"แทสมาเนียนเดวิล" สัตว์สำคัญของออสเตรเลีย ได้ออกลูกตามธรรมชาติบนแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียอีกครั้ง หลังจากที่เคยสาบสูญไปกว่า 3,000 ปี และหลงเหลืออยู่เพียงบนเกาะแทสมาเนียเท่านั้น
สำนักข่าว Cnn รายงานว่า ลูกแทสมาเนียนเดวิลจำนวน 7 ตัว ได้ถือกำเนิดขึ้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบาร์ริงตัน ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ตามที่องค์กรเอ็นจีโอ ‘ออสซี่ อาร์ก’ ของออสเตรเลีย เปิดเผยผ่านอินสตาแกรมเมื่อวันจันทร์ที่ 24 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แทสมาเนียนเดวิลได้สาบสูญไปจากแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลียไป หลังการเข้ามาของหมาป่าดิงโก (dingo) และหลงเหลืออยู่เพียงบนเกาะแทสมาเนียเท่านั้น ถึงกระนั้นพวกมันก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จากการระบาดของโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘เนื้องอกบนใบหน้า’ (Devil Facial Tumor Disease) ซึ่งฆ่าประชากรแทสมาเนียนเดวิลไปกว่า 90% นับตั้งแต่มันถูกค้นพบในปี 2539
เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ออสซี่ อาร์ก ได้นำแทสมาเนียนเดวิลจำนวน 11 ตัวกลับสู่ธรรมชาติในแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลีย หลังจากนำมาก่อนหน้านี้แล้ว 15 ตัว และหลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน พวกมันก็ผลิตทายาทได้สำเร็จ
ข้อมูลจาก wikipedia กล่าวว่า แทสเมเนียนเดวิล เป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupial) กินเนื้อในวงศ์ Dasyuridae ปัจจุบันมีถิ่นฐานเฉพาะในรัฐแทสเมเนียของออสเตรเลีย โดยได้รับสถานะเป็นสัตว์คุ้มครองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 สันนิษฐานว่าแทสเมเนียเดวิลได้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลียไปเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว
แทสเมเนียนเดวิลมีขนาดใกล้เคียงกับสุนัขตัวเล็กๆ และถือเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องกินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้าย และถือว่าเป็นสัตว์ที่มีกรามขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับขนาดตัว แทสมาเนียนเดวิลตัวเมียสามารถมีลูกในกระเป๋าหน้าท้องได้สูงสุดถึง 6 ตัว ในระยะเวลานาน 3 เดือน
ปัจจุบันแทสเมเนียนเดวิลกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ สืบเนื่องจากเกิดโรคระบาดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นเนื้องอกคล้ายมะเร็งบริเวณใบหน้า (Devil facial tumour disease - DFTD) นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าหากไม่สามารถคิดค้นหาวิธีรักษาได้ แทสเมเนียนเดวิลจะสูญพันธุ์ภายในปี ค.ศ. 2035