xs
xsm
sm
md
lg

แอ่ว “ลำพูน” นั่งรถรางเที่ยวเมืองเก่า 10+1 จุด อิ่มบุญ ม่วนใจ๋

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
วัดพระธาตุหริภุญชัย
มนต์เสน่ห์ล้านนาที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองเล็กๆ อย่าง “ลำพูน” ทำให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำหรับคนที่เลือกจะไปเที่ยวทางภาคเหนือ จังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเชียงใหม่ แต่ให้บรรยากาศที่สงบเงียบ แตกต่างจากเมืองใหญ่โดยสิ้นเชิง

และหากใครอยากสัมผัสความงดงามในตัวเมืองลำพูนอย่างใกล้ชิด ก็มีอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ การนั่งรถรางเที่ยวในตัวเมือง โดยจะมีเส้นทางวิ่งเป็นวงรอบ ระหว่างทางจะพาไปแวะเที่ยวชมจุดสำคัญ ๆ ทั้งหมด 10 จุด (หากรวมวัดพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นจุดตั้งต้นและสิ้นสุดก็จะเป็น 11 จุด) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับเมืองลำพูน (ในแบบฉบับย่อ) ดียิ่งขึ้น พร้อมๆ กับมีคนขับรถทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย ให้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ไปตลอดเส้นทาง
รถรางเที่ยวลำพูน ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน
จุดขึ้นรถรางเที่ยวเมืองลำพูนอยู่ที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัย” เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูน และเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน และพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา (ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ภายในประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งในแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาไหว้องค์พระธาตุหริภุญชัยกันไม่ได้ขาด

นอกจากพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวลำพูนแล้ว วัดพระธาตุหริภุญชัยและบริเวณโดยรอบยังมีสิ่งน่าสนใจให้สักการะและเที่ยวชมกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์”, “พระเจ้าทองทิพย์” ในโบสถ์ด้านหน้า, “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” พระพุทธปฏิมาในวิหารหลวง, “หลวงพ่อพระนอน”, “พระเจ้าแดง”, “สุวรรณเจดีย์” หรือ “เจดีย์ปทุมวดี”, “รอยพระพุทธบาท 4 รอย”, “เสาสะดือเมือง” เป็นต้น
ข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน
สระไน ที่ใช้ตกแต่งหน้าจั่ว
หลังจากขึ้นรถรางแล้ว จุดแรกที่จะหยุดก็คือ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน” ซึ่งเดิมอาคารนี้ก็คือคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์ คุ้มเจ้าเมืองลำพูน ปัจจุบันมีอายุกว่า 100 ปี เป็นสถานที่จัดแสดง ชั้นล่างจะจัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์ และการเปลี่ยนแปลงมาจนกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน ภาพถ่ายเกี่ยวกับประเพณี พิธีกรรม และนางงามผู้มีชื่อเสียงของจังหวัด

บนชั้นสองก็ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับอาคารโบราณ และประวัติของคุ้ม โดยเฉพาะในจังหวัดลำพูน จะเป็นอาคารทรงล้านนาปั้นหยา ตกแต่งหลังคาหน้าจั่วด้วยสระไน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของบ้านหรือคุ้มในจังหวัดลำพูน สระไน หรือ ท่อนไม้กลึง ทำขึ้นจากไม้ ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือให้ชมแล้ว แต่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเก็บของสระไนของเก่าไว้ให้ศึกษากัน
บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์
จุดที่สองอยู่ไม่ห่างกันก็คือ “คุ้มเจ้ายอดเรือน” เป็นเรือนสรไน (เรือนพื้นถิ่นเอกลักษณ์ลำพูน) ของ เจ้ายอดเรือน ณ ลำพูน ชายาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ณ ลำพูน เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย แม้จะสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 แต่วันนี้ยังคงสภาพดีอยู่ จึงได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี 2554 ภายในมีข้าวของเครื่องใช้จัดแสดงให้ชมกัน
คุ้มเจ้ายอดเรือน
การจัดแสดงด้านในคุ้มเจ้ายอดเรือน
จุดที่สาม มาแวะสักการะ “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี” องค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหิภุญชัย มีปรากฏโดดเด่นอยู่ในตำนานต่างๆ ของล้านนา ที่กล่าวถึงว่าทรงเป็นสตรีที่มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม แต่ขณะเดียวกันก็ทรงมีความเด็ดขาด พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่สร้างความรุ่งเรืองให้บังเกิดบนแผ่นดินล้านนา และได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกนี้ยังทรงเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ หริภุญไชย ที่มีการสืบทอดครองราชย์ต่อเนื่องกันมากว่า 600 ปี จนถือเป็นรัฐที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศสยามครั้งอดีต โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
จุดที่สี่คือ “วัดจามเทวี” เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย บางแห่งก็ว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1292 โดยใช้ช่างฝีมือชาวขอม บ้างก็ว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวี ได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนาง

ภายในวัดมีเจดีย์ขนาดใหญ่ชื่อว่า “สุวรรณจังโกฏิเจดีย์” ลักษณะเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย มีพระพุทธรูปปางประทานพรยืนอยู่ในซุ้ม ทั้งหมดมี 60 องค์ ต่อมายอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชามบ้านจึงเรียกกันว่า “กู่กุด” นอกจากนี้ยังมี “รัตนเจดีย์” เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ที่เชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่ใช้บรรจุข้าวของเครื่องใช้ของพระนางจามเทวี และยังมี กู่บรรจุอัฐืของครูบาเจ้าศรีวิชัย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ
สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ วัดจามเทวี
ด้านในพระอุโบสถวัดจามเทวี
จุดที่ห้าคือ “วัดมหาวัน” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองลำพูน หนึ่งในวัดสี่มุมเมืองที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด สร้างมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองราชที่นครหริภุญชัย ภายในวัดมี “พระพุทธสิกขีปฏิมากร” (พระศิลาดำ) หรือ “พระรอดหลวง” ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธานในวิหาร ซึ่งเป็นแม่พิมพ์พระสกุล “พระรอดลำพูน” อันลือลั่น เป็น 1 ใน 5 พระเบญจภาคีที่มีราคาแพงที่สุด
วัดมหาวัน
พระพุทธสิกขีปฏิมากร ภายในพระวิหารวัดมหาวัน
ไปต่อกันที่จุดที่หก “วัดพระคงฤาษี” เป็นหนึ่งในวัดสี่มุมเมืองทางทิศเหนือ เป็นพระอารามหลวงในสมัยพระนางจามเทวี วัดนี้มีชื่อเสียงด้วยมีพระพิมพ์ที่เรียกว่า “พระคง” บริเวณวัดมีเจดีย์ลักษณะแปลกกว่าเจดีย์อื่นๆ มีซุ้มคูหาสี่ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระคงฤาษี
ภายในพระอุโบสถวัดพระคงฤาษี
จุดที่เจ็ด “วัดสันป่ายางหลวง” อีกหนึ่งวัดอันงดงามวิจิตรแห่งดินแดนล้านนา เดิมเคยเป็นศาสนสถานของพราหมณ์-ฮินดู เนื่องจากมีการขุดค้นพบพระพิฆเนศในบริเวณนี้ หลังจากนั้นก็มีพระจากพม่าเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนชาวบ้านเลื่อมใส และเปลี่ยนสถานที่นี้เป็นวัดชื่อว่า ขอมลำโพง เป็นวัดทางพุทธศาสนาแห่งแรกของล้านนา ต่อมามีการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อาพัทธารามป่าไม้ยางหลวง และเชื่อว่าวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระนางจามเทวี
วัดสันป่ายางหลวง
ภายในวัดประดิษฐาน “พระเจ้าเขียวโขง” หรือ “พระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิแกะสลักด้วยหินสีเขียวเนื้อละเอียดจากแม่น้ำโขงที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก ประดิษฐานอยู่ด้านบนพระพุทธเมตไตรจำลองมาจากพุทธคยา ตอนที่พระพุทธเจ้าโคตรมะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิหารพระเขียวโขง
ด้านในวิหารพระเขียวโขง
สำหรับจุดที่แปดคือ “โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า” หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวเมืองลำพูนเคารพนับถือกันมาก โดยเฉพาะกู่ช้าง ที่สร้างเป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อกันว่าเป็น “ปู้ก่ำงาเขียว” ช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ซึ่งหากใครได้มากราบไหว้ขอพรและได้ลอดท้องรูปปั้นช้างปู้ก่ำงาเขียว เชื่อว่าจะได้รับพรแห่งชัยชนะ สมหวังทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการดำเนินชีวิต
โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า
จุดที่เก้า “วัดพระยืน” หนึ่งในวัดสี่มุมเมืองทางทิศตะวันออก ภายในวัดมี “เจดีย์วัดพระยืน” ลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากเจดีย์ทั่วๆ ไปในเมืองไทย เป็นศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม สร้างยกพื้นลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ มีบันไดเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม ส่วนเรือนธาตุเป็นองค์ 4 เหลี่ยม มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐานองค์พระพุทธรูปยืนสีทอง เหนือขึ้นไปเป็นมาลัยเถา 4 เหลี่ยม ซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นฉัตรสีทองอร่าม
วัดพระยืน
จุดที่สิบ ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายคือ “วัดต้นแก้ว” มีสิ่งน่าสนใจ อาทิ “เจดีย์ต้นก๊อ” ที่เป็นสถูปทรงกลมล้านนา มีพระพุทธรูปทรงเครื่องในวิหาร รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และส่วนของศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าทอที่เราจะได้ชมฝีมือแม่อุ๊ยกับการทอผ้าด้วยลวดลายอันสวยงาม ซึ่งเป็นดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ใครถูกใจก็ซื้อหาติดไม้ติดมือกลับมาได้
ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง วัดต้นแก้ว
หลังจากจุดที่สิบ รถรางก็จะวนกลับมาส่งที่จุดขึ้นรถคือ บริเวณด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งบริเวณนี้ก็ยังมี “กาดขัวมุงท่าสิงห์” ให้เดินเลือกซื้อหาของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ด้วย

รถรางนำเที่ยวเมืองลำพูน ให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) รอบเช้าเริ่มเวลา 09.30 น. รอบบ่ายเริ่มเวลา 13.30 น. (แนะนำให้มาซื้อตั๋วก่อนเวลา) ค่าบริการ เด็ก 20 บาท/คน ผู้ใหญ่ 50 บาท/คน ต่างชาติ 100 บาท/คน จุดบริการขึ้นรถและซื้อตั๋วอยู่บริเวณด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน สอบถามรายละเอียดที่ สำนักงานเทศบาลเมืองลำพูน งานพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว โทร. 0-5351-1013 ต่อ 109, 110 และที่บูธจำหน่ายตั๋วรถนำเที่ยว โทร. 0-5353-0757
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager




กำลังโหลดความคิดเห็น