เฟซบุ๊กเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์แนะนำ “แมลงทับกลมขาแดง” โดยข้อมูลจาก สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช เผยเรื่องราวที่น่าสนใจของแมลงทับกลมขาแดงว่า แมลงชนิดนี้ มีชื่อสามัญภาษาไทยว่า : แมลงทับกลมขาแดง ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Red-legged Metallic Wood-boring Beetle ชื่อวิทยาศาสตร์ : 𝘚𝘵𝘦𝘳𝘯𝘰𝘤𝘦𝘳𝘢 𝘳𝘶𝘧𝘪𝘤𝘰𝘳𝘯𝘪𝘴 Saunders, 1866 วงศ์ : Buprestidae อันดับ : Coleoptera
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรม : แมลงทับกลมขาแดงพบค่อนข้างยาก ลักษณะคล้ายแมลงทับกลมขาเขียว แตกต่างตรงส่วนขาที่มีสีแดงเป็นมันวาว ปีกมีสีเขียวมรกต มันวาว สวยงาม โดดเด่น ลำตัวยาวเรียวไปทางส่วนท้าย ส่วนอกมีผิวขรุขระ บริเวณโคนปีกทั้ง 2 ข้าง มีจุดสีเหลืองข้างละ 1 จุด พบกินใบไม้อยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ เมื่อถูกรบกวนมักมีพฤติกรรมแกล้งตาย ทิ้งตัวหล่นลงจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่เกาะอยู่ ปัจจุบันมีแนวโน้มปริมาณลดลง หาได้ยากขึ้น
อาหาร : ตัวอ่อนอาศัยอยู่ใต้ดิน กินรากไม้เป็นอาหาร เช่น รากของพะยอม เต็ง รัง แดง มะค่าแต้ พันซาด กางขี้มอด ตัวเต็มวัยกินใบไม้ ถิ่นอาศัย : ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง เขตแพร่กระจาย : ประเทศไทยพบกระจายทั่วไป ต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดีย กัมพูชา เวียดนาม ลาว
การใช้ประโยชน์ : การนำปีกแมลงทับมาทำเป็นเครื่องประดับหรือของที่ระลึกนั้น จะใช้ปีกจากแมลงทับที่ตายแล้วเท่านั้น เพราะ ปีกจะมีสีสดใส แวววาว หากทำจากปีกของแมลงทับที่ยังไม่ตาย สีของปีกจะซีด ไม่แวววาว ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากซากของแมลงทับหลังจากที่มันได้ผสมพันธุ์วางไข่สืบต่อสายพันธุ์แล้ว
รูปแบบการใช้ประโยชน์นี้ น่าจะทำให้หลายคนสบายใจได้ว่า ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์แต่อย่างใด เกษตรกรที่จังหวัดหนองบัวลำภู ได้เริ่มทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์และนำปีกของแมลงทับมาทำเป็นเครื่องประดับหลากหลายแบบ สามารถสร้างรายได้เพิ่มมูลค่า จากปีกของแมลงทับ 1 ตัว จะสร้างรายได้สูงถึง ตัวละ 200-250 บาท และจะมีราคาสูงขึ้นตามการออกแบบที่สวยงามน่าสนใจ
*ข้อมูลและภาพจาก เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline