ชาวบุรีรัมย์นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ร่วมแสดงความจงรักภักดีด้วยการร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างและติดตั้งไฟฉัตร 9 ชั้นจำนวน 360 ต้น บริเวณวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องในวันจักรี นอกจากนั้นชาวบุรีรัมย์ยังได้ร่วมกันเป็นจิตอาสา ปิดทองคำเปลวที่ยอดฉัตรและฐานฉัตร ซึ่งการติดตั้งฉัตรได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้บริเวณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์มีความงดงามและโดดเด่นเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นแลนด์มาร์กโฉมใหม่ของจังหวัด และเพื่อเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองของจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ตัดถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ในอำเภอเมืองบุรีรัมย์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
พระบรมราชานุสาวรีย์มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับบนช้างศึก จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 7 กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบพระยานางรองซึ่งคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอินแห่งจำปาศักดิ์ ขณะเดินทัพกลับพบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจระเข้มาก มีชัยภูมิดีแต่ไข้ป่าชุกชุม ชาวเขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ จึงรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองแปะ และให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสมันซึ่งติดตามมาด้วยเป็นเจ้าเมือง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองบุรีรัมย์
ต่อมาใน พ.ศ.2539 โดยประชาชนชาวบุรีรัมย์ได้เห็นพ้องกันในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของพระผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ และเพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจในการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมหาจักรีบรมราชวงศ์
ในครั้งนั้น ประชาชนชาวบุรีรัมย์และชาวไทยได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 8 ล้านบาท จังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนอีก 7 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 15 ล้านบาท จากนั้นรัฐบาลได้มอบหมายให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และกรมศิลปากรดำเนินการออกแบบก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์กลางเมืองบุรีรัมย์
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ณ สี่แยกกลางเมืองบุรีรัมย์ โดย นายพร เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ขณะนั้น เป็นผู้กราบบังคมทูลรายงาน
และปัจจุบัน ในปี 2564 ชาวบุรีรัมย์ก็ได้ร่วมกันแสดงพลังศรัทธาอีกครั้งด้วยการร่วมกันสร้างไฟฉัตร 9 ชั้น เสา 360 ต้น ใช้เวลาในการดำเนินการ 2 เดือน เพิ่มความสง่างามให้แก่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช มากยิ่งขึ้น และในวันที่ 6 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันจักรี ทางจังหวัดบุรีรัมย์ก็จะมีการจัดงานพิธี “ทำบุญเบิกบ้าน ลูกหลานรัชกาลที่ ๑” เพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย