xs
xsm
sm
md
lg

“กุยบุรีโมเดล”...คน-ช้างป่า อยู่ร่วมกันได้ ใต้ร่มพระบารมี พ่อของแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
“กุยบุรีโมเดล” คน-ช้างป่า อยู่ร่วมกันได้ ใต้ร่มพระบารมี
“...ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ต่อการจัดการความขัดแย้งคนกับช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ช้างป่ากับลูกน้อย แห่งผืนป่ากุยบุรี
พระราชดำรัสดังกล่าว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการแก้ปัญหาการบริหารจัดการความขัดแย้ง ระหว่างคนกับช้างป่าแห่ง“ผืนป่ากุยบุรี”(ปัจจุบันคือ“อุทยานแห่งชาติกุยบุรี”) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เดิมเคยเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบถึงพระราชดำรัส(ที่ผ่านมา)หลายความหลายตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีในห้วงเวลาและเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ทุกฝ่ายสรุปลงความเห็นว่า ควรน้อมนำพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่ออนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ ในผืนป่ากุยบุรี

*กุยบุรีโมเดล
กุยบุรีโมเดลช่วยฟื้นฟูป่ากลับมา ทำให้ช้างป่าไม่ต้องลงไปกินพืชไร่ของชาวบ้าน
ในอดีตปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าที่กุยบุรีมีความขัดแย้งกันอย่างสูงมายาวนานหลายสิบปี นับตั้งแต่ผืนป่ากุยบุรีได้ถูกแผ้วถางทำลายเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว เพราะนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แหล่งอาหาร แหล่งหากินของสัตว์ป่าถูกทำลายลดน้อยถอยลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2525-2528 เมื่อการทำไร่สับปะรดได้รุกคืบผืนป่าอย่างหนัก ขยายแนวไร่ไปกินพื้นที่ของ “ป่าสงวนกุยบุรี” (ยุคนั้นยังไม่ได้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรี) ช้างป่าที่ขาดแคลนแหล่งอาหารจึงออกจากป่าลงมาหากินสับปะรดตามไร่ของชาวบ้านที่ปลูกไว้รอบ ๆ (หรือรุกล้ำ)ผืนป่ากุยบุรี

ด้วยรสชาติความหวานอร่อยของสับปะรด ทำให้ช้างป่ากุยบุรีจำนวนมากติดใจ พร้อมทั้งพากันเปลี่ยนพฤติกรรมการหากิน หันมาเลือกกินสับปะรดจากชาวไร่แทน จนชาวบ้านหลายคนแทบสิ้นเนื้อประตัวจากการถูกช้างป่ายกโขลงลงมากินสับปะรดในไร่ เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเฝ้าเพียรปลูกมา ถูกโขลงช้างถล่มกินหมดสิ้นเพียงชั่วข้ามคืน
ช้างป่ากุยบุรีออกหากินยามเย็น
นั่นจึงทำให้เกิดเรื่องราวความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่าเรื่อยมา มีช้างป่าถูกฆ่าตายไปหลายตัว ทั้งการวางยา ช็อตไฟฟ้า ยิง ฆ่า เผานั่งยาง ขณะที่ชาวบ้านบางคนก็ถูกช้างป่าทำร้าย

ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้ตั้งใจฆ่าช้างนั้น ในยามค่ำคืนดึกดื่น พวกเขาก็ต้องเล่นเอาล่อเอาเถิดหาวิธีสารพัดมาไล่ช้างป่าไม่ให้พวกมันมากบุกรุกกินสับปะรด ทำให้ชาวบ้าน(กลุ่มนั้น)ไม่เป็นอันหลับอันนอน เสียสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตไปตาม ๆ กัน เพราะแรก ๆ ช้างจะกลัวต่อวิธีการไล่รูปแบบใหม่ ๆ แต่เมื่อพวกมันชินก็จะกลับลงมาถล่มไร่ลงกินสับปะรดเหมือนเดิม
ช้างป่า (ปูน) จำลอง จุดถ่ายรูปคู่ของนักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2540 ที่ช้างป่า 2 ตัว ต้องเสียชีวิตลงจากสารพิษในสับปะรด และเหตุช้างป่า 1 ตัว ถูกยิงเสียชีวิต และถูกเผาทำลายด้วยยางรถยนต์ เพราะไปลงกินสับปะรดในไร่ของชาวบ้าน ซึ่งปรากฏเป็นข่าวครึกโครม

ความนี้เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทราบ พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ในวันที่ 19 มิถุนายน 2540 ความว่า

“...ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี...”
กุยบุรีโมเดลช่วยฟื้นฟูป่ากลับมา และเพิ่มจำนวนประชากรช้างป่าให้มีมากขึ้น
หลังจากนั้น “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งพ่อของแผ่นดินทรงให้แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการฟื้นฟู สร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า ใช้วิธีการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก คือให้ผืนป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือต้องสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้กับช้างป่า สัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโป่งเทียม ปลูกพืชอาหารสัตว์ แหล่งน้ำของสัตว์
กุยบุรีโมเดลช่วยฟื้นฟูป่ากลับมา และเพิ่มจำนวนประชากรช้างป่าให้มีมากขึ้น
ขณะที่ในส่วนของชาวบ้าน ชาวไร่ก็ช่วยเหลือด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับเพาะปลูก ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เน้นความร่วมมือในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งน้อมนำพระราชดำรัสต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องช้างป่ากุยบุรี มาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ ในผืนป่ากุยบุรีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต่อมาภายหลังได้เรียกว่า “กุยบุรีโมเดล”

*กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย

กุยบุรีโมเดลนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างสูง สามารถลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าลงไปได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือทำให้ช้างป่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นแต่ปริมาณการทำลายพืชไร่ของช้างป่ากลับลดน้อยลง
นักท่องเที่ยวมาเฝ้ารอชมช้างป่า กระทิง ณ จุดที่ทาง อช.กุยบุรีจัดไว้ให้
ขณะที่ปริมาณกระทิง และสัตว์ป่าอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน พบสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง เสือดาวหรือเสือดำ อีกทั้งยังได้พบกับสัตว์ป่าหายาก สัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกภายในพื้นที่อีกด้วย

สำหรับประชากรช้างป่าในผืนป่ากุยบุรี ข้อมูลจากเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีระบุว่า ปัจจุบันผืนป่ากุยบุรีมีช้างป่าไม่ต่ำกว่า 230 ตัว และคาดว่าเมื่อถึงปี 2570 จะมีประชากรช้างป่ามากถึง 600 ตัว

ส่วนกระทิงคาดว่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีไม่ต่ำกว่า 150 ตัว ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาจากในอดีตอย่างเห็นได้ชัด เพราะจากข้อมูลในปี 2547 พบว่าที่ป่ากุยบุรีมีช้างป่าประมาณ 160 ตัว และกระทิงประมาณ 60 ตัว
กิจกรรมนั่งรถชมช้างป่า
นอกจากนี้กุยบุรีโมเดลยังเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านแถบนั้นจำนวนมากที่มีต่อช้างป่า อีกทั้งยังก่อให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่“อุทยานแห่งชาติกุยบุรี” จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน ซึ่งที่นี่เด่นมากในเรื่องของกิจกรรมชมช้างป่า กระทิง และสัตว์ป่าอื่น ๆ จนได้รับฉายาว่า “กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย”
กระทิงฝูงใหญ่ในป่ากุยบุรี
ปัจจุบันกิจกรรมท่องเที่ยวป่ากุยบุรีทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ดึงชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมทำการท่องเที่ยวแบบให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องของรถนำเที่ยว ไกด์นำเที่ยว ซึ่งมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
ฝูงกระทิงออกหากินยามเย็น
โดยในช่วงเวลาที่เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเฝ้าลุ้นชมช้างป่า กระทิง จะมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯคอยลาดตระเวน และประจำตามจุดต่าง ๆ ที่ช้างมักออกหากิน เมื่อช้างหรือกระทิงออกตรงจุดไหน เจ้าหน้าที่อุทยานฯก็จะวิทยุแจ้งกับคนขับรถนำเที่ยวมาเฝ้าดูบริเวณนั้น นั่นจึงทำให้โอกาสเจอช้างป่าและกระทิงของนักท่องเที่ยวมีมากถึง 70-80% ส่วนจะเจอมากเจอน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

และนี่ก็คือผลสำเร็จของกุยบุรีโมเดลใต้ร่มพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ที่ยังคงอยู่ในดวงใจของคนไทยตลอดไป

....................................................................................................
วัวแดงก็มี
อุทยานแห่งชาติกุยบุรีประกาศจัดตั้งในปี พ.ศ. 2542 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ปัจจุบันมีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือประมาณ 969 ตารางกิโลเมตร นอกจากช้างป่า และกระทิง ที่นี่ยังมีสัตว์ป่าอื่น ๆ ชุกชุม โดยมีสัตว์น่าสนใจ อาทิ วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ หมาไม้ หมาไน เก้ง กวาง กระจง เนื้อทราย สมเสร็จ หมูป่า เม่นใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นจุดดูนก มีนกแก๊กจำนวนมากให้ชม เป็นจุดดูผีเสื้อ อีกทั้งยังมีน้ำตกและเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ผู้สนใจได้ออกเดินป่าทัศนาธรรมชาติ
สำหรับผู้ที่ต้องการดูช้างป่า กระทิง สามารถเข้าชมได้บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ กร.1 ป่ายาง และบริเวณใกล้เคียง เช่น หุบตาอู๋ เขาตาเพ้ง หุบกระชัง หุบมะกรูด หุบตากร หุบตาเวียน และบริเวณป้ายโครงการฯ ในช่วงระหว่างเวลา 15.00 - 18.00 น. ของทุกวัน โดยจุดชมช้างป่าตั้งอยู่ที่บ้านรวมไทย ม.7 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 20 กม. สามารถเดินทางโดยรถยนต์ ปัจจุบันมีการให้บริการรถยนต์โดยไกด์ท้องถิ่น

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานฯกุยบุรี โทร. 0 3251 0453, 081 776 2410



กำลังโหลดความคิดเห็น