อยมา โดยเคยเป็นทั้งศาสนาสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย และศาสนสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน

ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างบนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว
ปราสาทหินพนมรุ้ง มีองค์ประกอบที่เด่น ๆ หลากหลาย อาทิ

-เป็นปราสาทหินที่ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน

-เป็นปราสาทหินที่สร้างบนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว

-เป็นปราสาทหินที่มีการก่อสร้างและวางผังได้อย่างสุดยอด โดยสร้างตามคติจักรวาลมีองค์ปรางค์ประธานเปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ มีเส้นทางเดินสู่ปราสาทเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์

-เป็นปราสาทที่มีสิ่งอันน่าอัศจรรย์จากปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ส่องตรงลอดช่องทะลุประตูทั้ง 15 ช่องเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งในหนึ่งปีจะมี 4 ครั้ง

หน้าบันศิวนาฏราช
-เป็นแหล่งชมภาพจำหลักหินที่ดีที่สุดในเมืองไทย เพราะมีภาพจำหลักหินสวย ๆ งาม ๆ ให้ชมกันเพียบ รวมถึงภาพภาพเชิงสังวาสหรือภาพราคะศิลป์แฝงอารมณ์ขัน ความซุกซน ขี้เล่นของช่างโบราณ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของปราสาทแห่งนี้

สำหรับลวดลายจำหลักหินที่เป็นไฮไลท์ต้องห้ามพลาดของปราสาทแห่งนี้ก็ภาพ “ศิวนาฏราช” ที่หน้าบัน และภาพ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแล้ว ปราสาทหินพนมรุ้ง ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวบุรีรัมย์ คนแถบอีสานใต้ และคนไทยจำนวนมาก ต่างให้ความเคารพนับถือ

ดังนั้นการไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต้องให้ความเคารพสถานที่ ไม่ทำอะไรที่ทำให้โบราณสถานเสียหาย ไม่หยิบอะไรกลับมา ควรเที่ยวแบบมีจิตสำนึกรับผิดชอบ นำกลับมาเพียงภาพถ่ายและความประทับใจ

นักท่องเที่ยวแอบหยิบหิน “ปราสาทพนมรุ้ง” กลับบ้านต้องส่งคืนทางไปรษณีย์ (ภาพจาก : เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์)

หินที่นักท่องเที่ยวแอบหยิบไปแล้วส่งคืนเจ้าหน้าที่ (ภาพจาก : เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์)

เจ้าหน้าที่นำหินกลับคืนที่เดิม (ภาพจาก : เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์)

หินกลับคืนสู่สถานที่เดิม (ภาพจาก : เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์)
#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น