หลังจากกลุ่มตาลีบันกลับเข้ายึดครองประเทศอัฟกานิสถานอีกครั้ง ก็กลายเป็นข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะภาพการอพยพหนีตายออกนอกประเทศ
ถึงแม้ว่ากลุ่มตาลีบันจะออกมาประกาศนิรโทษกรรมทั่วประเทศ รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมกับรัฐบาล แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเฝ้าจับตามองสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เนื่องจากยังคงมีภาพจำเมื่อครั้งตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานในครั้งที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัด ผู้หญิงถูกจำกัดสิทธิทางด้านต่างๆ มากมาย และหากทำผิดจะถูกลงโทษอย่างหนัก
และอีกเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงจากคนทั่วโลกจากในช่วงที่กลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานก็คือ การพยายามทำลายร่องรอยอารยธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนศาสนาอิสลามให้หมดไป เช่น การทำลาย “พระพุทธรูปแห่งบามียาน” พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมจากยูเนสโก แต่ก็ได้ถูกระเบิดทำลายลงเมื่อปี ค.ศ.2001 โดยอ้างเหตุผลว่าการเคารพรูปเคารพนั้นผิดหลักศาสนาอิสลาม
แต่อันที่จริงแล้ว ร่องรอยของศาสนาพุทธที่มีอยู่ในพื้นที่อัฟกานิสถาน ไม่ได้มีเพียงแค่พระพุทธรูปแกะสลักแห่งบามียาน แต่ยังมี “พุทธโบราณสถาน Mes Aynak” ที่แสดงให้เห็นว่าในบริเวณนี้เคยมีผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่
ทำไมถึงมีร่อยรอยของศาสนาพุทธอยู่ในพื้นที่ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งในปัจจุบันคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คำตอบนี้ต้องย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเผยแผ่เข้ามา ในบริเวณนี้เริ่มจากการเข้ามาของชาวอารยัน เมื่อ 1,457 ปีก่อนพุทธศักราช ตามมาด้วยชาวเปอร์เซีย ชาวเมเดีย ชาวกรีก ชาวเมารยะและชาวแบกเทรีย ราชวงศ์เมารยะในอินเดียแผ่อำนาจเข้าควบคุมอัฟกานิสถานตอนใต้รวมทั้งกรุงคาบูลและกันดะฮาร์ ราชวงศ์นี้ปกครองอยู่ได้ 100 – 120 ปี มีการเผยแพร่ศาสนาพุทธเข้ามาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของอัฟกานิสถานคือ ด้านตะวันออกอยู่ติดชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ส่วนด้านตะวันตกอยู่ติดประเทศอิหร่านและเอเชียกลาง ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นปากประตูของอารยธรรมตะวันออกที่เปิดสู่โลกตะวันตก เป็นอู่อารยธรรมที่หล่อหลอมอารยธรรมอิหร่าน (เปอร์เซีย) และอารยธรรมอินเดียเข้าด้วยกัน และยังได้รับอารยธรรมกรีก-โรมัน มาผสมผสานอีกด้วย
นอกจากนี้ อัฟกานิสถานยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมในยุคโบราณ เคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ส่งอิทธิพลไปยังเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตผลงานทางพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระ (ค.ศ. 100-700) ซึ่งเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างพระพุทธรูป พุทธศาสนานิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองมากในอัฟกานิสถาน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกปิศะ และยังมีผลงานด้านพุทธศิลป์จำนวนมากที่เมืองฮัดดาและเมืองบามียาน
สำหรับ “พุทธโบราณสถาน Mes Aynak” ตั้งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ห่างจากกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ราว 40 กิโลเมตร ในอดีตสมัยพุทธกาล บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “แคว้นคันธาระ” ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธในยุคโบราณ
ในพื้นที่ Mes Aynak ประกอบด้วยพระพุทธรูปกว่า 400 องค์ เจดีย์ และอารามขนาดใหญ่ รวมไปถึงบ้านเรือน และพื้นที่ตลาด จากหลักฐานคาดว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและโซโรอัสเตอร์ อาณาจักรแห่งนี้รุ่งเรืองที่สุดระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึง 7 ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมลงในศตวรรษที่ 8 และในที่สุดการตั้งถิ่นฐานก็ถูกละทิ้งในอีก 200 ปีต่อมา
มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาครั้งแรกในปี ค.ศ.1975 โดยนักธรณีวิทยาชาวรัสเซียและชาวอัฟกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับสมัยโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถาน ทำให้โบราณวัตถุที่ขุดพบเสียหายมาก ต่อมาภายหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทในอัฟกานิสถาน การขุดหาโบราณวัตถุก็ดำเนินการอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีการขุดพบสิ่งประดิษฐ์จากยุคสำริดอายุประมาณ 3,000 ปี และโรงถลุงแร่ทองแดงโบราณใต้พื้นที่ของเมือง
จากการศึกษาและขุดค้น นักโบราณคดีเชื่อว่า Mes Aynak เป็นแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง จนถูกเรียกว่าเป็นอีกจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งบนเส้นทางสายไหม แหล่งโบราณคดีในพื้นที่นี้มี 19 แห่ง มีป้อมปราการ เจดีย์แบบพุทธศาสนาหลายแห่ง รวมถึงวิหารไฟในศาสนาโซโรอัสเตอร์
แต่โบราณสถานที่สำคัญเหล่านี้อาจจะต้องถูกทำลายลงจากการถูกเปลี่ยนเป็นเหมืองแร่ทองแดง โดยในพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยแร่ทองแดงที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก กระทรวงเหมืองแร่ของอัฟกานิสถานประเมินว่าบริเวณดังกล่าวมีแร่ทองแดงอยู่ประมาณ 6 ล้านตัน และมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก จนเมื่อปี ค.ศ.2007 จึงมีการเจรจาตกลงมอบสัมปทานเหมืองแร่ทองแดงให้กับบริษัทสัญชาติจีน
บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีแผนที่จะระเบิดทำลายพื้นที่บริเวณนี้ รวมถึงโบราณสถานต่างๆ เพื่อดำเนินการเหมืองแร่ แต่แผนนี้ยังถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากราคาแร่ทองแดงตกลงอย่างมาก และจากการกดดันจากนานาชาติเกี่ยวกับโบราณสถาน การดำเนินการขุดค้นและอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ จึงยังคงดำเนินการต่อไป โดยมีทีมนักโบราณคดีนานาชาติ 67 คนจากฝรั่งเศส อังกฤษ อัฟกัน และทาจิกิสถานประจำพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีแรงงานท้องถิ่นประมาณ 550 คน ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ 200 นาย เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้และทำการเก็บรักษาให้ได้มากที่สุด
แต่จากการเข้ายึดครองอัฟกานิสถานของกลุ่มตาลีบันอีกในครั้งนี้ ทำให้ พุทธโบราณสถาน Mes Aynak อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงจะถูกทำลายลง เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าพื้นที่สำคัญแห่งนี้จะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับพระพุทธรูปแห่งบามียานหรือไม่
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline