xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม...พัทยาก็มีนา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


     “พัทยาก็มีนา” ใช่...อ่านไม่ผิดหรอก เพราะในอดีตชายหาดพัทยาก็ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังเหมือนเช่นสมัยนี้ ผู้คนยังคงมีวิถีชีวิตตามปกติ ทำไร่ทำนา จนเคยมีผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านเมืองพัทยาเล่าให้ฟังว่า ถ้าพ่อแม่รักลูกคนไหนมากก็จะแบ่งมรดกเป็นที่นาให้ แต่หากรักลูกคนไหนน้อยหน่อยก็จะแบ่งที่แถบชายทะเลให้เป็นมรดกเพราะใช้ทำมาหากินไม่ได้
     “หนองปลาไหล” อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่ห่างจากเมืองพัทยาราว 15 กิโลเมตร ปัจจุบันยังคงรักษาวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวนาภาคตะวันออกไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าบริเวณโดยรอบจะเริ่มแปรสภาพเป็นบ้านจัดสรรไปบ้างแล้วก็ตาม แต่เกือบทุกบ้านยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรม เป็นชาวนาปลูกข้าว ในบริเวณบ้านยังปลูกพืชผักสวนครัวไว้ประกอบอาหาร ซึ่งมีทั้งไม้ล้มลุกและไม้ยืนต้น เช่น กะเพรา มะกรูด ไผ่ มะนาว โหรพา ตะไคร้ และ อื่นๆ

     ชุมชนหนองปลาไหลมีผืนนารวมกันราว190 ไร่ ใหญ่ที่สุดในย่านเมืองพัทยาโดยชาวบ้านในชุมชนมีแนวคิดเดียวกันคือต้องการจะรักษาผืนนาและอาชีพทำนาไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำนาปลูกข้าว จึงทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีนาวิถีชีวิต ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมทำนาปลูกข้าว (เฉพาะฤดูกาล) กิจกรรมเรียนรู้การทำอาหารพื้นที่ เช่น แกงกล้วยรอไก่ กิจกรรมเยี่ยมชมโบสถ์โบราณวัดหนองเกตุใหญ่อายุกว่า 200 ปี

     ถนอมศักดิ์ ผาติเสนะ   ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนหนองปลาไหลเล่าให้ฟังว่า ตนเองเรียนจบสาขาเกษตรและเป็นครูสอนวิชาเกษตรมาตลอดชีวิตเมื่อเกษียณอายุการทำงานจึงคิดที่จะสร้างกิจกรรมอะไรสักอย่างให้เด็กได้เรียนรู้และรักการทำการเกษตร รวมถึงได้เรียนรู้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปพร้อมกัน เริ่มต้นจากการปรึกษากับคนในชุมชนซึ่งก็มีอาชีพทำนาและทำเกษตรกรรม และนำที่นาของตัวเองซึ่งมีอยู่6 ไร่ มาทดลองเป็นแปลงนาสาธิต ให้นักเรียนได้มาเรียนรู้การทำนาด้วยการลงมือทำนาจริงๆ เด็กๆจะสนุกกับการเรียนรู้และเกิดการจดจำ
     ต่อมาได้รู้จักกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ซึ่งมีแนวความคิดตรงกันในเรื่องของการอนุรักษ์ การต่อยอด ตลอดจน อพท. ก็มีองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่นำมาพัฒนาให้กับชุมชนได้เรียนรู้หลักการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

     ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท.เล่าว่า อพท. นำหลักเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไปพัฒนาให้กับชุมชนที่เราดูแลในพื้นที่พิเศษ ซึ่งกรอบการทำงานของ อพท. ทุกคนในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมหมายถึง ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์
     “แนวทางการทำงานของ อพท. เราจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลหาจุดแข็งของชุมชน สนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนด้วยการให้ชุมชนตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน... ตามด้วยชื่อของชุมชน ซึ่งการรวมเป็นชมรมจะแบ่งงานกันทำตามความถนัด มีความโปร่งใสตรวจสอบซึ่งกันและกัน รายได้ก็นำมาแบ่งกันตามสัดส่วน และแบ่งส่วนหนึ่งไว้กองกลางสำหรับนำไปใช้เพื่อกิจกรรมทางสังคมของคนในชุมชน”

     สำหรับที่หนองปลาไหลชุมชนได้ร่วมกันตั้งชื่อว่าชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนหนองปลาไหล และจากจุดแข็งของชุมชน อพท. จึงพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นำเสนอการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้าน นอกจากกิจกรรมดำนา และกิจกรรมทำอาหารแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถแวะเที่ยวชมอุโบสถที่สวยงาม อายุกว่า 200 ปีได้ที่วัดหนองเกตุใหญ่
     ผู้อำนวยการ อพท. เล่าอีกด้วยว่า เพื่อให้เกิดภาพจำในอัตลักษณ์ของพื้นที่ อพท. จึงจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “พัทยาก็มีนา” มีกิจกรรม “ดำนาวันแม่ เกี่ยวข้าววันพ่อ” กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง เดือน ธันวาคม ซึ่งได้ดำเนินการถึงปีนี้เป็นปีที่ 3
     สำหรับปีนี้เส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนหนองปลาไหล ได้ถูกบรรจุอยู่ในกิจกรรมการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว (Technical Tour) ในการประชุมองค์กรท่องเที่ยวระดับโลก หรือ PATA Destination Marketing Forum (PDFMF) 2019 ประมาณช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปชิฟิก หรือ PATA ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทนำเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุม จึงถือเป็นโอกาสดีของชุมชนหนองปลาไหลที่จะสร้างการรับรู้ให้แก่บริษัทนำเที่ยวจากทั่วโลก
#อพท #ท่องเที่ยว #พัทยา #ทำนา 







กำลังโหลดความคิดเห็น