หลังจากกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน วานนี้ (23 ก.พ. 64) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/ 2564 ได้ปรากฏชื่อ “เอนก นาวิกมูล” เป็นหนึ่งในศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
“เอนก นาวิกมูล” พื้นเพเป็นคนระโนด จ.สงขลา เกิดเมื่อปี 2496 ปัจจุบันอายุ 68 ปี เอนกเป็นนักวิชาการ นักเขียนสารคดี ที่รักการถ่ายภาพ การค้นคว้า และการเขียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์ประเพณีวิถีชีวิตที่ค้นคว้าและวิเคราะห์ผ่านภาพถ่ายเก่าแก่จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารและหนังสือเก่า รวมถึงออกเดินทางสำรวจพูดคุยกับผู้ให้ข้อมูล จนได้รับรางวัลผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2534 อีกทั้งยังมีผลงานเป็นหนังสือมากมาย อาทิ ถ่ายรูปเมืองไทยสมัยแรก, เก็บตกกรุงสยาม, ภาพเก่าเล่าตำนาน, เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า, สิ่งพิมพ์สยาม, หมายเหตุประเทศสยาม เป็นต้น
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของเอนก นาวิกมูล คือการเป็นนักสะสมของเก่า และผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” เจ้าของประโยค “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” ซึ่งเป็นแนวคิดในการสะสมของเก่าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอดีต จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” หรือ House of Museums ที่เป็นดังผลงานแห่งชีวิต ในย่านศาลาธรรมสพน์ พุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งหมายถึงบ้านที่รวบรวมของเก่าแก่แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อจัดแสดงถีชีวิตชาวตลาดชาวเมืองในยุค พ.ศ.2500 และใกล้เคียง และหวังว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพิพิธภัณฑ์แขนงต่างๆ ขึ้นอีกต่อไป
"บ้านพิพิธภัณฑ์" เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมตั้งแต่ 14 ก.ค. 2544 ข้าวของจำนวนมหาศาลที่ได้รับบริจาคมา รวมถึงหามาด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของเอนก นาวิกมูล ผู้มองเห็นคุณค่าในของเก่า โดยเขาเห็นว่าของดีจำนวนมากถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่เราไม่สามารถหาชมของจำพวกนี้ เช่น ตู้โต๊ะตั่งเตียงสวยๆ แบบเรียน ป้ายโฆษณา ขวดน้ำอัดลม แก้วน้ำ ชามก๋วยเตี๋ยว กล้องถ่ายรูป ของแถมของเล่น กระบอกเสียง ฯลฯ ได้จากพิพิธภัณฑ์ทั่วไป เพื่อให้มีแหล่งรับบริจาคและเก็บของ
เอนก นาวิกมูล เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุคส่วนตัว ระลึกถึงอดีตเมื่อครั้งยังเก็บสะสมข้าวของ และยังมิได้เปิดบ้านพิธภัณฑ์ขึ้นว่า (อ่านโพสต์เต็มได้ที่นี่)
“...ถุงทุกใบที่เคยแขวนบนขื่อนอกบ้านมีความหมายสำหรับผมมาก เพราะผมยังไม่มีที่สำหรับเก็บของดีๆ แม้แต่ชั้นเหล็กง่ายๆ เดิมมันเป็นแค่ถุงใส่ของจากห้างหรือร้านค้า ใช้งานเสร็จก็โยนลงขยะได้เลย แต่ผมเอามาใส่กล่องหรือซองขนมเด็กเปล่าๆ ใส่ของเล่น หรืออะไรก็ได้ที่เห็นว่าน่าเก็บไว้ดูในวันข้างหน้า
ผมแอบเรียกมันในใจว่า ‘ค้างคาว’ เพราะมันดูคล้ายนกมีหูหนูมีปีก ที่เอาตีนเกาะขื่อ กางปีกออกเล็กน้อย และเอาหัวห้อยลงผิดสัตว์อื่นๆ ตีนของถุงทำด้วยลวดแขวนเสื้อ ลวดอลูมีเนียมยืดออกได้ง่าย เหมาะสำหรับแปลงเป็นขอเกี่ยวคานได้ดี ฝนมา ลมมา แดดมา มันก็แกว่งอยู่อย่างนั้นจนกรอบแล้วกรอบอีก
ผมฝันลมๆ แล้งๆ ว่าของบ้าๆ พวกนี้ควรมีที่ให้มันอยู่บ้าง เอาไว้ให้เด็กรุ่นหลังดู ว่าเด็กยุคหนึ่งเคยกินขนมอะไร เล่นของเล่นแบบไหน ถ้ามีปัญญาอีกหน่อยก็อยากให้เก็บของย้อนไปหลายอย่างและหลายยุค ผมอยากเห็นของเล่นรัชกาลที่ 5 สมัยเป็นเด็ก แต่มันก็ไม่เคยปรากฏในพิพิธภัณฑ์แห่งไหน อยากเห็นลายมือเด็กๆสมัยโบราณอย่างศรีปราชญ์ -พระนเรศวร ก็ไม่เคยเห็นในพิพิธภัณฑ์ใด ฯลฯ หลายแห่งแสดงแต่เรื่องพระพุทธรูป เทวรูป ไม่สนใจแสดงข้าวของในวิถีชีวิตชาวบ้านชาวเมือง…”
บ้านพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้วิถีชิวิตในอดีต เปิดให้บริการมากว่า 20 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่สร้างความเสียหายแก่พิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมากเพราะน้ำท่วมมิดหัว แม้จะมีการเตรียมพร้อมอพยพขนย้ายแต่เนิ่นๆ แต่ก็มีข้าวของเสียหายไปเป็นจำนวนไม่น้อย จนต้องปิดให้บริการไปเป็นปี ก่อนที่จะปรับปรุงเสร็จและเปิดให้เข้าชมได้ และต่อมาช่วงต้นปี 2563 ก็ต้องปิดชั่วคราวอีกครั้งเมื่อเจอพิษโควิด-19 โดยปัจจุบันนี้บ้านพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมตามปกติในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. โดยมีค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กมัธยม 10 บาท เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) และผู้พิการเข้าชมฟรี และในอนาคตจะมีการขยับขยายพื้นที่ออกไปจัดแสดงที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มี 3 ชั้น การจัดแสดงแบ่งออกเป็นโซนๆ จำลองรูปแบบร้านรวงตลาดเก่า ทำเป็นสไตล์ห้องแถวร้านค้าประเภทต่างๆ มีของเก่าที่เกี่ยวข้องวางอยู่ในร้าน ทำให้คนมาชมรู้สึกเหมือนได้อยู่ในบรรยากาศจริงเมื่อราวปี 2500 ไม่ว่าจะเป็น ร้านของชำจันอับ ร้านจี้มิ้นขายยา ร้านหนังสือลิขิตสาสน์ ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้ามาชมได้สนุกสนานกับการถ่ายรูปในบรรยากาศจริง พร้อมกับรับรู้เรื่องราวในอดีตไปพร้อมๆ กัน
เอนก นาวิกมูลทำให้เราได้เห็นว่า ข้าวของต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะชิ้นเล็กชิ้นน้อยล้วนมีคุณค่า ขึ้นอยู่กับการบอกเล่า เขาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิตผ่านข้าวของเก่าๆ เหล่านี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในยุคนี้ได้หันกลับมามองรากเหง้าและอดีตของเราได้ชัดเจนขึ้น
บ้านพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ซอยศาลาธรรมสพน์ 3 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น.ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กมัธยม 10 บาท เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) และผู้พิการเข้าชมฟรี ดูรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านพิพิธภัณฑ์ได้ที่ เฟซบุค : Houseof Museums