อีกไม่กี่วันก็จะถึงฤดูกาลเข้าพรรษา ซึ่งในปีนี้ วันเข้าพรรษาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2564
สำหรับในปีนี้ นับว่าเป็นเทศกาลเข้าพรรษาที่เงียบเหงาเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรง และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จึงต้องมีมาตรการหลายๆ อย่างออกมาเพื่อจำกัดการเดินทาง รวมถึงไม่ให้มีการพบปะกันของผู้คนเป็นจำนวนมาก การทำบุญตามวัดในช่วงวันเข้าพรรษา หรือประเพณีต่างๆ ที่เคยจัดขึ้น ในปีนี้จึงอาจจะมีการงดจัดงานหรือเปลี่ยนรูปแบบไป
อย่างไรก็ตาม งานประเพณีวันเข้าพรรษาในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ล้วนเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่า แต่ละงานได้รับการสืบสานและส่งต่อกันมาทั้งในชุมชนและระดับประเทศ
มารู้จักกับ “5 ประเพณีเข้าพรรษา” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนให้ไปทำบุญและชมประเพณีที่สืบสานกันมายาวนาน
“ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี” จ.อุบลราชธานี
ถือว่าเป็นงานประเพณีที่โด่งดังระดับประเทศ ในแต่ละปีมีผู้คนมากมายตั้งใจจะไปรอชมขบวนแห่เทียนอันงดงามวิจิตร แต่เดิมงานแห่เทียนอุบลฯ ไม่ได้จัดใหญ่โตเช่นในปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมามัดติดกับลำไม้ไผ่ มีการตกแต่งเล็กน้อยแล้วจึงแห่ไปถวายวัด สมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา เพียงแต่ชาวบ้านมักจะร่ำลือกันว่าเทียนของคุ้มวัดนี้สวยงาม ต่อมาจึงจะมีการจัดประกวดเทียนพรรษา แล้วแห่รอบเมืองก่อนจะนำไปถวายวัด
งานแห่เทียนอุบลฯ ในปัจจุบัน จะมีการประกวดเทียนพรรษา 3 ประเภท คือ ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และประเภทเทียนโบราณ โดยแต่ละคุ้มวัดจะมีชาวบ้านมารวมตัวกันประดิษฐ์เทียนพรรษาในรูปแบบต่างๆ จากนั้นจะมีการประกวดเทียนพรรษา และแห่ไปรอบๆ เมืองให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงาม
สำหรับในปีนี้ ยังคงมีการจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้ได้รับชมกันไปแบบออนไลน์ โดยปีนี้มีคำขวัญว่า "ยลเทียน(เข้า)พรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" สามารถชมแบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 22-28 ก.ค. 64 ซึ่งในวันที่ 25 ก.ค. จะมีพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทาน ณ วัดมหาวนาราม ติดตามได้ที่ Facebook : แห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี
“ประเพณีแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง” จ.สุรินทร์
คิดถึงจังหวัดสุรินทร์ ก็ต้องคิดถึงช้าง ที่นี่มีหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดไปแล้ว โดยเฉพาะงานประเพณีประจำจังหวัดที่มักจะมีช้างเป็นส่วนร่วมด้วย อย่างช่วงเข้าพรรษา ก็ยังมีการแห่เทียนพรรษาที่สวยงาม มีขบวนแห่ช้าง และจะมีการตักบาตรบนหลังช้าง ซึ่งถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก
การตักบาตรบนหลังช้าง พระสงฆ์จะขึ้นนั่งบนหลังช้าง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญใส่บาตร รวมถึงบริจาคเงินทำบุญให้กับช้าง โดยการตักบาตรบนหลังช้างมักจะจัดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา (ก่อนวันเข้าพรรษา)
สำหรับปีนี้ ทางจังหวัดงดการจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด
“ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ” คลองลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา
มีการจัดขบวนเรือแห่เทียนพรรษาทางน้ำ บริเวณคลองลาดชะโด อ.ผักไห่ ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ จะตกแต่งเรือแต่ละลำอย่างสวยงาม มีเทียนพรรษาที่ตกแต่งด้วยดอกไม้และของตกแต่งต่างๆ โดยขบวนเรือแห่จะมีขึ้นในวันอาสาฬหบูชา มีการร้องรำทำเพลงไปตลอดเส้นทาง
ระหว่างทางจะได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน การยกยอ ท้องทุ่งนาที่เขียวขจี มีการประกวดและการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ได้บรรยากาศแบบย้อนยุคกลางสายน้ำ
สำหรับปีนี้ ทางชุมชนแจ้งว่างดจัดงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
“ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน” จ.สระบุรี
“ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก อันงดงามเป็นเอกลักษณ์ของชาวพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทฯ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพบูชา
ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นมรดกประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความสำคัญของชาวจังหวัดสระบุรีและประเทศไทย ที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีชาวอำเภอพระพุทธบาทจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตร กระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม โดยหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น
หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และในระหว่างที่ พระภิกษุสงฆ์เดินลงจากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระบาปของตนด้วย
ในปีนี้ ทางวัดพระพุทธบาท ประกาศงดจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
“ประเพณีใส่บาตรเทียน” จ.น่าน
ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งวัดบุญยืน อ.เวียงสา จ.น่าน ถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นประเพณีที่มีทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ใส่บาตรร่วมกัน โดยเอกลักษณ์ของประเพณีคือการใส่บาตรด้วยเทียน
ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรทุกรูปในเวียงสา ได้กำหนดเอาวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น
ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้ นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ - สามเณร
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางวัดจึงยังไม่มีกำหนดการจัดงานในปีนี้
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline