xs
xsm
sm
md
lg

ชมงานศิลปะจีนกับ 5 วัดไทยในกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
เรามักจะได้พบเห็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะจีนในศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะในช่วงนั้น เป็นช่วงที่การค้าของประเทศไทยกับประเทศจีนรุ่งเรืองที่สุด

การที่ศิลปะแบบจีนนั้นกลายมาเป็นพระราชนิยม ทำให้เหล่าขุนนาง รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาในยุคนั้นต่างก็นิยมสร้างวัดตามแบบพระราชนิยมเช่นเดียวกัน ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงมีวัดหลายแห่งด้วยกันที่มีลักษณะของศิลปะแบบจีนให้เราได้ชมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ครั้งนี้จึงพาไปชม 5 วัดดังในกรุงเทพฯ ที่มีการผสมผสานของศิลปะจีนให้เราได้ชมกัน

วัดราชโอรสาราม

หากจะกล่าวถึงวัดไทยที่มีศิลปะแบบจีนอยู่เต็มรูปแบบมากที่สุด และสวยงามที่สุด ก็คงจะต้องกล่าวถึง "วัดราชโอรสารามราชวรมหาวิหาร" หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "วัดราชโอรส" ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก รวมทั้งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 ซึ่งใครที่ได้เข้าไปชมภายในวัดราชโอรสาราม อาจจะเผลอนึกไปได้ว่ากำลังเดินอยู่ในวัดจีน

วัดราชโอรสารามราชวรมหาวิหาร (ภาพ : เพจวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร)
วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดจอมทอง เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 3 ยังมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ 2 นั้น ท่านได้ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลเตรียมไปรบกับพม่า และได้มาประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้ ท่านได้ทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม และทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมา และเมื่อทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวงแด่รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชโอรสซึ่งเป็นผู้บูรณะ

วัดแห่งนี้จึงมีศิลปะแบบจีนอยู่แทบทุกตารางนิ้วตามพระราชนิยมของผู้บูรณะ ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าวัด ที่มีหลังคาสี่ชั้นแบบจีนเด่นชัด ส่วนพระอุโบสถของวัดราชโอรสนี้มีหลังคาแบบจีนสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องแบบไทย ไม่มีเครื่องบน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแจกันดอกเบญจมาศ มีสัตว์ที่เป็นมงคลตามความเชื่อของชาวจีนอย่างมังกร หงส์ นกยูงอยู่รอบๆ แจกัน

ศิลปะแบบจีนที่วัดราชโอรส (ภาพ : เพจวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร)
นอกจากหน้าบันแล้ว บริเวณหน้าประตูทางเข้าอุโบสถยังมีตุ๊กตากระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่กว่าคนจริงเป็นรูปชาวจีนหน้าตาดุดันยืนเฝ้าประตูอยู่ดูน่าเกรงขาม ส่วนบนบานประตูโบสถ์เป็นภาพประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆที่ถือว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทยและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ส่วนภายนอกพระอุโบสถก็ยังมีศาลาราย วิหารคด ถะ (เจดีย์จีน) ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนเห็นได้ชัด ตั้งอยู่เคียงกับพระปรางค์ และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบไทยได้อย่างไม่ขัดเขิน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือที่เราเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” สร้างขึ้นสมัยอยุธยาและถูกสถาปนาให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 สมัยรัตนโกสินทร์ และถูกบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงปรากฏอิทธิพลจากศิลปะจีนขึ้นภายในวัด สิ่งที่โดดเด่นภายในวัดเห็นจะหนีไม่พ้นพระเจดีย์สี่รัชกาล เป็นเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสอง มีขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากจีน รวมทั้งกระเบื้องเคลือบเองก็มีการสั่งจากจีนเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน

ตุ๊กตาหินแบบจีน
และอีกสิ่งที่พบมากภายในวัดคือตุ๊กตาหินแบบจีน หรือ ‘ลั่นถัน’ ประดับโดยรอบวัด มีทั้งรูปขุนนางฝ่ายบุ๋นและบู๊ รูปสัตว์ และรูปประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการนำ ‘เขามอ’ หรือภูเขาจำลองที่นิยมในจีน มาประดับเข้ากับต้นไม้ ตุ๊กตาจีน เจดีย์จีน และรูปปั้นฤาษีดัดตน

ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแบบจีน
วัดเทพธิดารามวรวิหาร

“วัดเทพธิดารามวรวิหาร” นี้เป็นหนึ่งในสามวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยคำว่าเทพธิดาในชื่อวัดก็หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์โตที่เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา โดยกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ได้บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมก่อสร้างวัดด้วย

เมื่อเป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างแล้ว ก็แน่นอนว่าย่อมต้องมีศิลปะแบบจีนให้เห็นแน่นอน ซึ่งพระอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญที่ตั้งเรียงกันอยู่นั้น ล้วนแล้วแต่มีลักษณะหลังคาและหน้าบันเหมือนกันทั้งหมด คือไม่มีเครื่องบน และประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแบบจีน

ที่วัดเทพธิดารามนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะจีน นั่นก็คือ ตุ๊กตาหิน ซึ่งมีทั้งรูปคนและรูปสัตว์ และที่น่าสนใจก็คือตุ๊กตากินในวัดนี้ส่วนมากเป็นรูปผู้หญิง คงเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อวัดซึ่งสร้างให้กับเจ้านายผู้หญิง ช่างที่สลักตุ๊กตานั้นเป็นช่างชาวจีน ซึ่งเมื่อมาแกะสลักตุ๊กตาที่เลียนแบบลักษณะท่าทางและการแต่งกายของสตรีชาวไทยตามสายตาของช่างชาวจีนก็ทำให้ตุ๊กตาเหล่านี้มีลักษณะแปลกตาน่าชม เช่น อาจจะดูเป็นคนไทยที่มีหน้าตาออกไปทางเชื้อสายจีนมากสักหน่อย ต่างจากตุ๊กตาหินของวัดอื่นๆ ที่จะเป็นรูปคนจีนทั้งหมด

ศิลปกรรมภายในวัดมีการผสมผสานทั้งไทย จีน
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

“วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร” สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งวังหน้า ในรัชกาลที่ 3 ศิลปกรรมภายในวัดมีการผสมผสานทั้งไทย จีน และตะวันตกร่วมด้วย ส่วนของศิลปกรรมจีนนั้นปรากฏทั้งบริเวณหน้าบันของพระอุโบสถ วิหาร และประตูทางเข้า ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เป็นรูปมงคลแบบจีน ทั้งมีการสร้างศาลาจีน ซุ้มจีน และวิหารเก๋งจีน 

โดยภายในวิหารนี้มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กที่เขียนขึ้นโดยจิตรกรชาวจีนด้วย ทั้งยังมีการประดับตุ๊กตาหินจำนวนมาก และเกร็ดน่ารู้ที่น่าสนใจของวัดนี้คือ ‘เสี้ยวกาง’ ทวารบาลแกะสลักบนประตูทางเข้าวัด จะมีรอยสีดำๆ อยู่บริเวณปากของทวารบาล เนื่องจากคนสมัยก่อนมองว่ารูปทวารบาลนั้นมีหนวดเคราคล้ายกับคนจีน และสมัยก่อนคนจีนแก่ๆ มักจะสูบฝิ่น ผู้คนจึงมักไปขอพรและแก้บนกับทวารบาลด้วยการนำฝิ่นมาป้ายที่ปาก เป็นที่มาของทวารบาลปากดำในวัดแห่งนี้

วัดสุทัศนเทพวราราม (ภาพ : เพจวัดสุทัศนเทพวราราม)
วัดสุทัศนเทพวราราม

“วัดสุทัศนเทพวราราม” เดิมชื่อ วัดมหาสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อให้เป็นวัดใจเมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า โดยวัดนั้นถูกบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 รูปแบบงานศิลปกรรมจึงมีการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยประเพณีเข้ากับอิทธิพลแบบจีน รวมถึงเรื่องคติพุทธศาสนาด้วย เช่น การประดับถะ (เจดีย์แบบจีน) จำนวน 28 องค์โดยรอบพระวิหาร ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเป็นการเปรียบถึงพระอดีตพุทธเจ้าหรืออาจแทนวิมานของเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วัดสุทัศนเทพวราราม (ภาพ : เพจวัดสุทัศนเทพวราราม)
ส่วนอื่นๆ นั้นเป็นการนำวัตถุแบบจีนเข้ามาตกแต่งบ้างเล็กน้อย อย่างพระวิหารหรือพระอุโบสถ แม้โดยรวมจะยังคงความเป็นศิลปะไทย แต่ก็ถูกแทรกซึมด้วยการประดับพนักระเบียงเป็นกระเบื้องปรุแบบจีน การประดับตุ๊กตาหินเป็นทวารบาลประจำวัด การประดับเขามอหรือภูเขาจำลอง เป็นต้น

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น