xs
xsm
sm
md
lg

“พนมรุ้ง-เมืองต่ำ-พิมาย” มหัศจรรย์ 3 ปราสาทหินถิ่นอีสาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
ปราสาทหินในอารยธรรมขอมโบราณ
ขอมเป็นใคร? ใช่เขมรในปัจจุบันหรือไม่? เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ไม่ว่าขอมจะเป็นใคร หรือเป็นชนกลุ่มใด ต้องถือว่าอิทธิพลของอารยธรรมขอมโบราณนั้นแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง และยังปรากฏให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อบางประการที่ยังสอดแทรกอยู่ หรือแม้กระทั่งบรรดาปราสาทหินทั้งหลายในแถบอีสานตอนใต้ ที่ถือเป็นอู่อารยธรรมขอมโบราณที่สำคัญของในประเทศไทย

ปราสาทหินที่ยังหลงเหลืออยู่ ใช่จะเป็นเพียงก้อนหินผุพังจากอดีต แต่ยังมีเรื่องราวเล่าขาน ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และความเชื่อ ที่สอดแทรกอยู่ และส่งต่อมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

และนี่คือ 3 ปราสาทหินในถิ่นอีสาน ที่หลายๆ คนร้จักกันดี แต่ยังมีมุมให้น่าค้นหาอยู่อีกมาก
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ปราสาทพนมรุ้ง (อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์)
“อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” (ปราสาทหินพนมรุ้ง) ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง เป็นปราสาทที่ได้รับการยอมรับว่างดงามที่สุดในเมืองไทย คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว

ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ก่อสร้างอย่างสวยงามอลังการตามคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีการบูรณะก่อสร้างอย่างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 17 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น
พลับพลา ก่อนเข้าสู่ปราสาทประธาน
มาถึงปราสาทพนมรุ้งแล้ว ก็ขอแวะหาข้อมูลความรู้ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองบุรีรัมย์และข้อมูลของปราสาทขอมโบราณ เพื่อเตรียมตัวไปสู่การชมปราสาทพนมรุ้งและปราสาทขอมแห่งอื่นๆ ได้ด้วย

ความงดงามและเสน่ห์ของปราสาทพนมรุ้งนั้นมีมากมาย เริ่มตั้งแต่เส้นทางเดินสู่ปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ ซึ่งทางขวามือก่อนเดินขึ้นบันได จะมี “พลับพลา” เป็นอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยอาคารนี้เดิมเรียกว่าโรงช้างเผือก สันนิษฐานว่าเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ก่อนจะเข้าสู่ภายในปราสาทประธานที่อยู่บนเขา
เส้นทางเดินสู่ตัวปราสาท
องค์ปรางค์ประธาน
เส้นทางเดินสู่ตัวปราสาทที่ถูกออกแบบลดหลั่นไปตามภูมิประเทศ มีเส้นทางที่มีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย ผ่านสะพานนาคซึ่งเป็นดังจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ นำสู่องค์ “ปราสาทประธาน” ที่เปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ

ปราสาทประธานสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน มีไฮไลต์คือองค์ปรางค์ประธาน ที่ภายในตัวเรือนธาตุมีห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย ความพิเศษของของศิวลึงค์ที่นี่ก็คือ จะมีท่อโสมสูตร หรือร่องรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากพิธีกรรมเซ่นสังเวยองค์ศิวเทพต่อยาวออกมา
ศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย
ส่วนอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญเคียงคู่กับตัวปราสาทก็คือ ลวดลายสลักหินหรือภาพจำหลักหิน ที่ถือเป็นงานในระดับมาสเตอร์พีช ฝีมือประณีตงดงาม นำโดยภาพ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” ที่อยู่เคียงคู่กัน รวมถึงภาพลวดลายประกอบอื่นๆ และภาพอารมณ์ขันของช่างขอมโบราณที่ได้สลักแฝงไว้ตามแง่มุมต่างๆ

นอกจากความงดงามอลังการแล้ว ทุกๆ ปีปราสาทพนมรุ้งยังมีสิ่งอันน่ามหัศจรรย์ปรากฏขึ้นนั่นก็คือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องผ่านประตูทั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกันได้อย่าง ปัจจุบันปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ลอดช่องประตูตรงกันทั้ง 15 ช่อง แต่ละปีจะเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คือ พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และ 9 -11 กันยายน พระอาทิตย์ตกลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ วันที่ 5-7 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม
“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และ “ศิวนาฏราช” ไฮไลต์ของปราสาทพนมรุ้ง
เรื่องนี้มีข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการว่า สถาปนิกขอมโบราณน่าจะเลือกสร้างปราสาทพนมรุ้ง โดยใช้แสงอาทิตย์ยามเช้ากำหนดทิศทางของปราสาทและแนวประตูทั้ง 15 ช่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี

แต่ต่อมาการหมุนของโลกเบี่ยงเบนไปเรื่อยๆ วันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องลอดทะลุประตูทั้ง 15 ช่อง จึงเลื่อนขึ้นมาปรากฏในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้กำหนดจัดงาน “ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง” อย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องผ่านประตูทั้ง 15 ช่อง
ปราสาทเมืองต่ำ (อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์)
“ปราสาทเมืองต่ำ” ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทหินศิลปะขอมแบบปาปวน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 (หรือประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว) เพื่อเป็นเทวสถานของลัทธิฮินดูไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะ หรือ พระอิศวรเป็นเทพสูงสุด นับว่ามีอายุมากกว่าปราสาทหินพนมรุ้งและนครวัดประมาณ 100 ปี แต่มีอายุเท่าๆ กับปราสาทเขาพระวิหารเพราะสร้างในช่วงสมัยเดียวกัน ซึ่งตรงกับเวลาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครหลวง (เขมร) ในสมัยนั้น
ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
ปราสาทเมืองต่ำแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยแผนผังของปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยกำแพงมีความสูงเกือบ 3 เมตร ภายนอกปราสาทมีสระน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เมื่อผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้วเข้าไปจะพบกับระเบียงคดและซุ้มประตูอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน องค์ปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ และแถวหลังอีก 2 องค์ กลุ่มปราสาทอิฐทั้ง 5 องค์ แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
โคปุระ (ซุ้มประตูชั้นนอก)
ในปราสาทเมืองต่ำก็มีจุดเด่นอยู่หลายจุดด้วยกันเริ่มด้วยจุดแรกที่หน้าบันเป็นรูป “พระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ” โดยมีตัวหน้ากาลซึ่งหน้าตาคล้ายสิงห์อยู่ข้างล่าง ท่ามกลางลวดลายสลักรูปดอกไม้ จุดที่สองจะเป็น “โคปุระหรือซุ้มประตูชั้นนอก” ที่มีประตูสามบาน คือบานเล็กซ้าย-ขวา และบานประตูกลางบานใหญ่เป็นบานสำคัญ

เมื่อเดินผ่านประตูนี้ไปก็จะพบกับ “บาราย” (สระน้ำ) ที่สร้างรายรอบตัวปราสาททั้ง 4 ด้าน เปรียบดังมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ที่มุมขอบสระสร้างเป็นรูปพญานาค 5 หัว กำลังชูคอแผ่พังพาน ด้านบนหัวพญานาคเรียบเกลี้ยงไม่มีรัศมีหรือเครื่องประดับใดๆ จนถูกเรียกเป็น “พญานาคหัวโล้น” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะขอมแบบบาปวนที่ยังคงเอกลักษณ์ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้
บาราย
นอกจากนี้ภายในปราสาทเมืองต่ำยังมีภาพสลักหินบนทับหลังซุ้มประตูด้านตะวันออกรูป “พระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล” ท่ามกลางลวดลายประดับรอบๆ ที่ดูสวยงามลงตัว ซึ่งเชื่อว่าพระอินทร์จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่ภายในปราสาท ส่วนซุ้มประตูชั้นในมีซากของฐานบรรณาลัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างไว้เพื่อเก็บคัมภีร์ โดยปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานของอาคาร และยังมีลวดลายสลักต่างๆ อีกมากมายให้ได้ยลกันอย่างเพลิดเพลิน
ทับหลังภาพพระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล
ปราสาทหินพิมาย (อ.พิมาย จ.นครราชสีมา)
“อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย” (ปราสาทหินพิมาย) ถือว่าเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมายคือ เป็นปราสาทที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ที่เข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
สะพานนาคราช
ปราสาทหินพิมายสันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปลาย พ.ศ. 16 และต่อเติมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวต้น พ.ศ. 18 ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบบาปวน (ยุคแรก) เจือปนนครวัด (ยุคต่อเติม) ปราสาทหินแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างและปรับปรุงต่อเติม ทรงนับถือพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน

ปราสาทหินพิมายถูกทิ้งร้างไปนานเนื่องจากเมืองพิมายหมดความสำคัญลง จนกระทั่งมีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้มีการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ.2507-2512 โดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำการบูรณะปราสาทประธานด้วยเทคนิค “อนัสติโลซีส” (ANASTYLOSIS) คือ การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมายอย่างต่อเนื่อง
โคปุระชั้นนอกและกำแพงแก้ว
ปรางค์ประธาน
ปราสาทแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างเด่นๆ ชวนชม เริ่มจากทางเดินเข้าไป คือ สะพานนาคราช สะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ตามคติจักรวาล สร้างเป็นรูปนาคราช 7 เศียรชูคอแผ่พังพานดูสวยงาม

ถัดเข้าไปเป็นซุ้มประตูหรือโคปุระชั้นนอกและกำแพงแก้ว จากนั้นเป็นชาลาทางเดินที่มองเห็นซุ้มประตูชั้นในสร้างรายรอบตัวปราสาท ซึ่งเมื่อผ่านพ้นโคปุระชั้นนี้เข้าไปจะพบกับความยิ่งใหญ่ของปรางค์ประธาน ที่ถูกขนาบข้างด้วย ปรางค์หินแดงและปรางค์พรหมทัตที่ภายในประดิษฐ์รูปเคารพของพระเจ้าชัยวันมันที่ 7 (ปัจจุบันคือองค์จำลอง องค์จริงถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธฯภัณฑ์พิมาย) ซึ่งชาวบ้านในอดีตเชื่อว่านี่คือรูปปั้นของ“ท้าวพรหมทัต” ที่พวกเขานับถือ
รูปเคารพของพระเจ้าชัยวันมันที่ 7 (องค์จำลอง)
เรือนธาตุและมณฑปของปรางค์ประธาน
สำหรับองค์ปรางค์ประธานนั้น สร้างขึ้นราว พ.ศ. 16-17 ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือเรือนธาตุและมณฑป มีลวดลายประดับตามส่วนต่างๆมากมายทั้งภายนอก ภายใน อาทิ ภาพศิวนาฏราช พระกฤษณะ ภาพเรื่องราวรามเกียรติ์ เรื่องราวทางพุทธศาสนา ส่วนภายในเรือนธาตุเป็นห้องครรภคฤหะ ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปรางค์นาคปรก รูปเคารพสำคัญ(พุทธมหายาน) อีกทั้งยังมีร่องรอยท่อโสมสูตรที่ใช้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาให้เห็นกันแบบพองาม

นับได้ว่าความงามและเสน่ห์ของปราสาทขอมที่ได้เดินทางไปสัมผัสนั้น คือมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของบรรพบุรุษที่ตกทอดสืบต่อกันมา ด้วยเหตุนี้คนไทยจำเป็นต้องช่วยกันดูปกปักรักษาให้ยังคงอยู่สืบไป
พระพุทธรูปรางค์นาคปรก ภายในปรางค์ประธาน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น