นักธรณีวิทยาชี้ หินของปราสาทหินพันยอด จ.สตูล เคยถล่มลงมาเป็นเวลานานพอสมควร และตระหนักดีว่าการพังทลายคล้ายนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่นึกไม่ถึงว่าจะเร็วขนาดนี้
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nares Sattayarak หรือ นเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีวิทยาชาวไทย ผู้เคยรับราชการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษกรมทรัพยากรธรณี รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ผู้ค้นพบไดโนเสาร์ซิตตะโกซอรัสชนิดใหม่ และได้รับการตั้งชื่อว่าซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์หินถล่มบริเวณปราสาทหินพันยอด ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ว่า
“แสนเสียดายปราสาทหินพันยอด
เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ข้าพเจ้าพาเพื่อนกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวที่ปราสาทหินพันยอด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราในเขตอุทยานธรณีสตูล ก็ได้ถ่ายภาพและชี้ชวนให้พรรคพวกได้เห็นและเข้าใจกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่รังสรรค์ตกแต่งความสวยงาม แปลกตาของสถานที่นี้ ณ วันนั้นเรายังได้เห็นชั้นหินปูนที่ปรากฏตัวเป็นกำแพงด้านนอกของปราสาท ได้เห็นช่องว่างไม่กว้างและไม่สูงมากนัก ที่ซึ่งผู้นำเที่ยวจะพายเรือคายัคพาลูกทัวร์ของตนลอดเข้าและออกระหว่างท้องทะเลกับภายในตัวปราสาท
ณ วันนั้น เราสามารถมองเห็นชั้นหินปูนวางตัวในแนวราบ แม้ว่าจะมีรอยแยก และรอยเลื่อนอยู่ทั้งสองข้างของทางเข้าก็ตาม อย่างไรก็ตาม ทางด้านขวาของทางเข้าประมาณสักสิบเมตร จะมีหินปูนก้อนมหึมาขนาดใหญ่กว่ารถบรรทุกสิบล้อ หินก้อนนี้มีการวางตัวไม่ต่อเนื่องกับหินส่วนใหญ่ เห็นได้ชัดเจนว่า หินก้อนนี้ถล่มลงมาเป็นเวลานานพอสมควร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากการขยับตัวของเปลือกโลกตามรอยเลื่อน หรือว่าการถล่มลงไปเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก เนื่องจากมีโพรงขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ เพราะว่าทางด้านซ้ายของทางเข้า เราสังเกตได้ชัดเจนว่า มีหินปูนช่วงหนึ่งทรุดตัวลงไปตามแนวรอยเลื่อน ประมาณ 2 เมตร แต่ว่าเป็นการเลื่อนตัวที่ประณีต เพราะว่าชั้นหินยังคงวางตัวในแนวราบเช่นเดิม
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานว่า หินปูนที่ปราสาทหินพันยอดได้ถล่มลงมาปิดทางเข้าออกปราสาท จากภาพถ่ายของสำนักข่าวจะเห็นว่า การถล่มครั้งนี้มีการการขยับเคลื่อนมากพอสมควร แม้ว่าหินปูนในส่วนที่เคยปิดทางเข้าออกได้ถล่มลงในแนวดิ่ง แต่อีกสองก้อนที่ตั้งอยู่ทั้งซ้ายและขวา กลับทรุดตัวตะแคงลงด้านข้าง ทำให้ชั้นหินปูนที่เคยวางตัวในแนวราบ เอียงเทออกจากกัน
ถึงแม้ว่าจะพบรอยเลื่อนในชั้นหินหลายแนวที่นี่ แต่การถล่มของชั้นหินปูนในครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว (เพราะไม่มีการรายงานใดๆ) แต่น่าจะถล่มเนื่องจากการทรุดตัวของหินลงไปสู่โพรงที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำข้างล่าง โดยมีรอยเลื่อนเป็นตัวกำกับและกำหนดขอบเขตการถล่ม
ณ วันนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องสำรวจหาช่องทางที่จะให้เราสามารถเข้าออกไปสู่ปราสาทหินพันยอด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมความสวยงามอันน่าอัศจรรย์ของสถานที่แห่งนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องมั่นใจว่าดำเนินการในทุกด้านต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในอุทยานฯ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง
นักธรณีวิทยาตระหนักดีว่า การพังทลายคล้ายนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะสถานที่แห่งนี้ต้องประสบกับคลื่นลม พายุ น้ำขึ้นน้ำลง อยู่ตลอดเวลา ประกอบกับทั้งสิ่งเหล่านี้คือหินปูนที่มีทั้งรอยแตก รอยเลื่อน และโพรงใต้น้ำ แต่นึกไม่ถึงว่าอุบัติเหตุเช่นนี้จะเกิดขึ้นมาเร็วขนาดนี้”
ด้านเจ้าของเฟซบุ๊ก Narongrit Thu หรือ นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ หรือ “นายกโอเล่” นายก อบต.ทุ่งหว้า และ ผอ.อุทยานธรณีโลกสตูล โพสต์ถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์หินถล่มบริเวณปราสาทหินพันยอด ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 'Climate change' ณ บริเวณด้านหน้าปราสาทหินพันยอด ก่อให้เกิดรอยแตก รอยเลื่อน จากคลื่น ลม พายุ แสงแดด อากาศ จะต้องมีการสำรวจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopatl) จากนักธรณี เพื่อการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและนักท่องเที่ยว และจะต้องให้ความรู้แก่ จนท. ประชาชน และกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนต่อไป”
พร้อมกันนั้นยังได้โพสต์ภาพก่อนและหลังที่หินบริเวณปราสาทพันยอดจะถล่ม เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นจุดและรอยแตกดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับในขณะนี้ ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ได้ประกาศปิดปราสาทหินพันยอดชั่วคราว หลังเกิดหินถล่มเมื่อเวลา 05.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 21 ก.พ. 2564 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ขับเรือตรวจการณ์ออกสำรวจพื้นที่โดยรอบพบว่าได้มีหินถล่มบริเวณปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้สำรวจพื้นที่พบว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะมีหินถล่มมาอีก จึงได้ออกประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวบริเวณปราสาทหินพันยอดเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งได้สั่งการให้นำเชือกพร้อมธงแดงไปติดตั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์บริเวณอันตรายห้ามเข้า และประชาสัมพันธ์ไปยังวิสาหกิจชุมชนนำเที่ยว ขอให้งดให้การนำเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ “ปราสาทหินพันยอด” ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใน “อุทยานธรณีสตูล” ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ตั้งอยู่บริเวณเกาะเขาใหญ่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีชายหาดและน้ำทะเลสีเขียวมรกต ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหินปูนปลายยอดแหลมหน้าตาประหลาดมองดูคล้ายปราสาทที่มียอดนับพัน โดยเกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกมากว่าหลายร้อยล้านปีทำให้หินมีรูปร่างแปลกตา การมาเที่ยวที่นี่ต้องพายเรือคายัคลอดผ่านช่องแคบเข้าไปจะพบกับความอลังการของหินทรงปราสาทแห่งนี้
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com หรือชมคลิปต่างๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline