xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "ชาวไทยเบิ้ง" กับวิวสวยๆ ของพนังกั้นน้ำ-ทางรถไฟลอยน้ำบ้านโคกสลุง ลพบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชุมชนไทยเบิ้งจากมุมสูง (ภาพ : thaibuengkhoksalung.com/)
เมื่อ 2-3 เดือนก่อน หลายคนอาจเห็นภาพสวยๆ ของใหม่ ดาวิกา และเต๋อ ฉันทวิชช์ คู่รักดาราที่โพสต์ภาพวิวงามๆ ของ "พนังกั้นน้ำโคกสลุง" และ "ทางรถไฟโคกสลุง" ใน ต.โคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก (ปรับปรุงพนังกั้นน้ำโคกสลุง) และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟขบวนท้องถิ่นวิ่งระหว่างชุมทางบัวใหญ่-ชุมทางแก่งคอย หรือทางรถไฟลอยน้ำเขื่อนป่าสักฯ ภาพวิวบริเวณนี้สวยงามจนทำเอาชาวเน็ตอยากไปตามรอย

ไม่เพียงวิวทิวทัศน์ที่สวยงามเท่านั้น ที่บ้านโคกสลุงยังมีวิถีชีวิตท้องถิ่นที่น่าสนใจ โดยบ้านโคกสลุงตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำป่าสัก ห่างจากสันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขึ้นไปทางเหนือราว 14 กิโลเมตร โดยชุมชนแห่งนี้มีมาก่อนการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นานนับ 100 ปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ "ไทยเบิ้ง" หรือไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช ซึ่งเดิมอพยพมาจากกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน และมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ในพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสำโรง อำเภอสระโบสถ์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และยังตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์และบุรีรัมย์



เครื่องแต่งกายของชาวไทยเบิ้ง  (ภาพ : เพจชุมชนวัฒนธรรมไทเบิ้งบ้านโคกสลุง)
ชาวไทยเบิ้ง มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายกลุ่มชนไทยภาคกลาง แต่ยังมีภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน การละเล่น การทอผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนอยู่ อย่างแรกเลยก็คือการพูดภาษาที่เป็นแบบไทยภาคกลาง แต่สำเนียงเหน่อแบบโคราช มีบางคำเป็นคำเฉพาะของไทยเบิ้งโคกสลุง และมักลงท้ายคำพูดว่า เบิ้ง เหว่ย ด๊อก หรือ เด้อ โดยเฉพาะคำว่า "เบิ้ง" จะเป็นคำติดปากเสมอ จนเป็นที่มาของชื่อ "ไทยเบิ้ง"

ส่วนการแต่งกายของชาวไทยเบิ้งก็เป็นเอกลักษณ์ที่ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนยังคงแต่งอยู่ โดยผู้หญิงจะนิยมตัดผมทรงดอกกระทุ่ม ใส่เสื้อเสื้ออีหิ้ว ที่มีลักษณะเหมือนเสื้อสายเดี่ยว นุ่งผ้าโจงกระเบนหรือผ้าโต่ง (ผ้าถุง) มีผ้าขาวม้าเป็นสไบเฉียง ส่วนผู้ชายใส่เสื้อคอกลมผ้าป่าน นุ่งผ้าโจงกระเบน หรือกางเกงขาก๊วย บางคนนุ่งผ้าตาหมากรุก มีผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือเคียนเอว และสะพายย่ามอันเป็นเอกลักษณ์  แถมยังนามสกุลยังมีคำว่า "สลุง" อีกด้วย

หญิงชาวไทยเบิ้งกับเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ (ภาพ : thaibuengkhoksalung.com/)

อาหารท้องถิ่นชาวไทยเบิ้ง (ภาพ : thaibuengkhoksalung.com/)
อาหารเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง ที่เน้นอาหารแบบเรียบง่าย ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลจากธรรมชาติมาผลิตและปรุงอาหาร เน้น “กินปลาเป็นหลักกินผักเป็นพื้น” ไม่นิยมกินอาหารใส่กะทิหรือทอด โดยอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง เช่น "พริกกะเกลือ" เป็นน้ำพริกชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบคือพริกป่น เกลือ ใบมะกรูด กระเทียม และกำจัด (สมุนไพรชนิดหนึ่ง) ตำปนกันให้ละเอียด สามารถเป็นพื้นฐานของอาหารหลายๆ อย่าง อาทิ คลุกข้าวห่อใบตอง ทำแกงนอกหม้อ (คล้ายห่อหมกแต่ใช้การปิ้งแทนการนึ่ง) หรือจะเป็นเครื่องจิ้มอาหารหรือผลไม้ "เครื่องดำ" ประกอบด้วย พริกแห้ง ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม ข่า กำจัด โขลกให้เข้ากันแล้วนำไปคั่วให้หอมเกรียม ใช้สำหรับอาหารประเภทต้มหรือลาบ

นอกจากนั้นก็ยังมีเมนูท้องถิ่นอย่างแกงหัวลาน แกงสามสิบ แกงบุก แกงมันนก แกงบอน แกงไข่น้ำ แกงแย้เหมือดเปราะ ต้มไก่บ้านเครื่องดำใส่ใบมะขามอ่อน เป็นต้น

ภาพมุมสูงของสถานีรถไฟโคกสลุงและเส้นทางรถไฟลอยน้ำเขื่อนป่าสักฯ จากเพจ MonkeyTopview ซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอภาพมุมสูง ในจังหวัดลพบุรี เปิดมุมมองใหม่ที่เราไม่เคยเห็น สนับสนุนการท่องเที่ยว จ.ลพบุรี
ชาวไทยเบิ้งอยู่อาศัยในบริเวณนี้มาก่อนการสร้างเขื่อนป่าสักนานนับร้อยปี หลังมีการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ทำให้วิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งเปลี่ยนไป ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เข้ามาทำให้วิถีชีวิตความเป็นไทยเบิ้งหายไปด้วย ทางชุมชนจึงร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมา ผ่าน "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง" ที่จัดจำลองบ้านเรือนแบบไทยเบิ้ง ภายในเรือนจัดเป็นห้องต่างๆ จำลองบรรยากาศให้เหมือนกับการอยู่อาศัยจริง ใต้ถุนเรือนจะเป็นที่แสดงเครื่องมือหาปลา เครื่องมือดักสัตว์ และหัตถกรรมจากไม้ไผ่ ส่วนเพิงอีกสองหลังปลูกไว้จัดแสดงเครื่องมือเกี่ยวกับการทำนา เช่น ไถ ครกตำข้าว รวมถึงยังร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ด้านอาหาร การทอผ้า การแสดง และงานประเพณีต่างๆ ด้วย

ส่วนการท่องเที่ยวในสำหรับตำบลโคกสลุงนั้น ภายในชุมชนมี "วัดโคกสลุง" หรือวัดโคกสำราญ เป็นวัดสำคัญในชุมชน และในหมู่บ้านโคกสลุงยีงมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เพราะอยู่ติดกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหลังจากสร้างเขื่อนแล้วสภาพพื้นที่อยู่ต่ำกว่าเขื่อน จึงต้องสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันหมู่บ้าน พนังกั้นน้ำดังกล่าวจึงกลายเป็นจุดท่องเที่ยวและจุดชมวิวทางรถไฟลอยน้ำ และวิวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่สวยงาม อีกทั้งยังเป็นจุดกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการแคมปิ้งอีกด้วย

ส่วนเส้นทางรถไฟลอยน้ำนั้น ในตำบลโคกสลุงมี "สถานีรถไฟโคกสลุง" ซึ่งเป็นจุดจอดรถไฟขบวนท้องถิ่นที่วิ่งระหว่างชุมทางบัวใหญ่-ชุมทางแก่งคอย โดยสถานีโคกสลุงจะอยู่ระหว่างสถานีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และสถานีสุรนารายณ์ ในแต่ละวันจะมีรถไฟวิ่งผ่านเพียงไม่กี่เที่ยว เส้นทางรถไฟในบริเวณนี้จะวิ่งเลียบเขื่อนป่าสัก มีทัศนีภาพที่สวยงามมาก นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปเดินถ่ายรูปบนทางรถไฟ รวมถึงถ่ายรูปอยู่บริเวณด้านล่างของเสาตอม่อรถไฟอีกด้วย

ใหม่-เต๋อ  กับพนังกั้นน้ำโคกสลุง และทางรถไฟลอยน้ำ
#################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น