เข้าสู่ฤดูฝนที่อากาศเริ่มจะเย็นฉ่ำ (แม้ในบางวันจะมีอากาศร้อนสุดๆ) ก็คิดถึงวิวสวยๆ และความเขียวขจีของป่าเขา ความจริงแล้วในช่วงกรีนซีซันแบบนี้ การขึ้นเหนือไปแอ่ว “น่าน” ก็เป็นอีกเป้าหมายของหลายๆ คน เพราะเมืองน่านนั้นรุ่มรวยด้วยเสน่ห์ของล้านนา ประกอบกับวิวสวยและธรรมชาติรอบๆ ตัว แต่ในช่วงที่สถานการณ์โควิดยังแพร่ระบาดแบบนี้ เลยทำได้แค่เที่ยวผ่านหน้าจอ
จึงขอรวบรวม “10 วัดสวยเมืองน่าน” มาให้ชมกัน แต่ละวัดก็มีความงามที่เป็นเอกลักษณ์ มีประวัติความเป็นมา มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน และยังอยู่ท่ามกลางความสวยสดของธรรมชาติรอบๆ ตัว
วัดพระธาตุแช่แห้ง (อ.ภูเพียง)
เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน พระธาตุแช่แห้งถือเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย องค์พระธาตุเป็นแบบล้านนาสีทองสุกปลั่ง เล่ากันว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย และบริเวณด้านข้างองค์พระธาตุยังเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามให้ได้สักการะเป็นสิริมงคลกัน
วัดภูมินทร์ (อ.เมือง)
วัดงามโดดเด่นแห่งเมืองน่าน ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว ที่เป็นไฮไลท์คือในพระวิหารมี “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีทองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน (หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 นอกจากนั้นภาพจิตรกรรมฝาผนังของที่นี่ยังมีความโดดเด่น โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่อยู่ใกล้กับประตูทิศตะวันตก ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก ที่ใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (อ.เมือง)
เดิมชื่อ “วัดหลวงกลางเวียง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ภายในมีวิหารขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป นามว่า “หลวงพ่อพระเจ้าหลวง” ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่ในลักษณะของฐานรองรับไว้รอบด้าน คาดกันว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากศิลปะของสุโขทัย เช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ส่วนด้านข้างพระวิหารเป็น “หอพระไตรปิฎก” ที่มีสถาปัตยกรรมเดียวกันกับวิหารหลวง ปัจจุบัน ภายในหอพระไตรปิฎกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงามนามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี”
วัดมิ่งเมือง (อ.เมือง)
วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองน่านขนาดสูง 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง นอกจากนั้นความงามโดดเด่นของวัดมิ่งเมืองยังอยู่ที่ลวดลายปูนปั้นสีขาวของพระอุโบสถซึ่งมองเผินๆ อาจคล้ายกับวัดร่องขุ่น แต่ถ้าสังเกตอย่างละเอียดก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป โดยเป็นงานฝีมือตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน
วัดศรีพันต้น (อ.เมือง)
วัดนี้มีโบสถ์ที่โดดเด่นไปด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรประดับอยู่บริเวณหน้าบัน ในลักษณะเดียวกับวัดมิ่งเมือง แต่งานปูนปั้นที่วัดนี้ทาสีทองเหลืองอร่าม อีกทั้งยังมีบันไดนาค 7 เศียรที่แกะสลักได้อย่างงดงามวิจิตร ขณะที่ภายในโบสถ์นั้นเด่นไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง “พงศาวดารเมืองน่าน” เขียนแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองน่านที่ตีความร้อยเรียงออกมาได้อย่างน่าสนใจ
วัดพระธาตุเขาน้อย (อ.เมือง)
เป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ซึ่งด้านในนั้นบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และนอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวสวยๆ ของเมืองน่าน ที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” ทำให้ภาพเมืองน่านและด้านหลังของพระพุทธรูปองค์นี้กลายเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแสงสวยๆ ยามเช้าตรู่หรือยามค่ำ หรือแม้แต่ในยามกลางวันที่สามารถเห็นเมืองน่านได้อย่างเต็มตา
วัดศรีมงคล (อ.ท่าวังผา)
จากทางเข้าวัดจะพบซุ้มประตูโขงไม้สักอันงดงาม ศิลปะล้านนา ผ่านซุ้มประตูเข้าไปจะมองเห็นเจดีย์และวิหารหลวง ส่วนทางเข้าวิหารจะต้องเดินอ้อมมาด้านหลังซึ่งเป็นลานชมวิวทุ่งนาที่สวยงาม พระประธานด้านในวิหารหลวงมีอายุร้อยกว่าปี ทั้งยังมีธรรมาสน์เก่าแก่ที่สวยงาม รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แม้จะวาดขึ้นใหม่ แต่ก็มีความงดงามในสไตล์ดั้งเดิมคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ส่วนจุดชมวิวด้านนอกจัดเป็นมุมถ่ายรูปสวยๆ ชมวิวทุ่งนาด้านล่าง
วัดภูเก็ต (อ.ปัว)
ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาของหมู่บ้านเก็ต จึงเป็นที่มาของชื่อวัดภูเก็ต ตัวอุโบสถงดงามตั้งอยู่กลางลานวัดกว้าง เป็นทรงล้านนาประยุกต์ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อแสนปัว” หรือ “หลวงพ่อพุทธเมตตา” เมื่อเข้าไปไหว้พระด้านในแล้วจึงออกมาชมวิวบริเวณลานวัดที่ทางวัดทำเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นวิวรอบๆ ได้อย่างกว้างไกล
วัดต้นแหลง (อ.ปัว)
วัดมีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี ตัววิหารศิลปะแบบไทลื้อหลังคาลดหลั่นสามชั้นสวยงามคลาสสิกจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยล้านนา ประจำปี 2552 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานนามว่าหลวงพ่อมหานิโคตรฤกษ์ ทั้งยังมีธรรมาสน์เก่าแก่คู่วัดที่ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่
วัดหนองบัว (อ.ท่าวังผา)
เป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ. 2405 ภายในวัดเป็นที่ตั้งของวิหารไทลื้อแบบ “เตี้ยแจ้” ที่งดงามและเรียบง่าย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวิหารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยลื้อที่สมบูรณ์ ภายในวิหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามเล่าเรื่องในปัญญาชาดกซึ่งเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และพื้นที่ด้านหลังวัดก็มีบ้านไทลื้อจำลองบอกเล่าการกินอยู่ของคนไทลื้อสมัยก่อนให้ได้ชมกัน
นอกจาก 10 วัดสวยด้านบนนี้แล้ว ที่ “น่าน” ก็ยังมีที่เที่ยวสวยๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเขาไปชมธรรมชาติ ดูดอกไม้ตามฤดูกาล ไปชิมของอร่อย หรือไปสัมผัสวิถีชาวน่าน รอให้ถึงวันที่สถานการณ์คลี่คลาย จะได้ออกไปเที่ยว ไปแอ่วเมืองน่านให้หายคิดถึง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline