xs
xsm
sm
md
lg

เสริมมงคล กราบ 6 พระพุทธรูปงามปางปาลิไลย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ ประทับนั่งบนก้อนศิลา มีช้างและลิงเป็นสัญลักษณ์
พระพุทธรูปงามในประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายองค์ หลายยุค หลายสมัย และหลายปางด้วยกัน ในวันนี้อยากขอพาไปชมพระพุทธรูปปางหนึ่งที่มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ นั่นคือ "พระพุทธรูปปางปาลิไลย์" หรือที่มักเรียกกันว่าปางป่าเลไลย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มีรูปช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ และอีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางปาลิไลย์นี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เมื่อพระภิกษุในกรุงโกสัมพี มีความขัดแย้งทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติตนเป็นผู้สอนยาก พระพุทธเจ้าทรงระอาพระทัยจึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะคอยปรนนิบัติ เมื่อลิงเห็นเข้าก็นำรวงผึ้งไปถวายบ้างแต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าไม่รับเพราะว่าในรวงผึ้งมีตัวอ่อนอยู่เมื่อลิงรู้ดังนั้นก็ดึงตัวอ่อนออกจากรวงผึ้งแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าอีกครั้ง พระพุทธเจ้ารับรวงผึ้งที่ลิงนำมาถวาย

ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธองค์รับอาราธนาจึงเสด็จกลับ ในขณะที่พระพุทธองค์และคณะหมู่สงฆ์กำลังจะออกจากป่า พญาช้างได้เดินตามพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามและตรัสให้กลับไปอยู่ป่า ทำให้พญาช้างเสียใจจนล้มลงขาดใจตาย และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ (ส่วนลิงที่ถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธเจ้าได้ตกจากต้นไม้จนทิ่มตอไม้แหลมตาย แต่บุญกุศลที่ทำไว้ก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์เช่นกัน) บรรดาพระภิกษุผู้ว่ายากเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด

ต่อมาในสมัยหลังจึงมีการสร้างพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ทรงประทับใจป่า มีช้างและลิงคอยปรนนิบัติ นอกจากนั้นแล้ว พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ยังเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธกลางคืนอีกด้วย ซึ่งในวันนี้เราจะพาไปกราบพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ในวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกัน

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี
วัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี

พระพุทธรูปปาลิไลย์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดองค์หนึ่งน่าจะเป็น “หลวงพ่อโต” แห่งวัดป่าเลไลยก์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี วัดเก่าแก่คู่เมืองสุพรรณฯ

“หลวงพ่อโต” ถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรีด้วยเช่นกัน องค์พระเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางป่าเลไลยก์ขนาด ใหญ่สูง 23 เมตรเศษ สร้างตามแบบศิลปอู่ทองรุ่นที่สอง ซึ่งเป็นศิลปะฝีมือสกุลช่างอู่ทองแท้ ๆ เดิมทีองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระหัตถ์ขวาหัก ช่างได้สร้างวิหารครอบ โดยให้ผนังวิหารชิดกับพระหัตถ์ขวา ส่วนทางพระหัตถ์ซ้ายให้มีที่ว่าง ด้านหลังองค์พระสร้างชิดกับผนังวิหารทำให้แข็งแรง นับเป็นความชาญฉลาดของช่างเป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร (ภาพ : เพจวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร)
วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ

หากพูดถึงวัดกัลยาณมิตร หลายคนอาจนึกไปถึงพระพุทธไตรรัตนนายก หลวงพ่อโตหรือซำปอกง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในพระวิหาร แต่หากใครมีโอกาสได้เข้าไปในพระอุโบสถ ก็จะได้เห็นว่ามีพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และยังเป็น 1 ใน 2 วัดในกรุงเทพฯ ที่มีพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลย์

 พระสงฆ์ทำวัตรในพระอุโบสถวัดกัลยาฯ เบื้องหน้าพระประธาน (ภาพ : เพจวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร)

วัดบางขุนเทียนใน 1 ใน 2 วัดในกรุงเทพฯ ที่มีพระพุทธรูปปางปาลิไลย์เป็นพระประธานในอุโบสถ
วัดบางขุนเทียนใน กรุงเทพฯ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าวัดในกรุงเทพฯ ที่มีพระพุทธรูปปางปาลิไลย์เป็นพระประธานในอุโบสถมี 2 วัดด้วยกัน วัดแรกคือวัดกัลยาณมิตรดังที่กล่าวไปแล้ว และวัดที่สองก็คือ “วัดบางขุนเทียนใน” นั่นเอง

วัดบางขุนเทียนในเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา และได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๓-๔ สิ่งที่น่าสนใจภายในอุโบสถแห่งนี้ก็คือพระพุทธรูปประธานปางปาลิไลย์ซึ่งพบในกรุงเทพฯ เพียง 2 วัดเท่านั้น อีกทั้งภายในอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะอย่าง น. ณ ปากน้ำ ว่าเป็นภาพจิตรกรรมเก่าแก่ฝีมือชั้นครูอีกด้วย

ด้านหน้าอุโบสถวัดบางขุนเทียนใน

พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ในวิหารทิศด้านเหนือของวัดโพธิ์ (ภาพ : www.watpho.com)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ

สำหรับในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์นั้น ก็มีพระพุทธรูปปางปาลิไลย์อยู่ในพระวิหารทิศด้านทิศเหนือ ซึ่งเชื่อมต่อกับพระระเบียงรอบพระอุโบสถ

สำหรับพระพุทธรูปปางปาลิไลย์องค์นี้ได้หล่อขึ้นใหม่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ มีความสูง 8 ศอก คืบ 5 นิ้ว ในครั้งนั้นยังได้สร้างรูปช้างถวายคนทีน้ำ และรูปลิงถวายรวงผึ้งในคราวเดียวกัน ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปว่า "พระพุทธปาลิไลย ภิรัติไตรวิเวก เอกจาริกสมาจาร วิมุตติญาณบพิตร"

มุมหนึ่งในวัดโพธิ์

พระพุทธรูปปางปาลิไลย์แห่งวัดใหม่ทองเสน
วัดใหม่ทองเสน กรุงเทพฯ


“วัดใหม่ทองเสน” ย่านเกียกกาย กรุงเทพฯ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.2365 โดยท่านเจ้าคุณพระธรรมอุดม (ถึก) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดาและมารดาที่มีชื่อว่าทองและเสน

ตามประวัติ พระธรรมอุดม (ถึก) เป็นพระที่แสดงธรรมเทศนาคู่ปุจฉา-วิสัชนา กับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในต้นรัชกาลที่ ๓ ทั้งสองท่านมีความสนิทสนมกันจึงได้ร่วมกันสร้างวัดและองค์พระป่าเลไลยก์เพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อให้เป็นพุทธสถานเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปที่วัดใหม่ทองเสนแห่งนี้ โดยได้จำลองมาจากองค์หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณบุรี แต่มีขนาดเล็กกว่า

แต่เดิมพระป่าเลไลยก์องค์นี้ก่อสร้างด้วยปูนปั้นลงรักสีดำทั้งองค์ สูง 9 เมตร แต่ปัจจุบันได้บูรณะลงรักปิดทองดูงดงาม ภายหลังเมื่อสร้างพระเสร็จแล้วจึงได้สร้างวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมคลุมภายหลัง

พระพุทธรูปปางปาลิไลย์แห่งวัดป่าประดู่ จ.ระยอง
วัดป่าประดู่ ระยอง

วัดป่าประดู่ ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.ระยอง ใจกลางเมืองระยอง วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักว่ามีพระพุทธไสยาสน์ที่มีความแปลกตรงที่เป็นพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้าย ต่างจากปกติที่จะสร้างองค์พระนอนตะแคงขวา

นอกจากนั้นที่วัดป่าประดู่ยังมีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์องค์เก่าแก่ โดยตามประวัติของวัดเล่าว่าแต่เดิมวัดแห่งนี้ชื่อ "วัดปาเลไลยก์" เป็นวัดร้าง มีเพียงซากโบสถ์ ซากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และซากองค์พระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปาเลไลยก์ ต่อมาอุปัชฌาย์เทียนผู้พบวัดนี้ได้มาจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่นี่ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเกิดศรัทธาเลื่อมใสในท่าน จึงชักชวนกันสร้างกุฏิถวาย และร่วมกันฏิสังขรณ์วัดนี้จนเจริญสืบต่อมา

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น