พื้นที่ใน “จันทบุรี” ในอดีตนั้นเคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะเข้าตีเมืองจันทบุรี และก่อนเข้าตีเมืองก็ได้เลือกบริเวณ “วัดพลับ” เป็นที่พักทัพ
และ “วัดพลับ” ในยุคนั้น ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (ปัจจุบันตั้งอยู่ใน ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี)
ตามประวัตินั้นวัดพลับเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า “วัดพลับสุวรรณพิมพราราม” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุวรรณติมพรุธาราม” มีความหมายว่า วัดพลับทอง และท้ายสุด ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพลับ”
ต่อมาใน พ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งตีฝ่าวงล้อมข้าศึกมาตั้งทัพที่ภาคตะวันออก พระองค์ทรงใช้สถานที่ที่วัดพลับเป็นที่พักทัพและจัดเตรียมกองทัพก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี ทั้งยังทรงประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร สร้างพระยอดธงแจกจ่าย และนำน้ำในบ่อน้ำมาทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมเหล่าทหารหาญ โดยกระทำพิธีปลุกเสกในอุโบสถหลังเก่า
ภายหลังเมื่อพระองค์กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาและจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยแม่ทัพนายกองได้เสด็จกลับมาบูรณะวัดพลับอีกครั้ง และได้นำพระยอดธงที่เหลือจากการแจกจ่ายทหารในครั้งนั้นเข้าบรรจุในพระเจดีย์กลางน้ำถวายเป็นพุทธบูชา
ปัจจุบันวัดพลับจึงถือเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี ที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่มากมาย โดยมีไฮไลท์อยู่ 9 จุดสำคัญที่เมื่อไปเยือนวัดแล้วจะต้องไม่พลาดไปชมและไปสักการะกัน ได้แก่
“พระอุโบสถ” ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง หน้าบันเป็นรูปพญาครุฑ ด้านหลังพระประธานภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เชื่อว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“พระปรางค์” สร้างเป็นแบบมณฑป ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีชั้นฐานเขียง ฐานปัทม์ ฐานสิงห์ ด้านนอกมีเจดีย์ทรงลังกาสร้างอยู่รายรอบ ส่วนยอดบนสุดตกแต่งด้วยตรีศูล เป็นการรวมสถาปัตยกรรมไทยต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม
“อนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน” สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมและเทิดทูนคุณงามความดีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้น้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้สำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมเหล่าทหารหาญก่อนยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี และได้นำไปใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอีกด้วย
“วิหารไม้” อายุกว่า 200 ปี สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนยอดของหลังคาเป็นทรงจตุรมุข มีเจดีย์ขนาดเล็กรูประฆังคว่ำประดับอยู่บนยอด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา หรือปางทรมานกาย อีกทั้งที่ฝาผนังไม้ยังมีลายจิตรกรรมซึ่งมีความสวยงามแต่เลือนลางไปมากแล้ว
“เจดีย์กลางน้ำ” เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่ออิฐถือปูน ไม่ประดับกระเบื้อง ลักษณะศิลปะแบบอยุธยาตอนกลาง ภายในเคยบรรจุพระยอดธง ซึ่งเป็นพระสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จนปัจจุบันก็เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลงพระว่า พระยอดธงดีต้องพระยอดธงวัดพลับบางกะจะ
“หอไตรกลางน้ำ” เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ตำราและหนังสือโบราณที่สำคัญ สร้างไว้ในสระน้ำก็เพื่อป้องกันปลวกแมลงเข้ามาทำลายเอกสารให้เสียหาย
“สำซ่าง” หรือ “สำสร้าง” เป็นเมรุสำหรับเผาศพเจ้านายชั้นสูง แม่ทัพนายกอง บุคคลสำคัญต่างๆ สร้างด้วยไม้เป็นรูปทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปลายยอดแหลม ด้านหน้ายังมีอาคารเป็นศาลาโถงอีกหนึ่งหลังซึ่งเป็นอาคารที่สร้างคู่กันมาแต่เดิม
“เรือยาวหม่อมหัวเขียว” เป็นเรือยาวขนาด 30 ฝีพาย เคยใช้ฉุดลากเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งล่องมาติดสันดอนของแม่น้ำจันทบูร จึงได้รับพระราชทานชื่อว่า "หม่อมหัวเขียว"
ต้องนับว่าที่ “วัดพลับ” แห่งนี้ เป็นอีกสถานที่รวบรวมสิ่งก่อสร้างและวัตถุสำคัญหลายชิ้นที่ควรค่าแก่การมาชมเป็นอย่างยิ่ง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline