“วันพิเศษ” ของแต่ละคน แต่ละสถานที่ล้วนแตกต่างกันออกไป
ใครและใครหลายคน อาจมีวันพิเศษตรงกับวันที่ 1 และ 16 กับอาการเฝ้ารอลุ้นระทึก! ลุ้นยิ่งกว่าการได้เจอหน้าคนรักเมื่อแรกพบเสียอีก
แต่สำหรับที่ “บ้านโคกไคร” ในหนึ่งเดือนที่นี่จะมีวันพิเศษสุด ๆ ที่ธรรมชาติประทานมาให้อยู่ 4 วัน อันถือเป็น Amazing พังงา ที่น่าตื่นตาตื่นใจกระไรปานนั้น
ท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร
บ้านโคกไคร ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับ “คลองมะรุ่ย” ที่ไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างจังหวัดพังงากับกระบี่ พร้อมทั้งเป็นเส้นทางสัญจรออกสู่ทะเล “อ่าวพังงา”
ชาวบ้านโคกไครมีอาชีพหลักคือการทำประมงพื้นบ้าน และเลี้ยงหอย โดยเฉพาะ “หอยนางรม” ซึ่งที่นี่นอกจากจะเป็นหนึ่งในแหล่งเลี้ยงสำคัญของภาคใต้แล้ว ยังมีการทำบ้านหอยนางรมด้วยยางรถมอเตอร์ไซค์ผ่าซีก แขวนไว้กับหลักไม้ในทะเลให้หอยมาเกาะ จนเติบโตได้ที่ก็นำมาเลี้ยงต่อในกระชัง ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำมากว่า 30 ปีแล้ว
ด้วยความโดดเด่นสภาพพื้นที่ วิถีชุมชน การเลี้ยงหอยที่เป็นเอกลักษณ์ และอาหารการกิน รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ชาวบ้านโคกไครส่วนหนึ่งจึงรวบรวมสมาชิกจัดตั้ง “กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร” เพื่อนำการท่องเที่ยวมาเป็นรายได้เสริม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชาวประมงพื้นบ้านให้ดำรงคงอยู่
สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ของที่นี่ก็คือ การทำ “สปาสามร้อน” หนึ่งเดียวในเมืองไทย และการชมกองทัพ “ปูมดแดง” นับหมื่นตัวออกหากินบนสันทรายกลางทะเลที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
แต่ไฮไลท์ทั้ง 2 กิจกรรม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน หากแต่จะเกิดขึ้นเฉพาะวันที่มีน้ำลงต่ำมาก ๆ และไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน โดย 1 เดือน จะสามารถชมปูมดแดงได้ 24 วัน ทำสปาสามร้อนได้ 10 วัน และสามารถทำกิจกรรมทั้ง 2 (สปา+ชมปู) ในวันเดียวกัน (ทริปเดียวกัน) ได้เพียง 4 วัน ใน 1 เดือนเท่านั้น
ถือเป็นวันพิเศษ (ตามที่กล่าวมาข้างต้น) ซึ่งผมได้มีโอกาสไปสัมผัสกับความ Amazing พังงาของชุมชนโคกไครได้อย่างเต็มอรรถรสแบบ แบบ 2 เด้ง ภายในทริปเดียว วันเดียว
หาดทรายร้อน
เช้ามืดของวันพิเศษที่พระอาทิตย์เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า ผมกับคณะนัดผมกับกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร ที่นำโดย 2 พี่น้อง “นิกร-สมพร สาระการ” เพื่อล่องเรือจากลำคลองมะรุ่นหน้าชุมชนโคกไครมุ่งสู่แหล่ง “สปาสามร้อน” หนึ่งเดียวในเมืองไทย
เรือหัวโทงลำใหญ่ พาพวกเราล่องฝ่าสายน้ำลึกเข้าไปในแผ่นดินตามลำคลองมะรุ่ย ท่ามกลางบรรยากาศวิวทิวทัศน์ยามเช้าอันสวยงาม ของคลอง 2 จังหวัด ฝั่งขวากระบี่ ที่ระหว่างมีป่าชายเลน บ้านเรือนริมคลอง กระชังปลา และที่ดูน่าตื่นตากับบ้านหอยยางรถมอเตอร์ไซค์ ที่ถือเป็นรายได้หลักของชุมชนแถบนี้
จากนั้นไม่นานเรือล่องข้ามน่านน้ำจังหวัด (เพียงไม่กี่เมตร) มาจอดเทียบที่ “หาดทรายร้อน” (ต.เขาใหญ่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวอันซีนของเมืองไทย
หาดทรายร้อน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หาดน้ำร้อน” เกิดจากความร้อนใต้ดินของ “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” รอยแยกของเปลือกโลกที่ยังคงมีความร้อนพวยพุ่งออกมาอยู่ตลอด
ทำให้บริเวณนี้เกิดปรากฏการณ์ (ทางธรณีวิทยา) 3 ร้อน หนึ่งเดียวในเมืองไทย คือมี ทรายร้อน โคลนร้อน และน้ำเค็มร้อน อันเป็นที่มาของ “สปาสามร้อน” หนึ่งในไฮไลท์ของทริปนี้
หาดทรายร้อนไม่ได้มีให้เห็นทุกวัน แต่ในแต่ละเดือนจะปรากฏเฉพาะช่วงที่น้ำลดระดับลงต่ำสุด เพียงเดือนละ 10 วัน ในช่วง 3 ค่ำ – 7 ค่ำ และจะปรากฏเพียงไม่กี่ชั่วโมงตั้งแต่ราวตีห้า (05.00 น.) ไปจนถึงช่วงสาย ๆ ของวันเท่านั้น ซึ่งหากใครได้มาเยือนที่นี่ในช่วงเช้าตรู่ที่แสงตะวันเพิ่งสาดส่อง ก็จะพบกับควันขาวโพลนพวยพุ่งจากพื้นดินดูสวยงามไม่น้อย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมพวกเราต้องนั่งเรือออกจากบ้านโคกไครกันตั้งแต่เช้ามืด
ก่อนจะมาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวสปา 3 ร้อน แต่ก่อนชาวบ้านในละแวกนี้ เมื่อมาหาเก็บหอยตลับแถวนี้ในยามเช้าตรู่ พบควันขาวลอยพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน จึงลองไปพิสูจน์ความร้อน
จากนั้นจึงลองใช้โคลนร้อนพอก เพื่อช่วยอาการเหน็บชาและอ่อนล้าจากการเก็บหอย ก่อนที่ภายหลังจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้วพัฒนามาเป็นสปาสามร้อน กับการทำสปาโคลน พอกโคลนที่ช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง ร่างกายกระชุ่มกระชวย
สปาสามร้อน
เมื่อเราล่องเรือมาถึงยังหาดทรายร้อน ชาวบ้านที่มาจัดเตรียมพื้นที่พร้อมอุปกรณ์การทำสปาสามร้อนรออยู่ก่อน จะเข้ามาต้อนรับพร้อมอธิบายข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นก็จะเริ่มเข้าคอร์สสปาสามร้อน เริ่มจาก
1.วอร์มเบา ๆ ด้วยการเดินเท้าเปล่าเหยียบบนพื้นทราย หรือแอ่งธารน้ำร้อน ที่มีอุณหภูมิความร้อนกำลังดี เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยและเปิดรูขุมขน
2.หมักโคลนเลนร้อน ด้วยการยืนแช่ลงไปในเลนเหลวลึกเกือบค่อนน่องประมาณ 10 นาที (ยิ่งลึกก็ยิ่งร้อน) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ร้อนสุด
3.สปาโคลน จากโคลนร้อนพิเศษที่อยู่ลึกลงไปในดินประมาณ 1 เมตร มีสีดำสนิทอุณภูมิกำลังดี พอกไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายตามที่ต้องการ แขน ขา หน้า น่อง หลัง หรือจะพอกหน้าก็ได้ (ตามความต้องการของแต่ละคน)
ขั้นตอนนี้จะให้เวลาประมาณ 15 นาทีให้ความร้อนและสารจากโคลนถ่ายเทสู่ร่างกาย ระหว่างนี้จะมีให้เลือกนั่งหรือนอนพักตามแต่สะดวก โดยมีของว่าง ชา กาแฟ และ“ชาใบขลู่” (แนะนำ) ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพรสกลมกล่อม เสิร์ฟพร้อมกับขนมพื้นบ้าน
4.เมื่อพอกโคลนร้อนได้ประมาณ 15 นาทีแล้ว ให้ล้างโคลนออกในน้ำลำคลอง ซึ่งหลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นจะพบว่า ผิวพรรณชุ่มชื่น เต็งตึง ร่างกายสดชื่นกระชุ่มกระชวย คุ้มค่ากับการตื่นเช้าไม่น้อย
และนี่ก็คือการทำสปาสามร้อน หนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร จ.พังงา ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีรูปแบบการจัดการ “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” (Responsible Tourism) ที่มีความใส่ใจ ห่วงใยต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะการร่วมมือกันระหว่างชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
เพราะถึงแม้ว่า หาดทรายร้อน จะตั้งอยู่ในเขตฝั่ง จ.กระบี่ แต่ก็น่ายินดีที่ชาวชุมชนทั้ง 2 จังหวัดพังงา-กระบี่ ได้จับมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนแบบแบ่งปันร่วมมือ
โดยชาวบ้านโคกไคร (พังงา) กับชาวบ้านถ้ำเสือ (กระบี่) ได้ทำข้อตกลงการท่องเที่ยวว่า เมื่อมีนักท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์ ไม่ว่าจะมาจากทางฝั่งจังหวัดไหน เรือที่ใช้ให้เป็นของบ้านโคกไคร ส่วนหมอหรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านสปาให้เป็นของบ้านถ้ำเสือ
ขณะที่มุข (ตลก) ที่ปล่อยเพื่อช่วยสร้างสีสัน เรียกรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวนั้น เป็นหน้าที่ของทั้ง 2 ชุมชน ที่ต้องสามัคคีช่วยกัน ก่อนที่เหล่าทีมคุณหมอ (สปา) จะแยกย้ายกลับกระบี่
ส่วนผมคณะนักท่องเที่ยวกับทีมงานบ้านโคกไคร จ.พังงา ก็ออกเดินทางต่อไปสู่ “หาดตั้งเลน” หรือ “สันนาคา” เพื่อชมกองทัพปูมดแดงนับหมื่นออกหากิน ซึ่งว่ากันว่าในบางช่วงบางมุม พวกมันดูคล้าย “ปูเดินขบวน” ที่ไม่ได้ออกมาไล่ใคร หากแต่พร้อมใจกันออกมาเดิน (หนี) สร้างสีสันให้พวกมนุษย์อย่างพวกเราได้ตื่นเต้นเพลิดเพลินกัน ในสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่สามารถพบเจอปูมดแดงมากที่สุดในเมืองไทย ที่ผมเพียงแค่คิดก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจไม่น้อยแล้ว...(อ่านต่อตอนหน้า)
##########################################################
บ้านโคกไคร ตั้งอยู่ที่ ม.1 ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นอยู่กับสภาพน้ำขึ้น-ลง จึงควรสอบถามตารางน้ำ เพื่อวางแผนการทำกิจกรรมล่องหน้า โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สมพร สาระการ 087-886-0465
และสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร สินค้าโอทอป การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ใน จ.พังงา ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพังงา โทร. 0 76413400-2