หนาวนี้ชาวกรุงคงได้หนาวกันสะใจ เพราะนอกจากลมหนาวจะพัดมาจริงจังไม่ได้มาแบบเล่นๆ แล้ว ก็ยังหนาวนานหลายวัน เป็นโอกาสดีให้ได้ขุดเอาเสื้อกันหนาวจากก้นตู้มาใส่กันให้เต็มที่ ยิ่งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และตามต่างจังหวัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง หนาวปากสั่นกันของจริง
แม้จะหนาวเย็นเพียงใด แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีหิมะตก บริเวณยอดภูยอดดอยที่อากาศหนาวจัดจนใกล้จุดเยือกแข็ง จะมีก็เพียงแต่แม่คะนิ้งหรือเหมยขาบ ซึ่งเป็นเกล็ดน้ำแข็งบนยอดหญ้า หรือมีลูกเห็บขนาดเล็กตก แต่ไม่เคยมีเกล็ดหิมะจริงๆ โปรยปราย นั่นเพราะการที่หิมะจะตกได้ต้องมีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งเมืองไทยยังไม่เคยเกิดขึ้น
แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่อยู่ใกล้เคียงกับเรา มีหลายอยู่แห่งทีเดียวที่มีอากาศเย็นจัดจนหิมะตก ดังนั้นก่อนที่ลมหนาวของเมืองไทยจะพัดจากไป เราจะพาไปหนาวสั่นกลางหิมะกันที่ 4 ประเทศในอาเซียนที่มีหิมะตกกัน
"ลาว"
เมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่เพิ่งจะมีหิมะตกในลาว ในแขวงเชียงขวาง ทางตอนเหนือของประเทศ ติดกับชายแดนประเทศเวียดนาม โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ได้ออกประกาศเตือนภัยอากาศหนาวบริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันออก โดยระบุว่ามวลอากาศเย็นจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีกำลังแรง และยังคงปกคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ สมทบกับกระแสลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ จะทำให้อากาศยังคงหนาวเย็นลงอีก และจะหนาวจัดในบริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันออก และในบางพื้นที่อาจมีฝนตกลงมาได้อีก
มวลอากาศเย็นคราวนั้นไม่เพียงหนาวจัด แต่ยังทำให้เกิดหิมะตกปกคลุมแขวงเชียงขวางจนขาวโพลนเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของหิมะที่ตกในลาว ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2559 ที่เมืองซำเหนือ และอีกบางพื้นที่ในแขวงหัวพัน ได้เเกิดหิมะตกลงมาคลุมหลายพื้นที่จนขาวโพลนเป็นวงกว้าง สร้างความแตกตื่นแก่ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยอุณหภูมิที่แขวงหัวพันในวันนั้นอยู่ที่ -3 องศา ทำให้สื่อออนไลน์ในแขวงหัวพันและทั่วประเทศลาว ต่างพากันส่งต่อภาพหิมะปกคลุมผิวดิน และผู้คนที่ออกมาดูหิมะกันอย่างแพร่หลาย
"เวียดนาม"
เช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม เมืองซาปา จังหวัดหล่าวกาย ซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามติดพรมแดนจีนด้านมณฑลยูนนาน พบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงมากจนหนาวจัด มีหิมะปกคลุม และมีหิมะสะสมบริเวณผิวถนน หนา 10 ซม. จนทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งจากถนนลื่น
ในปีนี้หิมะเริ่มตกโปรยปรายปกคลุมทั่วภูเขาโอกวีโห่ (O Quy Ho) ในจังหวัดลายเจิว (Lai Chau) และเมืองซาปา (Sa Pa) เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai) เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม โดยสภาพอากาศที่หนาวเย็นฉับพลันในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนามเป็นผลจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากจีนที่แผ่ลงมาปกคลุม
ที่เมืองซาปานี้มีบันทึกการเกิดหิมะตกหลายครั้งแล้ว แต่สำหรับในครั้งนี้ชาวเวียดนามก็ยังคงตื่นเต้นและเดินทางไปยังเขตที่สูงทางตอนเหนือของประเทศเพื่อเที่ยวชมหิมะตกกันเป็นจำนวนมาก
"เมียนมา"
เมียนมาก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีหิมะตกเป็นประจำตลอดปี โดยเฉพาะทางตอนเหนือสุดของประเทศในเมืองปูตาโอ เมืองทางตอนเหนือสุดของรัฐคะฉิ่น อันเป็นที่ตั้งของยอดเขา "ข่ากาโบราซี" (Khakaborazi) โดยยอดเขาลูกนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยฝั่งตะวันออก เป็นพรมแดนกั้นระหว่างเมียนมาและมณฑลยูนนาน สาธรารณรัฐประชาชนจีน
ยอดเขาข่ากาโบราซีมีความสูง 5,881 เมตร ซึ่งถือเป็นยอดเขาที่สุดในอาเซียน ด้วยตำแหน่งที่ตั้งและความสูงดังกล่าว บนยอดเขาจึงมีหิมะปกคลุมตลอดปี รวมถึงมีธารน้ำแข็งบนภูเขาอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้วที่เมืองมิตจินา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ที่อยู่ทางใต้ลงมา ก็ยังมีหิมะตกในเมืองด้วยเช่นกัน โดยในบริเวณนี้จะมีสภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และอากาศหนาวจัดจนถึงขั้นติดลบในฤดูหนาว ส่งผลให้เกิดหิมะตกได้นั่นเอง
"อินโดนีเซีย"
ประเทศอินโดนีเซีย แม้จะอยู่ตรงกันกับเส้นศูนย์สูตรพอดิบพอดี แต่ก็มีหิมะตกอย่างน่าอัศจรรย์ โดยอยู่ที่ยอดเขาปันจักจายา (Puncak Jaya) ในจังหวัดปาปัว เกาะนิวกินี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศปาปัวนิวกินี
ตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ภูเขาปันจักจายา มีความสูง 4,884 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดยเป็นยอดเขาสูงอันดับ 2 ในอาเซียน (รองจากยอดเขาข่ากาโบราซีของเมียนมา) เป็นภูเขาสูงที่สุดในอินโดนีเซีย ซึ่งในเทือกเขาเดียวกันยังมียอดเขาสูงลดหลั่นกันลงไปอีกหลายยอด คือ ตั้งแต่ 4,870 ลงไปจนถึง 4,808 เมตร แต่ก็มีเพียงยอดปันจักจายาที่มีหิมะคลุมอยู่ตลอดเวลา โดยถือว่าภูเขาลูกนี้เป็นสถานที่หนึ่งเดียวในโลกเขตร้อนที่มีธารน้ำแข็งเกิดขึ้นและถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ
ยอดเขาปันจักจายาอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งก็คือบริเวณที่พื้นผิวโลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่กลับปกคลุมไปด้วยหิมะ และมีธารน้ำแข็ง ทำให้เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก โดยการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ เมื่อปี 2552-2553 ได้พบว่า หิมะอาจจะอยู่ที่นั่นมาตั้งนานแล้ว อาจจะนานตั้งแต่มียอดเขาลูกนี้ขึ้นมา คณะได้ขุดเจาะลงไปจนถึงแก่นชั้นล่างของน้ำแข็ง นำตัวอย่างไปตรวจสอบและศึกษา ซึ่งอาจจะทำให้ทราบว่า ภูมิอากาศของโลกในยุคต่างๆ ในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงมาอย่างไรบ้าง ในช่วงหลายร้อยปี หลายพันปี หรืออาจจะนับหมื่นๆ ปีที่ผ่านมา
..........................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR