xs
xsm
sm
md
lg

8 เกร็ดความรู้ "พระสยามเทวาธิราช"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรื่องราวของ "พระสยามเทวาธิราช" กำลังเป็นประเด็นอยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก โดยพระสยามเทวาธิราชนั้นเป็นดังเทวดาที่เชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองประเทศไทยให้รอดผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ มาได้หลายต่อหลายครั้ง

ในวันนี้เราจะขอพาไปทำความรู้จักกับพระสยามเทวาธิราช และได้ทราบเกร็ดประวัติเกี่ยวกับองค์พระสยามเทวาธิราชที่น่าสนใจกัน

1.

ที่มา "พระสยามเทวาธิราช" เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นช่วงที่เหล่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกออกล่าอาณานิคมในซีกโลกตะวันออก โดยสยามก็เป็นเป้าหมายสำคัญของนักล่าอาณานิคมเหล่านั้นด้วย โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ พยายามหาทางจะยึดครองสยามให้ได้ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาวิกฤติก็เกิดเหตุพลิกผันที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้อย่างอัศจรรย์ รัชกาลที่ ๔ ทรงคำนึงว่า น่าจะมีเทพยดาคอยพิทักษ์รักษาประเทศไทยอยู่ก็ได้ สมควรจะสร้างรูปสมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้นเพื่อสักการะบูชา

พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานในพระวิมาน
2.

พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ได้เป็นนายช่างเอกออกแบบเทพยดาองค์นั้นขึ้น มีลักษณะเป็นเทวรูปยืน ทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระในท่าประทานพร มีขนาดสูง 8 นิ้ว หรือ 20 เซนติเมตร เมื่อได้สัดส่วนงดงามเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้หล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ ถวายพระนามว่า “พระสยามเทวาธิราช” องค์พระประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า “ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระวิมานพระสยามเทวาธิราชอยู่ด้านขวา
3.

เดิมเมื่อแรกสร้าง ได้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระพุทธมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระที่นั่งพุทธมหามณเฑียร รวมทั้งพระที่นั่งทรงธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มาจนทุกวันนี้ โดยประดิษฐานอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง


4.

มีความเชื่อกันว่า “พระสยามเทวาธิราช” ทรงเป็นประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเคารพบูชาพระสยามเทวาธิราชเป็นอย่างสูง ทรงถวายเครื่องสักการะเป็นประจำทุกวัน และทรงถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล กับโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 อันตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณด้วย ทั้งเป็นที่ร่ำลือกันว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

พระสยามเทวาธิราช (ซ้าย) เทวรูปที่สร้างตามรูปแบบพระสยามเทวาธิราช แต่มีพระพักตร์เหมือนรัชกาลที่ ๔ (ขวา)
5.

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้สร้างเทวรูปที่เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราชขึ้นอีกองค์หนึ่ง โดยข้อมูลจากมติชนกล่าวว่า "...เป็นพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง จารึกพระปรมาภิไธย ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน"

"...ในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 ได้เผยแพร่เรื่อง การเชิญพระบรมรูปและพระป้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยว่า 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระอนุสรคำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในเวลาที่เสด็จมาประทับอยู่ วังสวนดุสิต ยังไม่มีสิ่งที่จะเป็นที่ทรงนมัสการ รลึกถึงพระเดชพระคุณ จึงทรงพระดำริห์ว่า พระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งมหิศรปราสาท ในพระบรมมหาราชวังนั้น ควรจะเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อจะได้ทรงนมัสการ สักการะบูชาสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวังจัดการเชิญพระป้าย มีพระบรมรูปทรงเครื่องทองคำ'

องค์พระสยามเทวาธิราช
6.

พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่ “พระสยามเทวาธิราช” ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ส่วนเครื่องสังเวยที่ใช้บูชาพระสยามเทวาธิราชตามประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วย หอมจันทร์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม และเทียนเงิน เทียนทอง

ส่วน “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย” นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ กำหนดการแต่เดิมจะสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญก่อน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จะสังเวยในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน เครื่องสังเวยจะเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง

ความสอดคล้องทางความเชื่อและพิธีกรรมของการบูชาพระสยามเทวาธิราช กับการ “ไหว้-พลี” ให้กับ “พระขพุงผี” ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า การบูชา “พระสยามเทวาธิราช” เข้าลักษณะเป็น “พิธีผี” ประการหนึ่ง

“...การเซ่นสังเวยพระสยามเทวาธิราช การสังเวยเทพารักษ์ต่าง ๆ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง เหล่านี้จะเรียกว่าเกี่ยวกับศาสนาใดก็ไม่ได้ เพราะเทวดาเหล่านี้ก็ไม่มีในศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพุทธก็ไม่มี เห็นจะเป็นความเชื่อของคนไทยโดยเฉพาะที่นับถือผีมาตั้งแต่โบราณ...”

ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมืองเมืองนี้ นับเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วในกลุ่มวัฒนธรรมไทยและใกล้เคียง ซึ่งเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ แต่มิใช่บรรพบุรุษของชาวบ้านทั่วไป หากเป็นผีเจ้าเมืองที่เป็นผู้สร้างเมืองและเคยปกครองเมืองมาก่อน และเจ้าเมืองรุ่นหลังก็อันเชิญให้ผีเจ้าเมืองผู้ผูกพันกับชุมชนให้ช่วยปกปักคุ้มครองรักษาบ้านเมือง

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิสกุล ได้ทรงบันทึกเรื่องพระสยามเทวาธิราช มีความตอนหนึ่งว่า “...เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราได้ประสบมาด้วยตนเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็น ๆ ว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นมีจริง เราจงพร้อมใจกันอธิษฐาน ด้วยกุศลผลบุญที่เราทำมาแล้วด้วยดี ขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จงได้ทรงคุ้มครองป้องกันภัย และโปรดประสิทธิ์ประสาทความสมบูรณ์พูนสุข ให้แก่ประชาชนชาวสยามทั่วกันเทอญ...”

สำหรับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เมื่อมีพระราชพิธีบวงสรวงใหญ่พระสยามเทวาธิราช พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จแทนพระองค์มาทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะพระสยามเทวาธิราช และมีละครในจากกรมศิลปากรรำถวายด้วย

การอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชออกจากพระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
7.

ไม่บ่อยครั้งนักที่ประชาชนทั่วไปจะได้มีโอกาสกราบไหว้พระสยามเทวาธิราชอย่างใกล้ชิด โดยในปี 2525 ครบรอบการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้นเสลี่ยงโดยประทับบนพานทอง 2 ชั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังเสด็จฯ กลับ นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชเฉพาะพระพักตร์

พระสยามเทวาธิราชองค์จำลองภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
8.

หากอยากไปกราบไหว้องค์พระสยามเทวาธิราชแบบใกล้ชิด สามารถไปกราบองค์จำลองได้หลายสถานที่ด้วยกัน อาทิ ภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ย่านเทเวศร์ กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องประวัติของวัดเทวราชกุญชร จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณสมัยอยุธยา จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้ง 19 พระองค์ พร้อมประวัติ และมีพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองประดิษฐานไว้ภายในด้วยเช่นกัน

อีกสถานที่หนึ่งก็คือบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยเป็นรูปจำลองพระสยามเทวาธิราชองค์ใหญ่ ความสูง 1.29 เมตร สร้างโดยพระอุทัยธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่ามะไฟ เมื่อ พ.ศ. 2518 และต่อมาประชาชนได้ร่วมกันสร้างบุษบกเป็นที่ประทับ ซึ่งมีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2528

รูปจำลองพระสยามเทวาธิราชองค์นี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภออรัญประเทศ รวมทั้งชาวสระแก้ว เหตุที่มีการสร้างรูปจำลองพระสยามเทวาธิราชขึ้นมานั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์สู้รบกันบริเวณชายแดน ท่านพระครูอุทัยธรรมธารีจึงได้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชองค์นี้ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรียาวนานถึง 7 ปี มาประดิษฐาน ณ ชายแดนจังหวัดสระแก้วเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจแก่พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนอรัญประเทศ ด้วยเชื่อว่าพระบารมีของพระสยามเทวาธิราช จะช่วยปกป้องคุ้มครองชาวอรัญประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยจากการสู้รบที่ปะทะกันอยู่หลายครั้งตามแนวชายแดนนั่นเอง

นอกจากนั้นก็ยังมีพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา และที่สนามกอล์ฟนอร์ธเทิร์น อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

พระสยามเทวาธิราชองค์จำลอง ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ข้อมูลจาก เพจโบราณนานมา และ www.matichon.co.th

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น