xs
xsm
sm
md
lg

ลงใต้เที่ยวดินแดนด้ามขวานไทย “นรา-ยะลา How Are You”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
น้องมาร์ดีเด็กสามตา นอนหลับพริ้มกลางเมืองยะลา

เป็นอีกครั้งที่ "ตะลอนเที่ยว" เดินทางลงใต้สู่ด้ามขวานของประเทศไทย มุ่งหน้ามาเที่ยวยังจังหวัดชายแดนใต้ "ยะลา-นราธิวาส" ในครั้งนี้เดินทางมาพร้อมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคใต้ ที่ร่วมกับอนุสาร อ.ส.ท. จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “นรา-ยะลา How Are You” โดยมีสมาชิกผู้อ่านและผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมเดินทางสำรวจเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส เพื่อรับรู้ถึงความงามของจังหวัดชายแดนใต้ที่รอให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปสัมผัส


ในเส้นทางนี้เราเริ่มต้นท่องเที่ยวกันในตัวอำเภอเมืองยะลา ปกติแล้วเวลามาเที่ยวที่ยะลา หลายๆ คนอาจนึกถึงที่เที่ยวเฉพาะใน อ.เบตง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของยะลา แต่สำหรับในตัวเมืองยะลาตอนนี้ก็มีจุดให้แวะมาเช็คอินแห่งใหม่ นั่นก็คือ “Bird City Street Art” สตรีทอาร์ตแห่งเมืองยะลา ที่น่ารักเก๋ไก๋ไม่แพ้ที่ไหน
ถ่ายรูปกับช้างตัวใหญ่ สตรีทอาร์ตเมืองยะลา
สาเหตุที่ใช้คำว่า Bird City นั่นก็เพราะว่ายะลาถือเป็นเมืองแห่งนก มีประวัติศาสตร์การเลี้ยงนกมานับพันปี จนมาถึงปัจจุบันก็ยังนิยมเลี้ยงนกกันอยู่จนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะนกกรงหัวจุกและนกเขายะลา ส่วนรูปภาพสตรีทอาร์ตนั้นก็มีศิลปินกราฟฟิตี้ระดับประเทศมาร่วมสร้างสีสันบนกำแพงในย่านตัวเมืองเก่าของยะลา บริเวณถนนนวลสกุลและถนนใกล้เคียง โดยมีจำนวนทั้งหมด 15 ภาพด้วยกัน โดยเน้นไปถึงความรักความอบอุ่นและความหลากหลายทางวัฒนธรรม นำเสนอผ่านภาพศิลปะนำทางสันติสุข เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเช็คอิน ถ่ายภาพ โพสต์ลงสื่อโซเชียล สร้างความคึกคักให้ตัวเมืองยะลาขึ้นได้บ้าง

ภาพไฮไลท์ชวนไปถ่ายรูปก็มีทั้งรูปน้องมาร์ดีเด็กสามตานอนกอดนกกรงหัวจุกหลับตาพริ้ม ภาพช้างตัวยักษ์ใหญ่บนผนังตึกสีเขียวอมฟ้าสดใส และภาพวิ่งกับพี่ตูน ที่เป็นความประทับใจเมื่อครั้งที่ตูน บอดี้แสลม ได้มาวิ่งจากใต้สุดของประเทศจากเบตงไปยังแม่สาย และได้วิ่งผ่านตัวเมืองยะลาในวันที่ 3 ของการวิ่งด้วย
ร่วมวิ่งกับพี่ตูน
ผ้าปะลางิงลวดลายงดงาม
จากนั้นเราไปที่ “ศูนย์เรียนรู้ผ้าปะลางิง” ซึ่งเป็นสถานที่ทำผ้าทอลายพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเดิมพบเห็นผ้าชนิดนี้ครั้งแรกในปี 2472 ในขบวนรับเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสมณฑลปัตตานี ต่อมาการทำผ้าปะลางิงสูญหายไปเพราะการเลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในท้องถิ่น เนื่องจากสภาพพื้นที่และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยอาจารย์ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ในนามของ "ศรียะลาบาติก"
ผืนผ้าที่กำลังอยู่ระหว่างแต้มสีและลวดลาย
การทำผ้าปะลางิงแต่ละผืนนั้นมีขั้นตอนมากมาย โดยลายทอของผ้าได้ถอดแบบมาจากบล็อกแม่พิมพ์ไม้ แล้วมาเขียนกราฟ แล้วก็ทอ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน และการทอก็มีลูกเล่นของลายเนื้อผ้ามากกว่าด้วย และจุดเด่นของผ้าปะลางิงก็คือลวดลายจากบล็อกไม้ที่นำมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ลวดลายที่แกะมาจากลวดลายช่องลมโบราณ กระเบื้องโบราณ เป็นต้น
ตีพะลี อะตะบู ครูช่างศิลปหัตถกรรม และกริชรามันห์ในมือ
แล้วปิดท้ายการท่องเที่ยวในยะลาที่ “ชุมชนตะโละหะลอ” อำเภอรามัน มาพบกับตีพะลี อะตะบู ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องโลหะ (กริชรามันห์) ที่เป็นผู้เล่าให้เราฟังถึง “กริชรามัณห์” ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีต้นกำเนิดเมื่อ 200-300 ปีก่อน โดยเจ้าเมืองรามันประสงค์ให้มีกริชเป็นอาวุธคู่บ้านคู่เมือง จึงได้เชิญช่างทำกริชจากอินโดนีเซียมาทำกริชที่เมืองรามัน และสืบทอดภูมิปัญญามาจนปัจจุบัน กริชรามันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการสลักเสลาอย่างวิจิตรที่หัวกริชอย่างโดดเด่นสวยงาม ทั้งยังบอกถึงชนชั้นวรรณะของผู้ใช้ ทำให้ยังมีคนนิยมเก็บสะสมกริชรามันเป็นของที่ระลึก อีกทั้งครูช่างตีพะลี อะตะบู ยังแสดงการร่ายรำ “อิเหนารำกริช” ที่แสดงถึงท่วงท่าที่สวยงามดุดันอีกด้วย
ท่วงท่าของอิเหนารำกริช
ต้นกะพงยักษ์ 27 คนโอบ

ในวันต่อมาเราเดินทางมาท่องเที่ยวต่อที่นราธิวาส โดยมุ่งหน้าสู่อำเภอสุคิริน อำเภอที่มีภูเขาสูงชันและป่าไม้หนาทึบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และอยู่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย ที่นี่มีการท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจอยู่ที่ “ศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวโดยชุมชนภูเขาทอง” ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่


กิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนภูเขาทองนี้มีมากมาย ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการมาชมต้นไม้ยักษ์คือ “ต้นกะพงษ์ยักษ์” หรือ “ต้นสมพง” ซึ่งยืนต้นอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ต้นไม้ต้นนี้เป็นไม้หวงห้ามยืนต้นขนาดใหญ่ถึง 27 คนโอบ และเป็นหนึ่งในต้นไม้รุกข มรดกของแผ่นดิน ถ้าใครอยากไปชมก็เพียงเดินเท้าจากถนนลัดเลาะเข้าไปตามลำห้วยที่สองข้างทางปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบอันอุดมสมบูรณ์ ใช้เวลาราว 15 นาที
อุโมงค์ลำเลียงเหมืองทองคำโต๊ะโมะ
จากนั้นเข้าไปชม “อุโมงค์ลำเลียงเหมืองทองคำโต๊ะโมะ” ร่องรอยประวัติศาสตร์การทำเหมืองทองใน อ.สุคิรินที่เคยเป็นแหล่งแร่ทองคำสำคัญ ในอดีตที่นี่เคยมีเหมืองทองคำที่ชาวฝรั่งเศสเคยมารับสัมปทานขุดหาทอง มาวันนี้แม้จะเลิกสัมปทานไปแต่ความอุดมสมบูรณ์ของแร่ทองคำยังคงอยู่ ซึ่งนี่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งวิถีของชาวสุคิริน


อุโมงค์แห่งนี้ยาวกว่า 20 ก.ม. เป็นอุโมงค์ใต้ภูเขาใช้สำหรับขนส่งแร่และเครื่องมือต่างๆ เมื่อสมัยยังเปิดเหมืองทองคำ แต่ปัจจุบันอุโมงค์ถล่มลงมา สามารถเดินเข้าไปชมได้เพียงบริเวณปากอุโมงค์เท่านั้น
นักท่องเที่ยวทดลองร่อนทอง
มาถึงกิจกรรมไฮไลท์ของการมาสุคิรินที่หลายๆ คนรอคอย นั่นก็คือ “การร่อนทอง” ในคลองต้นแม่น้ำสายบุรี ซึ่งแม้ปัจจุบันบ้านภูเขาทองจะยกเลิกสัมปทานเหมืองทองไปแล้ว แต่ยังมีแร่ทองคำบริสุทธิ์ที่ไหลลงมาทับถมกันที่ก้นคลองให้ชาวบ้านได้ร่อนทองเป็นรายได้เสริมกัน โดยแม้จะเป็นเศษตะกอนทองเล็กๆ แต่สนนราคาขายกันกรัมละพันกว่าบาท วันหนึ่งๆ บางคนหาขายทองได้หลักร้อย หลักหลายร้อยต่อวัน บางคนโชคดีก็ขายได้วันละเป็นพัน นับเป็นรายได้เสริมที่ดีทีเดียว
ทองคำแวววาวที่ร่อนมาได้
ตลาดเช้าเมืองนราฯช่วงนี้อุดมไปด้วยผลไม้
เราเที่ยวและทำกิจกรรมสนุกๆ กันอยู่ที่สุคิรินทั้งวัน ก่อนจะมาจบกิจกรรมท่องเที่ยววันสุดท้ายกันในอำเภอเมืองนราธิวาส โดยเริ่มต้นวันแต่เช้าด้วยการเดินชมตลาดเช้าในตัวเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากวงเวียนหอนาฬิกา ที่มีบรรยากาศอันแสนคึกคึก มีของขายสารพัดทั้งเนื้อสัตว์พืชผักผลไม้ โดยเฉพาะอาหารทะเลโดยเฉพาะปลานานาชนิดวางขายอย่างน่าตื่นตา ล้วนแต่สดใหม่จากทะเลทั้งสิ้น และในช่วงนี้ผลไม้ต่างๆ ก็น่าตื่นตาไม่แพ้กัน เพราะเป็นช่วงที่ผลไม้หลากหลายอย่างกำลังออกผลหวานอร่อยมาให้ลองชิม ราคาก็น่ารักน่าคบ ใครมาเที่ยวตอนนี้ถือว่าได้เปรียบมาก และถือเป็นหนึ่งในจุดเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวนราฯ ที่น่าชมอย่างยิ่ง
ภาพเก่าเมืองนราฯ ในพิพิธภัณฑ์
จากนั้นในช่วงสายเรามาเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส” ซึ่งเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของนราธิวาส ทั้งเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรม ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของนราธิวาส มาที่นี่ที่เดียวก็จะได้รับรู้และเข้าใจความเป็นนราธิวาสได้แบบครบทุกด้าน ทั้งเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ ป่าไม้ พืชพันธุ์ที่สำคัญต่างๆ เรื่องราวของประวัติศาสตร์นราธิวาสในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน การตั้งถิ่นฐานและชุมชนเก่า กลุ่มชาติพันธุ์ในนราธิวาส ไปจนถึงเรื่องราวของอาหาร การละเล่นท้องถิ่น
เรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเมืองนราได้ที่นี่
เรือกอและที่หาดบ้านทอน
และมาปิดท้ายทริปท่องเที่ยว “นรา-ยะลา How Are You” ที่ “ชุมชนบ้านทอน” ซึ่งตั้งอยู่ริมหาดบ้านทอน ไม่ไกลจากสนามบินเมืองนราฯ ที่ชุมชนบ้านทอนเป็นแหล่งทำ “เรือกอและ” ที่เป็นเรือประมงพื้นบ้านที่ใช้กันในพื้นที่ภาคใต้ทางตอนล่างอย่าง ปัตตานี นราธิวาส และในบางพื้นที่ของสงขลา นครศรีธรรมราช ไล่ไปจนถึงแหลมมลายู โดยเรือกอและได้ชื่อว่าเป็นราชินีความงามแห่งท้องทะเลในดินแดนปลายด้ามขวานของเมืองไทย เนื่องจากรูปทรงและลวดลายของเรือที่สวยงามยิ่งนัก
ผู้ใหญ่อาหะมัด สาและ กับเรือกอและที่กำลังทำ
เราได้พบกับผู้ใหญ่อาหะมัด สาและ เป็นผู้เล่าถึงการทำเรือกอและ และพานำชมเรือที่อยู่ในขั้นตอนการทำขั้นต่างๆ ทำให้ได้ทราบว่า "กอและ" มีความหมายว่า โคลงเคลง โดยเรือกอและเป็นเรือที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการสู้คลื่นลมแรงและสูงได้ดี คว่ำยาก เพราะมีแคมเรือลึก ในอดีตเป็นเรือหาปลาที่มุ่งออกทะเลลึกโดยอาศัยการกางใบ

สำหรับแหล่งผลิตเรือกอและขึ้นชื่อในนรานั้นอยู่ที่หาดบ้านทอน หมู่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งเรือจริงและเรือจำลองอันขึ้นชื่อ โดยที่หาดบ้านทอนจะมีการนำรูปเรือกอและจำลองมาตั้งแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ โดยตามชายหาดหากชาวประมงไม่ได้นำเรือออกเล เราก็จะเห็นเรือกอและจอดอยู่เรียงรายตามชายหาด และถ้าไปถูกช่วงจังหวัดเวลาก็จะได้เห็นเรือกอและออกจากฝั่งหรือกลับเข้าฝั่งหลังจากไปลอยลำหาปลากลางทะเล
ขั้นตอนในการทำโครงเรือกอและ
นับเป็นอีกหนึ่งทริปน่าประทับใจในดินแดนด้ามขวานไทย ที่หากใครจะมาเยี่ยมเยือนบ้างก็สามารถนำไปเป็นตัวอย่างทริปท่องเที่ยว "ยะลา-นราธิวาส" ได้เป็นอย่างดี

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดยะลา-นราธิวาสได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส (ดูแลนราธิวาส ยะลา ปัตตานี) โทร.0 7352 2411, 0 7354 2345
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น