xs
xsm
sm
md
lg

ป้ายกูลิโกะปิดไฟมืดในรอบ 9 ปี ขานรับนโยบายกักตัวอยู่บ้านของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ป้ายกูลิโกะใจกลางย่านโดทงโบริงดการเปิดไฟในช่วงนี้
"ป้ายกูลิโกะ" สัญลักษณ์ของเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ปิดไฟมืดตอบรับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ประชาชนงดเว้นการออกไปนอกบ้าน เพื่อไม่ให้ผู้คนมาชุมนุมถ่ายรูปกัน โดยเป็นการปิดไฟเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

เพจ Japan Guide Book กล่าวว่า ป้ายกูลิโกะในย่านโดทงโบริ ย่านท่องเที่ยวและการค้าชื่อดังของเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ตอบรับนโยบายกักตัว งดเว้นการออกไปข้างนอก ด้วยการปิดไฟที่ป้ายกูลิโกะสัญลักษณ์ของย่านนี้เพื่อทำให้ผู้คนไม่รวมตัวถ่ายภาพ อันจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) โดยปิดไฟมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน และยังไม่มีกำหนดเปิด

ทั้งนี้ตามปกติแล้วไฟที่ป้ายกูลิโกะจะเปิดขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ตก 30 นาที ยาวไปจนถึงเที่ยงคืน เปิดเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน แต่ครั้งก่อนหน้านี้ที่มีการปิดไฟก็คือหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภูมิภาคโทโฮคุ ใน ค.ศ.2011 ซึ่งครั้งนั้นได้ปิดไฟนานถึงหนึ่งเดือน การปิดไฟในครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งล่าสุดในรอบ 9 ปี

ป้ายปัจจุบันเป็นป้ายรุ่นที่ 6

ป้ายโฆษณากูลิโกะนี้ เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเมืองโอซาก้า ได้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ.1935 ซึ่งป้ายกูลิโกะที่ติดตั้งในตอนแรกมีความสูงถึง 33 เมตร และได้ทำการประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่องหลายรุ่นด้วยการออกแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น รุ่นที่ 2 เป็นรุ่นที่มีเวทีพิเศษ และรุ่นที่ 3 เป็นรุ่นหอคอยนีออนที่มีน้ำพุพุ่งออกมา จนมาถึงรุ่นที่ 6 ซึ่งเป็นป้ายกูลิโกะในปัจจุบันที่เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED


สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ยังมีรายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่นก็ได้ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินให้มีผลครอบคลุมทั้งประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วโดยครอบคลุมเพียง 7 จังหวัดสำคัญคือ กรุงโตเกียว โอซาก้า ไซตามะ คานากาวะ ชิบะ ฮียวโงะ และฟุกุโอกะ ซึ่งเป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง

....................................................................................................


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น