ในวันเพ็ญเดือนแปดตามปฏิทินจีน ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญอีกเทศกาลหนึ่ง นั่นคือ "เทศกาลไหว้พระจันทร์" อันเป็นหนึ่งในแปดสารทใหญ่ของชาวจีนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
สำหรับคนจีนมีความเชื่อว่าดวงจันทร์เป็นตัวแทนของเพศหญิง มีความนุ่มนวล สงบร่มเย็น และยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความรัก อันน่าจะมีที่มาจากตำนานความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้พระจันทร์ ซึ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเห็นจะเป็นตำนานของ “เทพธิดาฉางเอ๋อ” ซึ่งเป้นเรื่องราวของ ฉางเอ๋อ หญิงงามนางหนึ่ง ได้กินยาวิเศษเข้าไป ก็สามารถเหาะเหินขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ จากนั้นก็กลายเป็นอมตะ และเป็นเทพธิดาแห่งพระจันทร์ เล่ากันว่านางเป็นเทพธิดาที่มีความเมตตาอย่างมาก เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกก็จะพรมน้ำอมฤตลงมาบนพื้นโลก ทำให้ชาวไร่ชาวนามีน้ำในการเพาะปลูก ผู้คนจึงแสดงความกตัญญูต่อเทพธิดาด้วยการทำขนมพิเศษเพื่อนำไปเป็นเครื่องสักการะ
นอกจากนี้ก็ยังมีตำนานที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็ยังมีแนวคิดหลักคือความงดงามและจิตใจที่เมตตาของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ จึงกลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องสักการะ แสดงความกตัญญูต่อดวงจันทร์ และนอกเหนือจากนี้ ยังถือว่าพระจันทร์กลมโตนั้นเปรียบเสมือตัวแทนของความคิดถึง ไม่ว่าจะมองพระจันทร์จากตรงไหนก็รับรู้ได้ถึงความห่วงใยของสมาชิกในครอบครัว
ในส่วนของ “ขนมไหว้พระจันทร์” นั้น ถือเป็นของสำคัญสำหรับเซ่นไหว้พระจันทร์ในเทศกาลนี้ โดยจะเป็นขนมเค้กทรงกลม ทำจากแป้ง มีไส้ต่างๆ นำมากดใส่แป้นพิมพ์ลวดลายสวยงามและเป็นมงคล จากนั้นก็นำไปอบแล้วเคลือบผิวด้วยน้ำเชื่อม สำหรับไส้ด้านในก็จะมีหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น และยังเลือกวัตถุดิบสำหรับทำไส้ตามชื่อที่มีความหมายเป็นมงคล ที่คุ้นเคยกันดี อาทิ ไส้เม็ดบัว ไส้โหงวยิ้ง ไส้เกาลัด ไส้ลูกพลัม เป็นต้น และในปัจจุบันก็ยังมีการพัฒนาไส้ใหม่ๆ ผสมผสานกับแบบดั้งเดิมอีก อย่างเช่น ไส้ชาเขียว ไส้ทุเรียน ไส้ช็อกโกแลต ไว้คัสตาร์ด เป็นต้น
ขั้นตอนการไหว้พระจันทร์ก็คล้ายกับการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ซึ่งเดิมนั้นชาวจีนที่เป็นผู้ชายไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าพระจันทร์ถือเป็นธาตุของผู้หญิง ดังนั้นจึงให้เฉพาะผู้หญิงเป็นคนไหว้ แต่ปัจจุบันทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้ แต่มักให้ผู้หญิงเป็นคนเริ่มไหว้คนแรก
พิธีไหว้ก็จะเริ่มตั้งแต่การไหว้เจ้าในช่วงเช้า มีการไหว้บรรพบุรุษ และไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำ โดยเริ่มไหว้ได้ตั้งแต่พระจันทร์ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า และควรไหว้ให้เสร็จก่อนที่พระจันทร์จะตรงหัว เมื่อเสร็จพิธีแล้วคนในครอบครัวจะมาตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ โดยขนมจะต้องแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดเท่าๆ กัน ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี และความกลมเกลียวของคนในครอบครัว และยังมีความเชื่อว่า การได้กินของหวานร่วมกัน จะสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และสดชื่น อีกทั้งยังได้ดื่มด่ำกับความสุขในช่วงท้ายของฤดูใบไม้ร่วง ก่อนจะก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวอันแห้งแล้ง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่Youtube :Travel MGR