xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี" เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหนึ่งเดียวในมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี (ภาพ : เพจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี)
ยังคงอยู่ในช่วงเวลาของการร่วมยินดีกับ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ที่ได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ของไทย โดยถือเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย โดยพิจารณาภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 คือเป็นถิ่นอาศัยทางธรรมชาติในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ โดยมีชนิดพันธุ์สำคัญที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

กลุ่มป่าแก่งกระจานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ เป็นผืนป่าขนาดใหญ่บนเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ต่อเนื่องครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และ 1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

ต้นไม้ใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์ฯ (ภาพ : เพจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี)

สภาพป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี (ภาพ : เพจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี)
ในวันนี้เราจะขอพามาทำความรู้จักกับ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี" ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหนึ่งเดียวแห่งกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักมากเท่ากับอุทยานแห่งชาติอีก 3 แห่ง

"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี" มีเนื้อที่ทั้งหมด 489.31 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 305,820 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านบึง ตำบลบ้านคา กิ่งอำเภอบ้านคา และตำบลท่าเคน ตำบลสวนผึ้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ทางทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ส่วนทิศตะวันตกจดชายแดนประเทศเมียนมาร์

ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ เขาพุน้ำร้อน สูงประมาณ 1,062 เมตร มีพื้นที่ราบบ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบแคบๆ ตามลำห้วยใหญ่เป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และมีคุณค่าทางระบบนิเวศ และที่สำคัญคือเป็นป่าต้นน้ำ โดยเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำภาชี โดยน้ำจากลำห้วยต่างๆ จะไหลมารวมเป็นแม่น้ำภาชีที่ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง แล้วไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย ที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี รวมเป็นแม่น้ำแม่กลอง แล้วไหลย้อนมาผ่านตัวจังหวัดราชบุรี

ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า บริเวณ?ป่าตอนบนห้วยอะนะ-วังโค (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า บริเวณ?ป่าตอนบนห้วยอะนะ-วังโค (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ด้วยลักษณะภูมิประเทศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้เกิดชนิดป่าหลายชนิดกระจายอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงต่างๆ กัน ประกอบด้วยป่า 4 ประเภทคือ 1. ป่าดิบชื้น (Evergreen Forest) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 27,523.8 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ โดยมีการกระจายอยู่ทางตอนใต้และตะวันตกของพื้นที่และบริเวณลำห้วยสายใหญ่ๆ กระจายอยู่ในหลายระดับความสูง เช่น บริเวณ ลำห้วยพุน้ำร้อน ห้วยต้องกินเจ้า ห้วยพุระกำ และหุบเขาจมูก เป็นต้น สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่จะรกทึบ ประกอบไปด้วย ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หวายและเถาวัลย์ชนิดต่างๆ อาทิ ตะเคียนทอง กระบาก หว้า กระทุ่มน้ำ นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และเฟิร์นอีกหลายชนิด

2. ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 204,899.4 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 67 ของพื้นที่ พบกระจายอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้เรือนยอดที่เด่น อาทิ สมพง ยางนา กร่าง ข่อยหนาม ตาเสือ ฯลฯ ส่วนไม้ชั้นรองและไม้พุ่มที่ปรากฏในป่าชนิดนี้ ได้แก่ มะปริง พลองขาว มะเดื่อปล้อง มีกล้วยป่า เฟิร์นและหวาย กระโถนฤาษี ขนุนดิน เป็นไม้พื้นล่าง

3. ป่าเบญจพรรณ (Deciduous Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 55,047.6 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 ของพื้นที่ พบตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ เป็นป่าโปร่งประกอบด้วยไม้ขนาดกลางจำนวนมากพันธุ์ไม้ที่สำคัญ อาทิ ตะแบก เสลา ประดู่ มะค่าโมง ขี้อาย แดง เก็ดดำ ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างประกอบด้วย สาบเสือ หญ้า เถาวัลย์ต่างๆ และไม้ไผ่ชนิดต่างๆ เช่น ไผ่รวก ไผ่ป่า ไผ่บง

เจ้าหน้าที่เขตฯ วัดรอยเท้าสัตว์ (ภาพ : เพจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี)

เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (ภาพ : เพจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี)
4. ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 18,349.2 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6 ของพื้นที่ ป่าชนิดนี้จะพบทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ถัดจากป่าเบญจพรรณออกมา ดินจะมีลักษณะเป็นทรายและลูกรัง ไม้เด่นขององค์ประกอบโครงสร้างของป่าชนิดนี้ได้แก่ ไม้เต็ง รัง เหียง พลวง กว้าว พะยอม ส่วนไม้วงศ์อื่นๆ ที่พบ เช่น มะขามป้อม รักเขา ไข่เต่าตะแบกแดง เป็นต้น

สิ่งที่โดดเด่นของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีก็คือมีสัตว์ป่าต่างๆ ที่หายาก ไม่ว่าจะเป็นสมเสร็จ เก้งหม้อ โดยส่วนใหญ่พบบริเวณตอนล่างของพื้นที่เขตฯ ส่วนเลียงผาจะพบในบริเวณภูเขาสูงชันทั่วไปของพื้นที่เขตฯ อีกทั้งยังพบกระทิง หมี วัวแดง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าดิบแล้งตอนล่างของเขตฯ ส่วนเสือ เก้ง กวาง และสัตว์เล็กๆ พบกระจายทั่วไปของพื้นที่ โดยสามารถแยกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 93 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 11 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 31 ชนิด และปลา 21 ชนิด

เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ  (ภาพ : เพจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี)
อีกทั้งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชียังเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ โดยสามารถพบเห็นนกได้หลายชนิด เช่น นกแก้ว นกแกง นกกาฮัง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล นกแซวสวรรค์ นกแก๊ก พบในบริเวณลำห้วยสวนพลู ลำห้วยพุน้ำร้อน นกจาบคาเคราสีน้ำเงิน นกจาบคาเคราแดง พบในบริเวณเขตฯ และหลังสำนักงานเขตฯ และนกชนิดอื่นๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 186 ชนิด (ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า)

ความโดดเด่นทางความหลากหลายของสัตว์ป่านี้เองที่มีส่วนทำให้ยูเนสโกพิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน อันรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ลำดับที่ 6 ของเมืองไทย

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น