xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุด 20 สิ่งห้ามพลาด เมื่อมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


20 สิ่งห้ามพลาด เมื่อมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
วัดวาอารามและสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานั้นมีอยู่มากมายหลายแห่งในประเทศไทย แต่ละสถานที่ย่อมมีเรื่องราวและประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน อย่างที่ “องค์พระปฐมเจดีย์” หรือที่ชาวนครปฐมมักเรียกกันติดปากว่า “องค์พระ” ตั้งอยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ต.องค์พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงอย่างยาวนาน

ภายในองค์พระปฐมเจดีย์มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมาย วันนี้จึงได้รวบรวม “20 สิ่งห้ามพลาด เมื่อมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์” มาให้ทุกคนได้ชมกัน

องค์พระปฐมเจดีย์ พระมหาเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
องค์พระปฐมเจดีย์
“องค์พระปฐมเจดีย์” ถือเป็นพระมหาเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เดิมมีชื่อเรียกว่า “พระธมเจดีย์” ประวัติความเป็นมาขององค์พระปฐมเจดีย์มีมาอย่างยาวนานย้อนกลับไปถึงยุคสุวรรณภูมิ คาดว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ องค์พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงระฆังคว่ำ โครงสร้างเดิมเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ ก่อด้วยอิฐ ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ขณะที่ทรงยังผนวชได้ธุดงค์และพบองค์พระปฐมเจดีย์ที่อยู่ในสภาพเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม

พระร่วงโรจนฤทธิ์
พระร่วงโรจนฤทธิ์
“พระร่วงโรจนฤทธิ์” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว และพระบาทไม่เสมอกัน เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดนครปฐมและพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มของพระร่วงโรจนฤทธิ์ก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า “หลวงพ่อพระร่วง” หรือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์”

พระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ
“พระบรมสารีริกธาตุ” ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านทิศตะวันออก หรือ พระวิหารหลวง โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะอัญเชิญมาประดิษฐานด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสรงน้ำสักการะ

ชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ในวิหารแต่ละหลังของวัดแห่งนี้ จะมี “ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง” ที่งดงามอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่วาดให้เห็นด้านในขององค์พระเจดีย์ที่หาชมได้ยากในวิหารหลวงด้านทิศใต้ ตั้งแต่ในอดีตที่เป็นสถูปมียอดปรางค์ จนเป็นทรงระฆังอย่างในปัจจุบัน หรือจะเป็นภาพเทพชุมนุมที่มีรูปร่างหน้าตา สรีระ และท่าทางที่มีความสมจริง ก็มีความงดงามไม่แพ้กัน

ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง-ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง
“ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง” ตั้งอยู่ด้านนอกพระระเบียงคด บริเวณทางลงมีลักษณะคล้ายถ้ำที่สร้างขึ้นเมื่อเดินลงมาจะพบศาลเจ้าพ่อปราสาททองที่เป็นศาลเจ้าจีน ประดับด้วยเครื่องบูชาเพื่ออานิสงส์การถวายดอกบัวและธงชัย


ศาลเจ้าพ่อเสือ
“ศาลเจ้าพ่อเสือ” ตั้งอยู่ด้านนอกพระระเบียงคด บริเวณใกล้กับศาลเจ้าพ่อปราสาททอง

พระแม่อุมามหาเทวี
พระแม่อุมามหาเทวี
บริเวณใกล้กับศาลเจ้าพ่อปราสาททองและศาลเจ้าพ่อเสือ จะพบกับ “พระแม่อุมามหาเทวี” สามารถเดินเข้ากราบไหว้ขอพรกันได้

ถ้ำตะเคียนทอง
ถ้ำตะเคียนทอง
“ถ้ำตะเคียนทอง” นั้นจะมีทางเดินที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อเข้าไปด้านในแล้วจะมีทางเดินแยกเป็นสองทางคือ ถ้ำมหาโชคและถ้ำน้ำทิพย์

สมเด็จพุทธาจารย์โต
สมเด็จพุทธาจารย์โต
ภายในถ้ำตะเคียนทองยังเป็นที่ประดิษฐานของ “สมเด็จพุทธาจารย์โต” ด้วย ใครที่ไปเยือนองค์พระปฐมเจดีย์แล้วก็อย่าลืมเข้าไปกราบสักการะขอพรกัน

ประดิษฐานของเจ้าแม่ตะเคียนทอง
ถ้ำมหาโชค
หากใครเข้าไปภายในถ้ำตะเคียนทองและเดินเลี้ยวไปทางด้านซ้ายจะเป็นถ้ำมหาโชค จะเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่ตะเคียนทอง

ถ้ำน้ำทิพย์ มีแม่พระธรณีอยู่ภายในถ้ำ
ถ้ำน้ำทิพย์
และเมื่อเข้าไปในถ้ำตะเคียนทองแล้วเดินเลี้ยวไปทางขวาจะเป็น ถ้ำน้ำทิพย์ มีแม่พระธรณีอยู่ภายในถ้ำ

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์
พิพิธภัณฑ์
“พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์” ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระอุโบสถ และนอกจากโบราณวัตถุต่างๆ ที่เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหลซึ่งเป็นสุนัขที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปราน และโต๊ะหมู่บูชาซึ่งในพิธีศพ

ตุ๊กตาจีน
ตุ๊กตาจีน
"ตุ๊กตา" จีนได้เข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวจีนได้โล้สำเภานำสินค้ามาขายที่ประเทศไทย โดยตุ๊กตาจีนจะใช้ในการถ่วงเรือสินค้าไม่ให้โคลงเคลงเมื่อเจอลมพายุ จนเมื่อพ่อค้ามีมาก ตุ๊กตาจีนจึงมีมากตามไปด้วย รัชกาลที่ 3 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดับไว้ตามวัดต่างๆ

พระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปปางต่างๆ
โดยรอบขององค์พระปฐมเจดีย์จะมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ตั้งอยู่ล้อมรอบ ซึ่งจะมีป้ายข้อมูลติดไว้บริเวณพระพุทธรูปทุกปาง เพื่อให้อ่านละเข้าใจง่ายขึ้น

สถูปจำลองพระปฐมเจดีย์องค์เก่า
สถูปจำลองพระปฐมเจดีย์องค์เก่า
พระปฐมเจดีย์ถูกสร้างและบูรณะใหม่แล้วถึง 4 ครั้ง โดยได้สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นเจดีย์ในรูปแบบปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเราจะเห็นรูปทรงของเจดีย์ในยุคก่อนได้จากเจดีย์จำลององค์นี้ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์

หลวงพ่อประทานพร
อุโบสถหลวง/หลวงพ่อประทานพร
พระอุโบสถหลวง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่บูรณะในรัชกาลที่ 7 โดยสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภายในมีพระประธานที่มีพระพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปทางด้านทิศใต้ มีพระนามว่า “หลวงพ่อประทานพร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำมาจากศิลาขาวขนาดใหญ่

ระเบียงคดที่อยู่รอบฐานเจดีย์
ระเบียงคด
รอบฐานเจดีย์มี “ระเบียงคด” ล้อมรอบเป็นวงกลม ที่ระเบียงคตตรงทิศทั้งสี่ มีวิหารประจำทิศ ถัดเข้าไปเป็นลานประทักษิณ แล้วเป็นฐานเป็นชั้นขึ้นไปจนถึงฐาน

ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
ด้านข้างของวิหารหลวงมี ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ประดิษฐานอยู่

พระพุทธรูปศิลาขาว
พระพุทธรูปศิลาขาว
พระพุทธรูปศิลาขาว เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีปางปฐมเทศนา ประทับนั่งห้วยพระบาท มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาสามเท่า ขุดพบสี่องค์ที่วัดพระเมรุ ซึ่งเป็นวัดเก่าสมัยทวารวดี มีอายมากว่าหนึ่งพันปี ตั้งอยู่ที่สวนนันทอุทยาน ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมือง ฯ ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก

พระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์ ยาว 17 เมตร ที่มีความงดงามมากองค์นี้ รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารด้านตะวันตก

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น