ในช่วงวันสงกรานต์ มักจะมีการอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” ออกมาให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่เป็นประจำ โดยเชื่อว่า ด้วยอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ สามารถดับทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ทำให้มีกำลังใจสดชื่นเข้มแข็ง โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญ 3 องค์ด้วยกัน องค์แรกประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ องค์ที่ 2 อยู่ที่วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ และองค์ที่ 3 อยู่ที่หอพระพุทธสิหิงค์ จ.นครศรีธรรมราช
แต่วันนี้จะพามากราบพระพุทธสิหิงค์อีกองค์หนึ่งที่ “วัดพระสิงห์” อ.เมือง จ.เชียงราย โดยวัดพระสิงห์แห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงรายมายาวนาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ โดยพระเจ้ามหาพรหมได้มาครองเมืองเชียงรายช่วง พ.ศ.1888-1943 จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้คงจะสร้างใน พ.ศ.1928
ส่วนชื่อของวัดพระสิงห์นั้น เชื่อกันว่ามาจากการที่ครั้งหนึ่งวัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยนั่นคือ “พระพุทธสิหิงค์” หรือที่ทางล้านนาเรียกกันว่า “พระสิงห์” โดยในตำนานสิหิงคนิทานกล่าวไว้ว่า พระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1,150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังดินแดนประเทศไทย มายังนครศรีธรรมราช ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร ก่อนที่จะมาสู่ดินแดนล้านนาคือ เชียงราย เชียงใหม่ โดยประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ยาวนานที่สุดคือ 255 ปี ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาที่กรุงเทพมหานครใน พ.ศ.2338 และประดิษฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน
ส่วนพระสิงห์ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระสิงห์เมืองเชียงรายนี้ก็ได้สร้างจำลองขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิหารแก้ว หรือหอพระสิงห์ ซึ่งเป็นวิหารขนาดเล็กที่ภายในตกแต่งด้วยศิลปกรรมชั้นเยี่ยมหลายแขนง ทั้งงานจิตรกรรม งานฉลุ งานแกะสลัก เป็นต้น โดยองค์พระสิงห์ที่ประดิษฐานในวิหารแก้วนี้ประทับอยู่ในบุษบกงดงาม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาไทยพุทธศตวรรษที่ 21 มีพุทธลักษณะสง่างาม หน้าตักกว้าง 37 ซ.ม. สูงทั้งฐาน 66 ซ.ม. หล่อด้วยสำริดปิดทอง
องค์พระสิงห์แม้มีขนาดเล็กแต่ประดิษฐานอย่างงามสง่าบนบุษบกกลางวิหาร ท่ามกลางงานประดับตกแต่งเชิงช่างชั้นเยี่ยมภายในวิหารแก้ว สร้างความปีติอิ่มบุญและบรรยากาศของความเคารพศรัทธาเมื่อได้เข้าไปกราบไหว้ได้เป็นอย่างดี
และในทุกๆ ปีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ทางวัดพระสิงห์เมืองเชียงรายก็จะนำพระสิงห์ออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่เมืองกัน
นอกจากพระวิหารแก้วแล้ว ในวัดพระสิงห์เมืองเชียงรายยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ พระอุโบสถที่สร้างอย่างงดงามตามแบบศิลปะล้านนาเชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์สำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 204 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 284 เซนติเมตร
ในพระอุโบสถยังมีสิ่งน่าชมคือบานประตูหลวง ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2530 แกะสลักด้วยไม้อย่างประณีตอลังการ ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย “ถวัลย์ ดัชนี” และแกะสลักโดยสล่าอำนวย บัวงาม โดย อ.ถวัลย์ได้ออกแบบการแกะสลักบานประตูเป็นปริศนาธรรม เกี่ยวกับเรื่องราวของธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด คือ ช้างเป็นสัญลักษณ์ของดิน ครุฑเป็นสัญลักษณ์ของลม นาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และสิงโตเป็นสัญลักษณ์ของไฟ
บานประตูหลวงนี้สล่าอำนวยและลูกศิษย์ใช้เวลาในการแกะสลักเกือบหนึ่งปี ได้ผลงานออกมาอย่างสวยงามประณีตบรรจง ช่วยส่งเสริมความงดงามของพระอุโบสถได้โดดเด่นมากขึ้น
บริเวณด้านหลังพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานองค์เจดีย์ทองอร่ามพุทธศิลป์แบบล้านนา สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง คือ พ.ศ. 2492 ครั้งหนึ่ง โดยท่านพระครูสิกขาลังการ เจ้าอาวาสในขณะนั้น และอีกหลายครั้งในสมัยต่อมา โดยท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
และไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปสักการะพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา”
# # # # # # #
วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่ที่ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผู้สนใจท่องเที่ยวในเชียงราย และต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่กิน ที่พัก สามารถสอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 7433