xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรำลึก 46 ปี เหตุการณ์องค์พระธาตุพนมล้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2518 เมื่อ 46 ปีก่อน เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในจังหวัดนครพนม เมื่อ "องค์พระธาตุพนม" พระธาตุเก่าแก่องค์สำคัญแห่งจังหวัดนครพนม ที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในดินแดนอีสานรวมไปถึงชาวลาว ได้ล้มพังทลายลงมาทั้งองค์ เนื่องจากเหตุการณ์ฝนตกหนักและเกิดพายุพัดแรง เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงเป็นอย่างมาก

"พระธาตุพนม" ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีวอก และพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง องค์พระธาตุประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าริมฝั่งโขง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึงพระมหากัสสปะและพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีป และท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง 5 เป็นประธานในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน

ภาพเก่าเมื่อครั้งองค์พระธาตุพนมล้มเมื่อปี 2518 (ภาพ : http://www.watpamahachai.net/)

ภาพเก่าเมื่อครั้งองค์พระธาตุพนมล้มเมื่อปี 2518 (ภาพ : http://www.watpamahachai.net/)
สืบต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมอีกหลายครั้ง อาทิ การบูรณะครั้งที่ 1 ในราว พ.ศ.500 โดยพญาสุมิตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนคร และพระอรหันต์ 5 องค์ เป็นประธาน ในการบูรณะครั้งนั้น ได้เอาอิฐซึ่งเผาให้สุกดีแล้วมาก่อต่อเติมจากยอดพระธาตุพนมองค์เดิมให้สูงขึ้นไปอีกประมาณ 24 เมตร ( สันนิษฐานดูตามลักษณะก้อนอิฐหลังจากองค์พระธาตุพนมหักพังลงแล้ว) แล้วอัญเชิญพระอุรังคธาตุออกจากอุโมงค์เดิมซึ่งทำการบรรจุตั้งแต่สมัยพระมหากัสสปเถระ ขึ้นไปประดิษฐานไว้ใหม่ที่ใจกลางพระธาตุชั้นที่สอง แล้วปิดประตูอย่างมิดชิด หรือสถาปนาไว้อย่างสมบูรณ์

การบูรณะครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2157 โดยพระยานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบูร แห่งเมืองศรีโคตบูรเป็นประธาน การบูรณะครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2236-2245 โดยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครเวียงจันทน์เป็นประธาน การบูรณะครั้งนี้ ได้ใช้อิฐก่อต่อเติมจากพระธาตุชั้นที่สองซึ่งทำการบูรณะใน พ.ศ. 500 ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 43 เมตร ได้มีการปรับปรุงที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุใหม่ โดยสร้างอูบสำริดครอบเจดีย์ศิลาอันเป็นที่บรรจุบุษบกและผอบพระอุรังคธาตุไว้ อย่างแน่นหนา และได้บรรจุพระพุทธรูปเงิน ทอง แก้ว มรกต และอัญมณีอันมีค่าต่างๆ ไว้ภายในอูบสำริดและนอกอูบสำริดไว้มากมาย มีจารึกพระธาตุพนมว่า "ธาตุปะนม" (ประนม) สืบต่อมาใน พ.ศ.2497 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในครั้งนั้นมีการสร้างฉัตรพระธาตุพนมใหม่ทำด้วยทองคำซึ่งเป็นของวัดที่ได้จากประชาชนบริจาค และได้ทำพิธียกฉัตรในปีนั้น

ภาพเก่าเมื่อครั้งองค์พระธาตุพนมล้มเมื่อปี 2518 (ภาพ : http://www.watpamahachai.net/)

ภาพเก่าเมื่อครั้งองค์พระธาตุพนมล้มเมื่อปี 2518 (ภาพ : http://www.watpamahachai.net/)
จากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2518 ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น องค์พระธาตุเกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝน ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลา รอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น ก่อนที่ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2518 ในช่วงเช้า ฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลักซึ่งอยู่กึ่งกลางของด้านตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น

จนถึงเวลาเย็นอิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุส่วนฐานนั้น อิฐร่วงลงมาเป็นระยะๆ องค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด จนเมื่อเวลา 19.38 น. องค์พระธาตุพนมได้หักล้มลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ ทับสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอพระทาง ศาลาการเปรียญ และพระวิหารหอพระแก้วเสียหายหมด
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากฐานหรือพระธาตุชั้นที่ 1 ซึ่งสร้างในสมัยแรกนั้นเก่าแก่มาก และไม่สามารถทานน้ำหนักส่วนบนได้ จึงเกิดพังทลายลงมาดังกล่าว

พระธาตุพนมงามสง่า

ลวดลายงดงามบนองค์พระธาตุ
แม้จะสร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจต่อผู้ที่เคารพศรัทธาต่อองค์พระธาตุ แต่ด้วยพลังแรงศรัทธา ประชาชนจึงได้กันร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2522 โดยลักษณะพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงงดงามเหมือนองค์เดิม มีขนาดฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร และสูง 53.60 เมตร ทางรัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี

ปัจจุบันพระธาตุพนมยังคงงามสง่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน มีผู้มากราบไหว้บูชาทั่วทุกสารทิศ โดยหากใครได้เดินทางมากราบองค์พระธาตุแล้ว ก็อยากให้มาชม “พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุพนม” ที่ได้จัดแสดงโบราณวัตถุอันเก่าแก่ที่เคยบรรจุอยู่ในพระธาตุพนมองค์เดิม รวมถึงผอบสำริดเก่าที่เคยบรรจุพระอุรังคธาตุไว้ให้ได้ชม ไปพร้อมกับกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของพระธาตุพนมด้วย

ข้อมูลจาก http://www.watpamahachai.net/Document12_6.htm

พระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง

ผอบสำริดเก่าที่เคยบรรจุพระอุรังคธาตุ จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น