xs
xsm
sm
md
lg

ชวนไหว้พระประจำวัน สุขใจ เสริมสิริมงคลในวันเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไหว้พระปางประจำวันเกิด
เวลาเราเดินทางไปทำบุญที่วัด นอกจากจะกราบไหว้พระประธานแล้ว เรามักจะกราบไหว้พระพุทธรูปประจำวันเกิดของตนเองกันด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ซึ่งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวันเกิดแต่ละวันมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ครั้งนี้จึงรวมพระปางประจำวันเกิดของแต่ละวันมาให้ชมกัน

พระพุทธรูปปางถวายเนตร (ภาพจากเฟสบุ๊ก Thaipat Puchidchawakorn)
มาเริ่มกันที่พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์คือ “พระพุทธรูปปางถวายเนตร” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองมองเพ่งไปข้างหน้า ส่วนพระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์

ที่ “วัดสุทัศนเทพวราราม” เดิมชื่อวัดมหาสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อให้เป็นวัดใจเมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า โดยวัดนั้นถูกบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 รูปแบบงานศิลปกรรมจึงมีการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยประเพณีเข้ากับอิทธิพลแบบจีน ภายในวัดมีสัตตมหาสถานเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางถวายเนตร” องค์สีทองอร่าม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์ หากใครเกิดวันนี้ก็สามารถเดินทางไปกรายสักการะกันได้

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ วัดราชโอรสาราม
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์คือ “พระพุทธรูปปางห้ามญาติ” หรือ “พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร” ซึ่งพระพุทธรูปปางห้ามญาติมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ขึ้นตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม แตกต่างจากพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรตรงที่ยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้งสองข้าง

แถวเขตจอมทองที่ "วัดราชโอรสาราม" วัดประจำพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่มีความโดดเด่นตรงที่มีศิลปกรรมแบบจีนสอดแทรกอยู่ในวัดไทย ส่วนพระยืนในวัดราชโอรสประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่อยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน หน้าบันเป็นลวดลายประแจจีน ประดับด้วยเครื่องถ้วย พระพุทธรูปยืนที่ประดิษฐานในพระวิหารนั้นเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์ สันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้เคยเป็นพระอุโบสถเก่าของวัดมาก่อน และพระยืนองค์นี้ก็เป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังเดิม ก่อนรัชกาลที่ 3 จะทรงเข้ามาบูรณะ

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดโพธิ์
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคารคือ “พระพุทธรูปปางไสยาสน์” หรือบางทีก็เรียก “ปางปรินิพพาน” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างทับซ้อนเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับอยู่

ปัจจุบันมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่หลายวัด สำหรับในกรุงเทพฯ จะมีอยู่ที่ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือที่เราเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” เป็นวัดสร้างขึ้นสมัยอยุธยาและถูกสถาปนาให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 สมัยรัตนโกสินทร์ และถูกบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวัดมีวิหารวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางไสยาสน์” องค์ใหญ่

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร วัดบ้านแหลม
มาต่อกันที่พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธ หากเกิดในวันพุธกลางวันคือ “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตรราวสะเอว สันพระบาตรวางชิดกัน

“วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” หรือ “วัดบ้านแหลม” วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวแม่กลอง อันมี “หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็น “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร” ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เชื่อกันว่าหลวงพ่อบ้านแหลมนี้เป็นหนึ่งในห้าพระพุทธรูป 5 พี่น้อง หรือ “เบญจภาคีวารีปาฏิหาริย์” หนึ่งในพระพุทธรูปที่มีตำนานเล่าว่าลอยน้ำมาจนมีผู้มาพบเจอและได้นำพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำและนำไปประดิษฐานไว้ตามวัดใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำนั่นเอง

พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ (ภาพจากเฟสบุ๊ก Chai Talin)
สำหรับพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธ ช่วงกลางคืน คือ “พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายขึ้น โดยมีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำอยู่ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

ภายใน "วัดใหม่ทองเสน" กรุงเทพฯ มีโบราณวัตถุที่สำคัญๆ อาทิ “พระป่าเลไลยก์” แต่เดิมก่อสร้างด้วยปูนปั้นเป็นองค์ลงรักสีดำทั้งองค์ สูง 9 เมตร แต่ปัจจุบันได้บูรณะลงรักปิดทองสีเหลืองทองดูสวยงาม เมื่อสร้างพระป่าเลไลยก์แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 จากนั้นจึงได้มาสร้างวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปมณฑปสี่เหลียมไว้เป็นที่ประทับ

พระพุทธรูปปางสมาธิ วัดสระเกศ
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพฤหัสบดี คือ “พระพุทธรูปปางสมาธิ” หรือเรียกอีกอย่างว่า “พระพุทธรูปปางตรัสรู้” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย และพระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

ที่ “วัดสระเกศ” มีชื่อเต็มว่า “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” ซึ่งเป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสะแก” รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “หลวงพ่อพระประธาน” โดยเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา

พระพุทธรูปปางรำพึง วัดราชนัดดาราม
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันศุกร์ คือ “พระพุทธรูปปางรำพึง” ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางประสานกันที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย

สำหรับผู้ที่เกิดวันศุกร์สามารถเดินทางมากราบพระปางประจำวันเกิดได้ที่ ภายในศาลาการเปรียญของ "วัดราชนัดดาราม" กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปยืนปางรำพึง

พระพุทธรูปปางนาคปรก วัดแดงธรรมชาติ
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์คือ “พระพุทธรูปปางนาคปรก” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางสมาธิ แต่ว่ามีพญานาคราชขดร่างเป็นวงกลมซ้อนทับกันไปเรื่อย ๆ จนเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร

ที่ “วัดแดงธรรมชาติ” จ.นนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้ก็คือ “พระปางนาคปรก” ซึ่งประดิษฐานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใครล่องเรือผ่านไปผ่านมาต้องเห็นแน่นอน เพราะเป็นองค์พระปางนาคปรกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น