ใช้ชีวิตในปีใหม่ 2564 ในนักษัตรปีฉลูหรือ "ปีวัว" มาได้กว่า 2 สัปดาห์แล้ว แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 จะยังไม่คลี่คลาย และดูคล้ายว่าการดำเนินชีวิตในปีวัวนี้ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปแบบ New Normal ที่ไม่ง่ายดายนัก แต่ไม่ว่าปีนี้จะเป็นปีวัวใจดีหรือปีวัวดุ เราก็ขอให้ทุกๆ ท่านดำเนินชีวิตกันแบบมีสติ ปลอดโรคปลอดภัยกันไปได้ตลอดทั้งปี
เริ่มต้นในปีวัวนี้อาจไม่สามารถไปท่องเที่ยวที่ไหนได้อย่างคล่องตัวนัก ในวันนี้เราจึงจะขอพาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับ "วัว" กันแบบออนไลน์ จะมีที่ไหนบ้างนั้นเชิญรับชม
หาดทุ่งวัวแล่น
“หาดทุ่งวัวแล่น” อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในชายหาดชื่อดังของชุมพร หาดแห่งนี้มีแนวชายหาดยาวโค้งสวยงาม ทรายละเอียดสีขาวนวล ชายหาดค่อยๆ ลาดลงสู่ทะเล รวมถึงมีต้นมะพร้าวที่โน้มตัวเอียงเข้าสู่ท้องทะเล และหักเชิดยืนต้นขึ้น ดูสวยงามแปลกตา
เล่ากันว่าชื่อของหาดทุ่งวัวแล่นมีที่มาจากในอดีตมีอ่าวแห่งหนึ่งมีสัตว์นานาชนิดอยู่อาศัย วันหนึ่งเหล่านายพรานเข้าไปล่าสัตว์และพบวัวตัวหนึ่งจึงช่วยกันล้มด้วยปืน วัวเคราะห์ร้ายตัวนั้นได้ลงไปนอนแดดิ้น ก่อนที่นายพรานจะนำไปแล่เนื้อเพื่อเตรียมย่างกิน แต่ไม่ทันขาดคำ เจ้าวัวที่โดนถลกหนังไปครึ่งหนึ่งกลับลุกขึ้นและวิ่งหนีเข้าป่าไป เหล่าพรานถึงกับตกตะลึง จึงเป็นที่มาของชื่อ “หาดทุ่งวัวแล่น” โดยชายหาดนี้ก็มีรูปปั้นวัวตั้งอยู่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงตำนานนี้ด้วย
นอกจากนี้ที่รอบๆ บริเวณหาดทุ่งวัวแล่น ยังมีที่พัก ร้านอาหารจำนวนไม่น้อย ทำให้หาดทุ่งวัวแล่นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาสัมผัสความงามของหาดแห่งนี้อยู่ไม่ได้ขาด
เกาะวัวตาหลับ
อีกหนึ่ง “วัว” ในทะเล คือ “เกาะวัวตาหลับ” แห่งหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี โดยหมู่เกาะอ่างทองนี้มีเกาะน้อยใหญ่รวมกันมากถึง 42 เกาะ อยู่ห่างจากเกาะสมุยไปทางตะวันตกราว 20 ก.ม. จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลในปี 2520 และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคู่กับเกาะสมุย
เกาะวัวตาหลับนี้เป็นเกาะที่เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติขึ้นไปยังจุดชมวิวบนยอดเขาระยะทางประมาณ 450 เมตร เส้นทางจะผ่านความสูงชันของภูเขาหินปูนไปถึงจุดชมวิวบนยอดเขาใช้เวลาราว 20 นาที ด้านบนสามารถชมทิวทัศน์ของเกาะน้อยใหญ่ในหมู่เกาะอ่างทองกลางท้องทะเลสีมรกตงดงาม อีกทั้งบริเวณริมทางเดินหรือริมหน้าผาซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินปูนนี้ ถ้าสังเกตให้ดีอาจจะพบเห็นกล้วยไม้รองเท้านารีหมู่เกาะอ่างทอง กล้วยไม้หายากที่มีต้นกำเนิดและเป็นไม้เฉพาะถิ่นบริเวณนี้
ส่วนบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองที่อ่าวคา บนเกาะวัวตาหลับนี้ อยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวมะพร้าวร่มรื่นสวยงาม มีร้านอาหารและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้างแรมบนเกาะ อีกทั้งในยามเช้าที่หน้าอ่าวคายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกด้วย
ภูวัว
“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 116,562 ไร่ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของภาคอีสานขนานไปกับแม่น้ำโขง เกือบติดพรมแดนประเทศลาว อยู่ห่างจากแนวชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 160-448 เมตร
พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวมีทั้งหน้าผาสูงชันทางทิศตะวันออก เป็นผาหินทรายที่มีความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยา โดยมีลวดลายเหมือนเกล็ดงู คล้ายกับถ้ำนาคา (อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬ) อีกทั้งยังมีลวดลายของลานหินเป็นเส้นริ้วยาวสม่ำเสมอดูน่าอัศจรรย์มากทีเดียว นับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติและทางธรณีวิทยา รวมถึงมีความพิศวงเกี่ยวกับความเชื่อลึกลับของภูวัวอีกด้วย
ถนนคนเดินวัวลาย
ถนนคนเดินขึ้นชื่อที่สุดของเชียงใหม่สองแห่งก็คือถนนคนเดินท่าแพ และถนนคนเดินวัวลาย ที่นักช้อปจะต้องไม่พลาดไปเดินซื้อหาของฝากกัน โดยถนนคนเดินท่าแพเปิดขายทุกเย็นวันอาทิตย์ ส่วนถนนคนเดินวัวลายเปิดขายทุกเย็นวันเสาร์
สำหรับ “ถนนคนเดินวัวลาย” นั้น ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 1 ก.ม. ตั้งแต่บริเวณประตูเชียงใหม่ ไปบรรจบกับถนนทิพย์เนตร ถนนสายนี้เป็นย่านที่มีชื่อเสียงเรื่องของเครื่องเงิน เพราะเป็นถิ่นที่อยู่ของช่างเครื่องเงินที่เดิมเคยอยู่ที่รัฐฉาน ที่ตอนหลังอพยพโยกย้ายมาตั้งรกรากกันที่นี่ บนถนนสายนี้จึงมีร้านเครื่องเงินหลายร้านเปิดให้เข้าไปแวะชมช้อปกัน อีกทั้งยังมีวัดงามอย่าง “วัดศรีสุพรรณ” ซึ่งมีอุโบสถเงิน สร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาการทำเครื่องเงิน โดยใช้กรรมวิธี บุ ดุนลวดลายด้วยแผ่นเงิน เงินผสม และวัสดุแทนเงิน (อลูมิเนียม) ทั้งภายในภายนอก งดงามสมชื่อย่านเครื่องเงินเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำคืนของวันเสาร์ ถนนวัวลายก็จะกลายเป็นถนนคนเดินที่นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อของฝากของกิน ตลอดจนเครื่องเงินซึ่งถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อของท้องถิ่นได้ที่นี่ รวมถึงเยี่ยมชมวัดศรีสุพรรณยามค่ำคืนก็ได้เช่นกัน
สี่แยกคอกวัว
“สี่แยกคอกวัว” ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร บริเวณจุดตัดของถนนราชดำเนินกลางกับถนนตะนาว มองดูแล้วไม่เห็นมีวัวสักตัว แต่ที่ได้ชื่อว่าสี่แยกคอกวัวก็เนื่องจากในอดีตช่วงต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๓ พระองค์โปรดเสวยนมวัว พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มีการเลี้ยงวัวหลวงพันธุ์ให้น้ำนมเป็นจำนวนมากเพื่อเสวยและถวายแด่พระสงฆ์ที่บิณฑบาตโดยพระองค์เอง โดยคอกวัวหลวงนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังมากนัก นั่นก็คือตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัวในปัจจุบันนั่นเอง โดยมีชาวฮินดูที่อาศัยอยู่รอบๆ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เป็นผู้ดูแล
ทุกๆ เช้าจะมีแขกนุ่งห่มอย่างพราหมณ์นำขวดนมจากคอกวัวหลวงนี้มาส่งที่ประตูสนามราชกิจในพระบรมมหาราชวังทุกวัน และนมวัวนี้ก็จะต้องนำไปตั้งไว้ให้กับพระราชาคณะไว้ฉันรองท้องก่อนเพลอีกด้วย
โดยคอกวัวหลวงนี้มีอยู่ต่อมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการขยายเขตพระนครออกไป คอกวัวหลวงจึงเหลือไว้เพียงชื่อ และกลายเป็น “สี่แยกคอกวัว” มาจนปัจจุบัน
วัดโคนอนภาษีเจริญ
ปิดท้ายด้วย “วัดโคนอน” ในซอยเทอดไท 59 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร วัดโบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดูจากอุโบสถหลังเก่าซึ่งเป็นแบบมหาอุด รวมถึงตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ
ชื่อเสียงของวัดโคนอนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักนิยมพระเครื่อง โดยมีพระเกจิผู้ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาคือ “หลวงปู่รอด” และ “หลวงปู่เอี่ยม” โดยหลวงปู่รอดเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมสูงยุคนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอนในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนหลวงปู่เอี่ยมเป็นลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิดและได้รับถ่ายทอดวิชามาจากหลวงปู่รอด เมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอนแทน (ภายหลังหลวงปู่เอี่ยมมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหนังสืบต่อมาจนมรณภาพ)
ภายในวัดโคนอนมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคืออุโบสถหลังใหม่วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 โดยทั้งประตูและหน้าต่างเป็นไม้สักซึ่งใช้ไม้ท่อนเดียวล้วน พื้นปูด้วยหินอ่อน หน้าบันอุโบสถมีพระปรมาภิไธย ภปร. ขึ้นประดิษฐานไว้ทั้งสองด้าน นอกจากนั้นภายในวัดยังมีกุฏิเก่าแก่เรือนไทย วิหารหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่รอดอีกด้วย