อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ร่วมกับ กรมศิลปากร สำรวจภาพเขียนสีโบราณ อายุกว่า 4,000 ปี บริเวณผาเสียวโว้ย อุทยานแห่งชาติน้ำพอง หน่วยพิทักษ์ที่ นพ.4 (หินช้างสี) โดยมีทั้งหมด 4 จุด
เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 นายเสกสรรค์ เที่ยงพลับ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง รายงานว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ ที่ นพ.4 (หินช้างสี) ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าสำรวจภาพเขียนโบราณอยู่ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำพอง หน่วยพิทักษ์ที่ นพ.4 (หินช้างสี) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
โดยใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติ "ผาเสียวโว้ย" มีทั้งหมด 4 จุด และแต่ละจุดอยู่ไม่ห่างไกลกันมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมภาพโบราณได้ จุดที่ 1 และจุดที่ 2 ด้วยตัวเองไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เดินนำทาง
สำหรับการเดินทาง ใช้เส้นทาง "ผาเสียวโว้ย" โดยจุดที่พบอยู่ทางด้านขวามือของเส้นทาง เดินเข้าไปประมาณ 30 เมตร จุดที่ 1 บริเวณนํ้าในโพรงหิน การเดินทางไม่ลำบาก ไม่มีความลาดชัน ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ภาพเขียนอยู่ฝั่งด้านขวามือ 20 เมตร
จุดที่ 2 บริเวณน้ำในโพรงหิน อยู่ตรงซ้ายมือ เดินเข้าไปไม่ถึง 10 เมตร ส่วนจุดที่ 3 จุดที่ 4 ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางเข้าไป ซึ่งอยู่บริเวณประตูทางเข้าผาเสียวโว้ย ซึ่งชาวบ้านใช้เรียกบริเวณนั้นว่า "บริเวณถ้ำหม้อ" หรือ "ทินกร 1" ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานสำรวจพื้นที่แล้วพบเจอภาพโบราณนี้
ลักษณะของภาพเขียนโบราณเป็นภาพลายเส้น สีแดง-ดำ มีรูปลักษณ์ลักษณะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ควายป่า สุนัขจิ้งจอก รูปนก สัญลักษณ์การทำพิธีกรรม เช่น รูปคน รูปพระอาทิตย์ และภาพแสดงแผนที่ต่าง ๆ อายุทางโบราณประมาณราว 2,000 ปี ถึง 4,000 ปี
ภาพและข้อมูลจากเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช