xs
xsm
sm
md
lg

“หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ปรากฏการณ์ปลุกกระแสท่องเที่ยววัดท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุกกี้เหล่าหิมพานต์มาร์ชเมลโล่แสนน่ารัก หนึ่งในฝีมือการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ (ภาพ: twitter @3point14stuff)
เป็นกระแสน่ารักๆ ส่งท้ายปีที่หลายคนยังชื่นชม ชื่นชอบและติดตามมาจนถึงตอนนี้ สำหรับ "หิมพานต์มาร์ชเมลโล่" หรือบรรดาตัวการ์ตูนน่ารักๆ ที่สร้างสรรค์ต่อยอดมาจากสัตว์ป่าหิมพานต์ที่ปรากฏตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วไทย กระแสดังกล่าวไม่เพียงเป็นความน่ารักเท่านั้น แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันหน้าเข้าวัดกันอย่างเต็มใจ ปลุกกระแสการท่องเที่ยววัดท้องถิ่นได้อย่างน่าชื่นชม

ช่างพื้นบ้าน สร้างสรรค์งานนาอีฟ อาร์ต

ขออธิบายถึงการกำเนิดของ "หิมพานต์มาร์ชเมลโล่" อีกครั้งสำหรับคนที่ยังไม่ทราบถึงที่มา

อย่างที่เราเห็นและคุ้นเคยกันดีในวัดวาอารามต่างๆ ที่จะมี “สัตว์หิมพานต์” หรือสัตว์ในจินตนาการอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส ดังที่ปรากฏในวรรณคดีไตรภูมิพระร่วงและรามเกียรติ์ โดยช่างจะสร้างสัตว์หิมพานต์เหล่านี้เป็นงานประติมากรรมประดับไว้ตามที่ต่างๆ ของวัด ไม่ว่าจะพญานาคบนราวบันไดโบสถ์ สิงห์ที่ประตูวิหาร ทางเข้าวัด หรือบริเวณฐานเจดีย์ เป็นต้น

มอม แห่งวัดเจติยภูมิ จ.ขอนแก่น

เหรา แห่งวัดชัยภูมิการาม จ.อุบลราชธานี
ในวัดหลวงหรือวัดในเมืองที่มีช่างฝีมือชั้นเยี่ยม สัตว์หิมพานต์เหล่านี้ก็จะงดงามอ่อนช้อยสมส่วน แต่สำหรับวัดที่อยู่ห่างไกล มีเพียงช่างพื้นบ้านหรือพระเณรที่มีศรัทธาแต่ไม่มีพื้นความรู้ทางศิลปะ หรือช่างสร้างขึ้นตามคำบอกเล่า ไม่เคยเห็นงานประติมากรรมต้นแบบ ดังนั้นสัตว์หิมพานต์ในวัดเล็กๆ เหล่านี้ก็อาจถูกสร้างขึ้นมาแบบขาดๆ เกินๆ ไม่ได้สัดส่วนสวยงามตามแบบฉบับ เช่น สิงห์ที่ดูบ้องแบ๊วมากกว่าน่าเกรงขาม เหราหน้าตาเหรอหรา ตัวมอมอ้วนปุ๊กลุกอ้าปากกว้าง เป็นต้น

แต่ความขาดเกินไม่สมส่วนนั้น กลับกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ใสซื่อ ซึ่งเรียกกันว่า “นาอีฟ อาร์ต” (Naïve art) หรือศิลปะที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ไร้มารยา ไม่ซับซ้อน ทำไปตามจินตนาการ แม้ไม่ถูกต้องตามทฤษฎี แต่ก็แสดงถึงพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเราจะพบเห็นผลงานนาอีฟ อาร์ตของช่างพื้นบ้านเหล่านี้ได้มากตามวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ

สิงห์ แห่งวัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง

พญานาค แห่งวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จ.อุดรธานี
ปรากฏการณ์ “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่”

สัตว์หิมพานต์ที่เป็นผลงานแบบนาอีฟอาร์ตเหล่านี้อยู่คู่กับวัดมานานนมแล้ว บางครั้งถูกหยิบยกมาพูดถึงในแบบขำขันถึงหน้าตาท่าทางที่ดูตลก แต่สิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์ “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” เกิดขึ้นจนเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลมีเดียก็เมื่อคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นความน่ารักในงานประติมากรรมที่เรียบง่ายเหล่านี้ได้นำเอาสัตว์หิมพานต์มาสร้างสรรค์ต่อในรูปแบบของการ์ตูนให้ดูน่ารักน่าชังยิ่งไปกว่าเดิม และเผยแพร่กันต่อไปภายใต้แฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ใครเห็นใครก็รักจนต้องแชร์ต่อ ทำให้กลายเป็นกระแสดังระเบิด

สำหรับสัตว์หิมพานต์ที่นำมาทำเป็นตัวการ์ตูนนั้นหลักๆ ก็คือ “มอม” แห่งวัดเจติยภูมิ จ.ขอนแก่น มอมเป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้งสุนัข แมว ตุ๊กแก กิ้งก่า ลิง เสือ ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน “เหรา” แห่งวัดชัยภูมิการาม จ.อุบลราชธานี โดยเหรา (เห-รา) มีลักษณะคล้ายนาค มีขา มีเขาเหมือนมังกร มีหงอนอยู่กลางหัว มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถาน “สิงห์” แห่งวัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง และ "นาค" แห่งวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จ.อุดรธานี

ตัวมอมเกาะแก้วสุดน่ารัก (ภาพ: เพจ Kaze_studio)

ตัวการ์ตูนเหล่าสัตว์หิมพานต์น่าเอ็นดู (ภาพ: เพจ Butapokko)
ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์ในรูปแบบของการ์ตูนเท่านั้น เจ้าหิมพานต์มาร์ชเมลโล่เหล่านี้ ยังกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์สุดคิ้วท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโมเดล 3 มิติ ตุ๊กตานุ่มนิ่ม ขนมคุกกี้ พวงกุญแจ สติ๊กเกอร์ ฯลฯ เปิดให้ผู้ที่ชื่นชอบได้ซื้อหาไปเป็นของสะสม หรือแม้แต่ลวดลายการสักบนร่างกาย และล่าสุดก็จะถูกนำไปสร้างเป็นตัวละครในเกมด้วย ซึ่งถือเป็นการต่อยอดของคนรุ่นใหม่ที่ทันกระแส มากไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น การที่สัตว์หิมพานต์เหล่านี้ถูกแชร์กันอย่างแพร่หลายผ่านรูปแบบที่น่ารักน่าสนใจ ก็เป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไปในตัว ทำให้คนต้องไปค้นหาต่อว่าตัวมอมคืออะไร เหราคืออะไร มกรคืออะไร มีตำนานเป็นอย่างไร มีสัตว์หิมพานต์ชนิดใดอีกบ้าง มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร ถือเป็นการสร้างฐานความรู้ให้คนรุ่นใหม่ แบบที่ผู้รับยินดีที่จะรับโดยไม่ต้องยัดเยียด

กลายเป็นตัวละครในเกม (ภาพ: เพจ Himmapan Marshmello Saga)

ภาพจากวัดท้องถิ่นต่างๆ ที่สมาชิกกลุ่มหิมพานต์มาร์ชเมลโล่นำมาแชร์แลกเปลี่ยนกันชม (โพสต์โดย Angmujcha Panuwat)
ปลุกกระแสเที่ยววัดท้องถิ่น

ในตอนนี้แม้กระแสหิมพานต์มาร์ชเมลโล่จะซาลง แต่ก็ไม่ได้จางหายไป เพราะมีการตั้งกลุ่ม “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ในเฟซบุคโดยมีจำนวนสมาชิกกว่า 30,000 คน มาโชว์ผลงานการ์ตูนแฟนอาร์ตน่ารักๆ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเหล่าหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ผ่านกรุ๊ปแห่งนี้

และที่สำคัญคือมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและภาพถ่ายของเหล่าสัตว์หิมพานต์ตามวัดต่างๆ ที่สมาชิกในกลุ่มได้ไปพบเจอมา ทำให้เราได้เห็นผลงานนาอีฟอาร์ตน่ารักๆ ของช่างพื้นบ้านตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศว่ามีอยู่อีกมากมาย ทำให้หลายๆ คนเมื่อได้ไปเยือนวัดต่างๆ ในเวลานี้ก็มักจะมองหางานประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ว่าตัวไหนพอจะเป็น “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ได้บ้าง แล้วก็ถ่ายรูปมาแบ่งกันดูภายในกรุ๊ป

ส่วนวัดที่มีผลงานหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ยอดนิยมอย่างที่วัดเจติยาราม จ.ขอนแก่น วัดชัยภูมิการาม จ.อุบลราชธานี ที่กล่าวไปตอนต้นแล้วนั้น ก็ได้รับอานิสงส์ให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนเพื่อไปเยี่ยมชมผลงานประติมากรรมของจริง ซึ่งก็ถือเป็นการปลุกกระแสการเที่ยววัดท้องถิ่น พาให้เหล่าวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่หันหน้าเข้าวัดกันอย่างเต็มใจ ด้วยเสน่ห์ของเจ้าหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ที่แสนจะน่ารักนั่นเอง

ภาพจากวัดท้องถิ่นต่างๆ ที่สมาชิกกลุ่มหิมพานต์มาร์ชเมลโล่นำมาแชร์แลกเปลี่ยนกันชม (โพสต์โดย Dkm Pangzzee)

ผลงานการ์ตูนขำๆ ในกลุ่มหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ (ภาพ: เฟซบุค กัมพล แซ่เอียว)
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager




กำลังโหลดความคิดเห็น