xs
xsm
sm
md
lg

เดินเพลิน “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ชมตึกเก่าสุดคลาสสิก ผสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ย่านเมืองเก่าภูเก็ต
“ภูเก็ต” เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผืนน้ำที่อยู่ล้อมรอบ และเกาะแก่งน้อยใหญ่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ภาพน้ำทะลสีฟ้าสวยใส ตัดกับผืนฟ้าสีคราม เป็นภาพจำของสถานที่ท่องเที่ยวของภูเก็ตไปแล้ว

แต่อีกแห่งหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวคึกคักไม่แพ้กันก็คือ “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ที่ถือว่าตั้งอยู่ในกลางของเมืองภูเก็ต และเป็นอีกจุดที่มีผู้คนแวะเวียนมาถ่ายรูปกันแบบไม่ขาดสาย

อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส
ในอดีต ภูเก็ตเต็มไปด้วยทรัพยากรแร่ดีบุกที่มีราคาสูง เป็นแหล่งค้าขายดีบุกที่เฟื่องฟูอย่างมาก ในย่านเมืองเก่าแห่งนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ในช่วงการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก และการค้าดีบุก ในยุคนั้นจึงมีชาวต่างชาติทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับ และยุโรป เข้ามาทำการค้าและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันเมืองท่าอื่นๆ ในแหลมมลายู เช่น ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์

การเข้ามาของชนชาติต่างๆ ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งวัฒนธรรม อาหารการกิน ภาษาพูด รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเมืองภูเก็ตด้วย ซึ่งอาคารแบบที่เห็นในย่านเมืองเก่าภูเก็ตนั้น เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในราวปี พ.ศ.2446 เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป เกิดเป็นอาคารในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” และได้รับความนิยมก่อสร้างขึ้นมามากในยุคที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ.2444-2456

อาเขต หรือ หง่อคาขี่
คำว่า “ชิโน” คือ จีน ส่วนคำว่า “โปรตุกีส” คือประเทศโปรตุเกสในทวีปยุโรป เป็นอาคารที่เกิดจากความผสมผสานระหว่างโครงสร้างแบบยุโรป และความอ่อนช้อยแบบจีน ลักษณะอาคารที่มักพบก็คือตึกลึกยาวประมาณ 2-3 ชั้น โดดเด่นด้วยซุ้มประตูโค้งด้านหน้า งดงามด้วยลวดลายประดับที่ผสมผสานระหว่าง 2 วัฒนธรรม

ถ้าเป็นอาคาร 2 ชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้ง ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า "อาเขต" หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า "หง่อคาขี่" ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต เป็นแนวทางเดินสาธารณะ ที่ทั้งกันแดด กันฝน เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

หน้าต่างวงโค้งเกือกม้าแบบตะวันตก
นอกจากนี้ อาคารในสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ยังมีการนำลวดลายศิลปะตะวันตกแบบกรีก-โรมันมาใช้ เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น

และสิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือ ลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีนประดับอยู่บนโครงสร้างอาคารแบบโปรตุเกส บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน

ปรังปรุงตึกเก่าเป็นร้านกาแฟ
ปัจจุบัน ตึกเก่าสุดคลาสสิกเหล่านี้ถูกปรับปรุง พัฒนา และตกแต่งให้สวยงาม ทาสีสันสดใส บางส่วนยังเป็นที่อยู่อาศัย แต่ส่วนใหญ่ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ต่างๆ รวมถึงที่พักขนาดเล็ก โดยตึกเหล่านี้จะมีอยู่ทั้งสองข้างทางของถนนหลายสาย เช่น ถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช ซอยรมณีย์ เป็นต้น

ถนนถลาง

อาคารไชน่า อินน์

ร้านหงวนซุนต๋อง
จุดใหญ่ๆ ที่นักท่องเที่ยวมักจะแวะไปถ่ายรูปก็มีอยู่หลายที่ ตัวอย่างที่ “ถนนถลาง” ถือว่าเป็นถนนสายกลางที่มีร้านรวงอยู่มากมาย แต่ละบ้านทาสีสันสดใส ชั้นล่างมีร้านค้ามากมาย ทั้งร้านขายของที่ระลึก คาเฟ่ ร้านอาหาร ที่พัก มีมุมถ่ายรูปสวยๆ อยู่หลายจุด

อาคารบางหลังก็มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยจะมีข้อมูลติดให้รู้ไว้ที่ด้านหน้า เช่น “อาคารไชน่า อินน์” ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่าหนึ่งศตวรรษ เดิมเป็นบ้านของคหบดีคนสำคัญของภูเก็ตในยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู เคยเปิดเป็นสำนักงานดำเนินกิจการโพยก๊วน (การส่งเงินจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง โดยใช้แค่โทรศัพท์สั่งการ อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเจ้าของเงิน และร้านค้าที่รับเป็นตัวกลาง เป็นรูปแบบการโอนเงินแบบดั้งเดิม) และรับซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือจะเป็น “หงวนซุนต๋อง” ร้านขายยาสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต เป็นที่พึ่งให้ชาวภูเก็ตมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเปิดขายยาสมุนไพรอยู่เช่นเดิม

ถนนดีบุก

ซอยรมณีย์
มาที่ “ถนนดีบุก” ก็มีอาคารเก่าแก่ที่ถูกปรับปรุงอย่างสวยงาม มีวัดไทยอยู่กลางย่านเมืองเก่าคือ “วัดมงคลนิมิตร” เป็นวัดหลวงประจำจังหวัดภูเก็ต ฝั่งตรงข้ามกันคือ “ซอยรมณีย์” ที่ตัดเชื่อมระหว่างถนนดีบุกและถนนถลาง ในอดีตคือซอยแห่งสถานเริงรมย์ ด้วยมีหญิงงามจากมาเก๊ามาขายบริการ ปัจจุบันตึกเหล่านี้ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันสดใส แล้วปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ ร้านขายของฝาก เกสต์เฮาส์ บางส่วนก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัย

หอนาฬิกาอาคารสถานีตำรวจตำบลตลาดใหญ่ และอาคารธนาคารชาเตอร์ด

อาคารสวย จุดถ่ายรูปยอดฮิต
ย้ายมายัง “ถนนพังงา” อีกหนึ่งถนนที่มีอาคารสวยๆ อยู่สองข้างทาง บริเวณช่วงสี่แยกตัดกับถนนภูเก็ต มีอาคารสีสันโดดเด่นสะดุดตา นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาถ่ายรูปกันในจุดนี้ นั่นก็คือ หอนาฬิกาอาคารสถานีตำรวจตำบลตลาดใหญ่ และอาคารธนาคารชาเตอร์ด ปัจจุบันถูกปรับปรุงและทาสีเหลืองสดใส ปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ “มิวเซียม ภูเก็ต”

ศาลเจ้าแสงธรรม

ด้านในศาลเจ้าแสงธรรม
เดินลึกเข้าไปยังถนนพังงา ยังมีอาคารสวยๆ หลายแห่ง อย่างอาคารธนาคารต่างๆ โรงแรมที่ตกแต่งในบรรยากาศยุคเก่า และยังมี “ศาลเจ้าแสงธรรม” ศาลเจ้าเก่าแก่อายุนับร้อยปี สถาปัตยกรรมรูปแบบจีนประเพณี โดยตัวอาคารเป็นรูปแบบเก๋งจีนขนาดเล็ก กะทัดรัด ส่วนบนหลังคามีปูนปั้นรูปมังกรและตุ๊กตาจีน ซึ่งเป็นที่นิยมในมณฑลฮกเกี้ยนประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

สตรีทอาร์ทย่านเมืองเก่าภูเก็ต

สตรีทอาร์ทย่านเมืองเก่าภูเก็ต
เดินถ่ายรูปตามถนนและตรอกซอกซอยต่างๆ ไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็จะมีสตรีทอาร์ทซ่อนอยู่หลายๆ จุด เล็กบ้างใหญ่บ้าง พอเหนื่อยแล้วก็แวะเข้าคาเฟ่ จิบเครื่องดื่มชิมขนมให้คลายเมื่อย ก่อนจะออกไปเดินเล่นกันต่อ ซึ่งไม่ว่าจะมาในช่วงเช้า กลางวัน หรือช่วงเย็น ก็จะมีความสวยในแบบที่แตกต่างกัน

ย่านเมืองเก่าภูเก็ตยามค่ำคืน

ย่านเมืองเก่าภูเก็ตยามค่ำคืน
และหากจะให้ดี แนะนำว่าให้เผื่อเวลามาเดินย่านเมืองเก่าช่วงเย็นวันอาทิตย์ เพราะที่นี่จะจัด “หลาดใหญ่” ถนนคนเดินในย่านเมืองเก่า (บริเวณถนนถลาง) ให้ได้เดินชม ชิม ชอป ทั้งของอร่อยท้องถิ่น ของฝาก ของที่ระลึกสวยๆ กันได้อย่างเต็มอิ่ม

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com หรือชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR




กำลังโหลดความคิดเห็น