xs
xsm
sm
md
lg

“ตำลึง” ผักข้างรั้วหากินง่าย สารอาหารครบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผักข้างรั้วอย่าง “ตำลึง” เป็นผักที่หากินได้ง่าย ยิ่งที่บ้านใครปลูกไว้ ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ก็ยิ่งแตกยอดอ่อนออกมาให้เก็บกินได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังเป็นผักชนิดแรกๆ ที่คุณแม่มักจะเลือกให้ลูกน้อยได้ลิ้มลองในวัยที่เริ่มกินข้าว

“ตำลึง” เป็นผักที่หากินได้ทุกภาค เป็นพืชประเภทไม้เลื้อย เช่นเดียวกับพืชจำพวกแตง ถั่วฝักยาว มะระ แม้จะเป็นพืชล้มลุกแต่ก็มีอายุหลายปี เถาตำลึงจะทอดเลื้อยไปตามดินหรือวัสดุที่อยู่ใกล้ๆ ทำให้คนมักจะปลูกไว้ริมรั้วให้มีพื้นที่เลื้อยไปเรื่อยๆ


ยอดและใบตำลึง มักจะนำมาทำแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงแค แกงป่า ผัดใส่ไข่ ลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ก๋วยเตี๋ยว ผลตำลึงที่ยังอ่อนๆ ก็สามารถนำมาทำอาหารได้เหมือนกับส่วนใบและยอด และยังนำไปแช่อิ่ม หรือดองเค็มอมเปรี้ยวทำเป็นผักดอง ส่วนถ้าเป็นผลที่โตได้ที่แล้วจะต้องผ่าเอาเมล็ดออก แล้วนำไปคั้นกับเกลือ ล้างน้ำทิ้งสัก 2-3 รอบ บีบให้แห้ง แล้วจึงนำไปใส่ในแกง เช่น แกงเผ็ด แกงคั่ว ใช้แทนมะเขือเปราะได้

คุณค่าทางโภชนาการของใบและยอดอ่อนตำลึง มีทั้งกากใยอาหาร เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส และ ธาตุเหล็ก


ส่วนสรรพคุณก็มีหลากหลาย อาทิ บำรุงสายตา เนื่องจากเป็นแหล่งวิตามินเอ มีเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอได้อีก ดังนั้นตำลึงจึงจัดเป็นอาหารบำรุงสายตาที่หากินได้ง่าย เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการของตามัวเพราะขาดวิตามินเอ

ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ตำลึงอุดมไปด้วยมีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีน ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยไข้ได้ โดยเฉพาะอาการไข้หวัด ซึ่งหากร่างกายขาดวิตามินเอ ก็มีโอกาสจะป่วยไข้ได้ง่าย

มีข้อมูลที่ส่งต่อกันว่า การเลือกใบตำลึงมาปรุงอาหารนั้นจะต้องเลือกเฉพาะใบตำลึงตัวเมีย เนื่องจากหากกินใบตำลึงตัวผู้จะทำให้ท้องเสียได้ โดยใบตำลึงตัวผู้หรือตัวเมียสามารถดูได้ที่ความหยักของใบ


ซึ่งในกรณีนี้ มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับลักษณะและพัธุกรรมของตำลึง ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ตำลึงเป็นลักษณะของพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ มีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย อยู่แยกต้นกัน ลักษณะของใบจะไม่สามารถแบ่งแยกเพศได้ จะสามารถรู้เพศได้ต่อเมื่อตำลึงออกดอกแล้ว โดยดอกเพศเมียจะมีกระเปาะเล็กๆ อยู่บริเวณก้านดอก ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นผล ส่วนดอกตัวผู้จะไม่มีกระเปาะ

ลักษณะของใบที่เว้าหรือเต็มใบจะสามารถเจอได้ทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย โดยมาจากลักษณะทางพันธุกรรมของตำลึงเอง ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นต้นตัวผู้หรือตัวเมีย และไม่ว่าจะเป็นใบแบบไหนก็สามารถกินได้ ส่วนที่บอกต่อกันว่าหากกินใบตำลึงตัวผู้จะทำให้ท้องเสีย อาจจะมาจากการล้างทำความสะอาดไม่ดีมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีพืชอีกชนิดที่อาจจะทำให้สับสนกันได้คือ ต้นตำลึงตัวผู้ ซึ่งเป็นคนละชนิดกับตำลึงที่เรากินกัน ลักษณะใบไม่เหมือนกัน เป็นคนละชนิด และมักจะใช้ทำเป็นสมุนไพรมากกว่าเป็นผักรับประทาน



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น