xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ เมืองพระนครในศตวรรษที่ 13 มีประชากรเฉียดล้าน เยอะกว่าบอสตันปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นครวัด สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งเมืองพระนคร
งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า เคยมีคนอาศัยอยู่ในเมืองพระนครในกัมพูชาช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 เป็นจำนวนกว่า 700,000-900,000 คน โดยเป็นการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ LiDar จากทีมนักโบราณคดีในต่างประเทศ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.silpa-mag.com กล่าวถึงงานวิจัยล่าสุดซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Science Advance ว่า จากการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีผู้อยู่อาศัยในเมืองพระนคร ในประเทศกัมพูชา ช่วงศตวรรษที่ 13 อยู่กว่า 700,000-900,000 คน

งานวิจัยล่าสุด “Diachronic modeling of the population within the medieval Greater Angkor Region settlement complex” เผยแพร่เมื่อ 7 พฤษภาคม 2021 เผยว่า พอจะเทียบได้ว่าเมืองพระนครเป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลกในยุคนั้นเลยทีเดียว หากเทียบกับปัจจุบัน เมืองพระนครที่มีอยู่อาศัย 700,000-900,000 คน ยังมากกว่าสถิติประชากรเมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 693,000 คน เมื่อปี 2019 เสียอีก

ปราสาทบายน นครธม เมืองพระนคร
การวิจัยครั้งนี้รวบรวมข้อมูลที่มีในรอบ 30 ปี ผนวกกับเทคโนโลยีด้านการวัดระยะทางและประมวลผลเป็นรูปจำลอง 3 มิติ ที่เรียกว่า LiDar (Light Detection and Ranging) เพื่อนำข้อมูลมาร่วมประมวลผลวิเคราะห์พื้นที่เมืองพระนครซึ่งตั้งอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ด้วยเทคโนโลยีสแกนนี้ทำให้นักโบราณคดีสามารถเห็นรูปแบบเศษซากโครงสร้างและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นอกย่านใจกลางเมืองพระนครไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างซึ่งทำขึ้นจากไม้และวัสดุอื่น

เนื้อหาในแถลงการณ์เผยแพร่ผลการวิจัย อลิสัน เค. คาร์เตอร์ (Alison K. Carter) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) ที่ร่วมนำทีมนักโบราณคดี เปิดเผยว่า เทคโนโลยี LiDar ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถเห็นถึงลักษณะพื้นที่สูงต่ำและสามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดไหนเป็นสระน้ำ

ประตูเมืองนครธม
เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาผนวกรวมกับการหาอายุด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (radiocarbon dating) ไปจนถึงการใช้อัลกอริธึมจากระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองในอุปกรณ์ประมวลผลขั้นสูง (machine learning algorithms) นำมาสร้างแผนที่โดยคร่าวเพื่อสร้างเป็นแบบจำลองการพัฒนาของเมืองขึ้นและค้นหาการเติบโตทางประชากรศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา

ผลการวิจัยสรุปว่า ในพื้นที่พระนครเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนรวมแล้วประมาณ 700,000-900,000 คน ในช่วงศตวรรษที่ 13 และเชื่อว่ากระบวนการศึกษาที่ใช้วิเคราะห์ลักษณะนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ศึกษากับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ได้หลายแห่ง

บรรยากาศยามเช้าที่นครวัด
สำหรับ "เมืองพระนคร" หรือชื่อในภาษาเขมรปัจจุบันเรียก อังกอร์ (Angkor) ข้อมูลจาก wikipedia กล่าวว่า เป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของจักรวรรดิเขมร มีชื่อดั้งเดิมตามจารึกว่า ศรียโศธรปุระ มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทพนมบาแคง ปัจจุบันอยู่ในเขตเสียมเรียบ ของประเทศกัมพูชา ภายหลังย้ายศูนย์กลางไปยังปราสาทบายน ในพื้นที่ที่เรียกว่า "นครธม" ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเสียมเรียบเช่นกันและทับซ้อนกับพื้นที่ศรียโศธรปุระเดิม มีอายุอยู่ในช่วงราวคริสตศตวรรษที่ 9-15

ส่วนปราสาทหินนครวัดอันโด่งดัง เป็นมรดกโลก และเป็นดังสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา ก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของชาวขอมโบราณ โดยนครวัดเป็นส่วนหนึ่งเมืองพระนคร หรืออังกอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อ พ.ศ. 2535 ในชื่อเป็นทางการว่า เมืองพระนคร (Angkor) ซึ่งประกอบด้วย นครวัด นครธม ปราสาทบายน โบราณสถาน สิ่งก่อสร้างอื่นๆ รวมถึงผืนป่าโดยรอบบริเวณนั้น ครอบคลุมเนื้อที่มากกว่า 400 ตารางกิโลเมตร

###########

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ ช่วงก่อนโควิด-19

ปราสาทบายน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น