ช่วงนี้หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ "สะพานเขียว" อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากกำลังมีข่าวโครงการที่จะฟื้นฟูสะพานเขียวซึ่งเป็นเส้นทางลอยฟ้าเดิน วิ่ง ปั่น เชื่อมสวนลุมพินี (บริเวณทางออกฝั่งถนนวิทยุ) กับสวนเบญจกิติ ด้วยงบกว่า 200 ล้านบาท
แต่สำหรับคนที่อาจยังไม่เคยได้ยิน หรือเคยได้ยินเพียงผ่านๆ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ "สะพานเขียว" ไปพร้อมๆ กัน
1.
"สะพานเขียว" เป็นโครงการสกายวอล์กแห่งแรกๆ ของกรุงเทพฯ โดยเป็นเส้นทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยานลอยฟ้า เชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ โดยเชื่อมต่อจากประตูสวนลุมพินี ทางออก สน.ลุมพินี และไปสิ้นสุดบริเวณด้านหลังโรงงานยาสูบ ระยะทาง 1,300 เมตร ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 แต่มีคนรู้จักหรือใช้งานน้อยกว่าที่ควร
2.
ตลอดเส้นทางของ “สะพานเขียว” ตัดตรงผ่านพื้นที่ที่มีความซับซ้อนในเชิงมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งจากบริเวณใจกลางแหล่งสำนักงานและพาณิชยกรรมที่เต็มไปด้วยกลุ่มนักธุรกิจและคนทำงาน และย่านที่อยู่อาศัยหลากหลายระดับตั้งแต่บริเวณซอยร่วมฤดี สู่ย่านชุมชนร่วมฤดี หลังโบสถ์มหาไถ่ ในละแวกใกล้เคียงกับมัสยิดอินโดนีเซีย ตัดผ่านข้ามทางด่วนเฉลิมมหานครแล้วเริ่มเข้าสู่บรรยากาศแห่งความสงบของธรรมชาติอีกครั้งบริเวณด้านหลังของโรงงานยาสูบ
3.
สะพานเขียวทำหน้าที่เชื่อมเส้นทางเดินและจักรยานผ่านหลังคาบ้านเรือนนับร้อย มีการใช้งานอย่างพลุกพล่านเพียงช่วงเวลาเช้าตรู่และยามเย็น แต่แทบไร้การใช้งานในช่วงกลางวัน เนื่องจากไม่มีร่มเงากันแดดกันฝน ส่วนช่วงกลางคืนนั้นก็ถือว่าเป็นจุุดเปลี่ยว เนื่องจากแสงไฟไม่เพียงพอและมีทางเข้าออกเพียง 6 จุด ในระยะห่างกัน
4.
ต่อมาในปี 2563 สำนักการโยธา กทม. ได้รับอนุมัติจัดสรรงบปี 2562 เป็นเงิน 39 ล้านบาทเพื่อมาปรับปรุงสะพานเขียวจากที่สภาพทรุดโทรม อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย พื้นผิวทางมีสภาพชำรุดเป็นหลุมบ่อเป็นวงกว้าง ลูกกรงเหล็กรั้วและราวสเตนเลสบางช่วงชำรุดเสียหาย ไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดและแสงสว่างไม่เพียงพอ ปรับปรุงให้มีความร่มรื่น น่าเดิน สวยงาม และสะดวกขึ้น
5.
ภาพของสะพานเขียวโฉมใหม่ที่เผยแพร่ออกไป หลายๆ คนต่างบอกว่าถ่ายรูปออกมาแล้วมีบรรยากาศคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับช่วงนั้นโรคโควิดกำลังระบาด เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ได้ ทำให้ใครหลายคนไปเดินเที่ยวถ่ายรูปกับที่สะพานเขียวให้ได้ฟีลไปเที่ยวญี่ปุ่นมาอวดกันในโซเชียล รวมถึงดารานักแสดงหลายๆ คน อาทิ ใหม่ ดาวิกา เต๋อ ฉันทวิชช์ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์หลายๆ คนซึ่งส่งผลให้สะพานเขียวเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
6.
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดสำนักการโยธาจะของบประมาณปี 2564 จำนวน 260 ล้านบาท ปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางจักรยานเชื่อมระหว่างสวนลุมพินี-สวนเบญจกิติ เพิ่มเติมอีก 300 เมตร รวมเป็นระยะทาง 1.6 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 โดย กทม.ร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง Urban Design and Development Center (UddC-CEUS) มาช่วยออกแบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เพิ่งให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา
7.
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC ตั้งใจออกแบบโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวแห่งนี้ตามแนวคิด “สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง” ที่สะท้อนหัวใจของแนวคิดการฟื้นฟูโครงสร้างลอยฟ้าอายุกว่า 20 ปีแห่งนี้คือการเพิ่ม “ความเขียว” และสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสองสวน ชุมชน และเมือง
8.
การปรับปรุงภูมิทัศน์นี้ตั้งใจจะสร้างแลนด์มาร์กใหม่ใน 3 จุดสำคัญของสะพานเขียว ได้แก่ บริเวณสะพานลอยข้ามแยกสารสิน บริเวณทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และสะพานลอยถนนรัชดาภิเษก ทางเข้าสวนเบญจกิติ โดยทั้ง 3 จุดออกแบบให้สวยงาม โดดเด่น บนพื้นที่สะพานเขียว มีโครงเหนือหัวที่สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นบางช่วง และเน้นวัสดุที่โปร่งเพื่อให้ความรู้สึกน่าสบายในการใช้งาน และตั้งใจให้เป็นแลนด์มาร์กและเป็นที่จดจำของเมือง อย่างน้อยคนใช้งานผ่านไปผ่านมารู้ว่าพื้นที่นี้มีฟังก์ชันด้านเมืองอยู่
9.
การปรับปรุงนี้จะเพิ่มความเขียวให้สะพานเขียวได้เขียวสมชื่อ ด้วยการเพิ่มเติมพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศกรุงเทพฯ เน้นพืชที่บำรุงรักษาง่าย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของสะพานให้รับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมทางลาดให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเดิน-วิ่ง-ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งอัฒจันทร์สำหรับชมทัศนียภาพและศาสนสถานสำคัญ 2 ข้างทาง คือ โบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนิเซียของชาวมุสลิม อีกทั้งจะปรับปรุงด้วยการเสริมทางลาดที่ได้มาตรฐานเข้าไป ตามหลักการ universal design ที่ใช้ได้ทุกคน ทั้งผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ และคนสูงอายุ
10.
ทีมสถาปนิกยังได้มองไปถึงการทำส่วนหนึ่งของสะพานเขียวให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ของเมือง โดยออกแบบสะพานเขียวโซนคลองไผ่สิงโตใกล้สวนเบญจกิติและโรงงานยาสูบให้เป็นสวนลอยน้ำแห่งการเรียนรู้ ที่อุดมไปด้วยพืชที่มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดวางทางเดินลอยน้ำที่ยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของเมืองเรื่องการบำบัดน้ำเสีย และเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อของระบบนิเวศเมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ
หากโครงการปรับปรุงสะพานเขียวนี้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ที่นี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ที่ชาวชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์ ได้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองในละแวกนั้น
#################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline