xs
xsm
sm
md
lg

ฝูงแร้งรุมกินซากศพ! จากโควิด-19 สู่ "แร้งวัดสระเกศ" หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โรคระบาดไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝูงแร้งรอคอยอยู่ที่วัดสระเกศ
เป็นเวลาหนึ่งปีกว่าๆ แล้วที่โรคโควิด-19 อุบัติขึ้นมาบนโลกใบนี้ และระบาดต่อเนื่องยาวนานไม่จบสิ้น จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งโลกทะลุ 100 ล้านคน และผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 2 ล้านคน นับเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุคนี้ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลก

สำหรับในเมืองไทยในวันนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 15,465 คน และผู้เสียชีวิตสะสม 76 คน ซึ่งก็ถือว่าสถานการณ์ในการรับมือโรคโควิด-19 ดีกว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่ทุกคนคาดหวังก็คืออยากให้โรคนี้หายไปและกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันได้เสียที ซึ่งก็จะทำให้สภาพความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของไทยกลับมากระเตื้องขึ้นด้วย

เจดีย์ภูเขาทอง
โรคระบาดในปัจจุบันนี้แตกต่างจากโรคระบาดในอดีตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ ความรู้ในการดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ รวมถึงการจัดการกับผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน

ในวันนี้เราจะขอพามาย้อนอดีตชมเสี้ยวหนึ่งของบรรยากาศโรคระบาดในเมืองไทย หากอยากเห็นบรรยากาศในสมัยนั้น ต้องมาที่ "วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร" หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดภูเขาทอง” โดยวัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อวัดสะแก ต่อมารัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325

แร้งวัดสระเกศอยู่บริเวณทางลงของภูเขาทอง


หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า "แร้งวัดสระเกศ" ซึ่งมีที่มาจากโรคระบาดเมื่อครั้งอดีตนั่นเอง โดยข้อมูลของวัดสระเกศเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2363 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “อหิวาตกโรค” หรือโรคห่า หรือไข้ป่วงใหญ่ ได้ระบาดจากปีนังมาสู่สยาม คร่าชีวิตชาวพระนครรวมมากกว่า 30,000 คน

บ้านเมืองในสยามสมัยนั้นห้ามเผาศพในเขตกำแพงเมือง ดังนั้นทุกวันศพของชาวเมืองจึงถูกลำเลียงออกทาง “ประตูผี” ซึ่งเป็นประตูเมืองเพียงประตูเดียวที่อนุญาตให้นำศพออกมาได้ และวัดสระเกศก็อยู่ใกล้กับประตูผีมากที่สุด จึงต้องรองรับศพจำนวนมาก โดยมีคนตายทุกวัน เผาศพทุกวัน เมื่อเผาไม่ทันก็ฝัง เมื่อฝังไม่ทันก็ต้องขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วโยนศพลงไปกองรวมกัน ซากศพเหล่านี้ดึงดูดนกแร้งซึ่งเป็นสัตว์กินซากมารวมกันเป็นจำนวนมาก

รูปจำลองฝูงแร้งแห่งวัดสระเกศ
โรคห่าเวียนมาระบาดในพระนครทุกฤดูแล้งจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ วัดสระเกศจึงเป็นที่ชุมนุมของแร้งมาอย่างต่อเนื่องเพราะมีอาหารตลอด โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.2392 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ห่าลงปีระกา” ที่ทำให้ชาวพระนครและหัวเมืองอื่นกว่า 1 ใน 10 ต้องตายลง

เมื่อมีคนตายวันละหลายร้อยคน กองศพจำนวนมหาศาลทำให้วัดสระเกศกลายเป็นแดนแห่งอสุภกรรมฐาน พระนักปฏิบัติจำนวนมากแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ต่างมานั่งพิจารณาอสุภะกันที่นี่

จำลองภาพบรรยาศกาศเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดในสยาม
ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่โรคห่าระบาดในสยาม วัดสระเกศเต็มไปด้วยนกแร้งที่เกาะอยู่ทั่วไปทุกที่ ทั้งบนเนินดิน บนต้นไม้ ขอบกำแพง ไม่เว้นแม้แต่หลังคากุฏิ เมื่อมีศพใหม่ถูกนำมาทิ้งก็จะพากันกระพือปีกเสียงเซ็งแซ่ กรูกันลงมารุมกินซากศพ หลายครั้งที่มันจิกตีกันเองเพื่อแย่งซากศพกัน ความน่าสยดสยองในการรุมทึ้งซากศพของแร้งวัดสระเกศเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว กลายเป็นตำนานแร้งวัดสระเกศที่เล่าขานกันจนถึงปัจจุบัน

ไม่เพียงเป็นเรื่องเล่าเท่านั้น ปัจจุบันวัดสระเกศยังได้สร้างรูปจำลองของฝูงแร้งที่ลงมาจิกกินซากศพไว้ให้คนปัจจุบันได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตกัน โดยสามารถมาชมได้ที่บริเวณทางลงของภูเขาทอง โดยหากใครขึ้นไปกราบพระบรมสารีริกธาตุด้านบนเจดีย์ภูเขาทองแล้ว ตอนลงให้เดินลงมาทางที่จะมายังวิหารหลวงพ่อโต ก็จะได้เห็นนกแร้งตัวโตยืนรออยู่ริมทางเดิน

ฝูงแร้งรอจิกทึ้งซากศพ


จากนั้นเมื่อเดินต่อมาอีก ก็จะมองเห็นฝูงแร้งเกาะอยู่ตามต้นไม้ และมีอีกฝูงใหญ่อยู่ตามพื้นดิน รุมล้อมซากศพชาวเมืองที่เสียชีวิตเพื่อรอจิกทึ้งซากเป็นอาหาร ขณะที่ชาวเมืองพระนครที่ยังมีชีวิตก็มารุมล้อมดูเพื่อเป็นมรณานุสติ

และจากจุดที่ชมหุ่นจำลองแร้งวัดสระเกศแล้ว เดิมต่อลงมาอีกนิดหนึ่งก็จะถึงวิหารหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปิดทองสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าตักกว้าง 7 ศอก 1 คืบ ส่วนสูง 10 ศอก นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่มากองค์หนึ่ง พระพุทธรูปที่ใหญ่ขนาดนี้ส่วนมากปั้นด้วยปูน ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” คงจะเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปใหญ่นั้นเอง

สักการะหลวงพ่อโต
นอกจากจะมากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนเจดีย์ภูเขาทอง ชมเรื่องราวของแร้งวัดสระเกศ และกราบสักการะหลวงพ่อโตแล้ว วัดแห่งนี้ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น "พระอุโบสถ" ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่แทนพระอุโบสถหลังเดิมของวัดสระแกในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระอุโบสถนั้นตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว อยู่บนลานกระเบื้องสีเหลืองนวลลวดลายโบราณ มีพัทธสีมากำหนดเขตพระอุโบสถประดิษฐานอยู่รอบ 8 ทิศ ในซุ้มทรงกูบช้าง ประดับด้วยกระเบื้องที่สั่งมาจากเมืองจีนอย่างวิจิตรสวยงาม และที่หน้าบันพระอุโบสถทั้งด้านหน้า-หลัง สลักลายกนก ลายก้านขดประดับกระจกสี ตรงกลางประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ


"พระวิหารหลวงพ่ออัฏฐารส" หรือ “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” พระพุทธรูปยืนศิลปะสมัยสุโขทัยอายุกว่า 700 ปี และเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 10.75 เมตร

มากราบ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสร้างไว้ให้ผู้ที่ไม่สามารถขึ้นไปบูชาบนองค์บรมบรรพตได้บูชาที่พระพุทธรูปองค์นี้แทน

ภูเขาทองเมื่อมองจากด้านล่าง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น