xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก“มรดกแห่งอาเซียน”...ไทยลุ้น 2 มรดกแห่งใหม่ “หาดเจ้าไหม-ลิบง, หมู่เกาะอ่างทอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

อช.หมู่เกาะอ่างทอง หนึ่งในว่าที่มรดกแห่งอาเซียนของไทย
อาเซียนปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ โดยไทยเราเป็นหนึ่งในนั้น

ที่ผ่านมากลุ่มประเทศอาเซียนได้ร่วมกันผลักดันสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์แห่งความเป็นอาเซียนหลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “อุทยานมรดกแห่งอาเซียน” ซึ่งอีกไม่นานประเทศไทยเราอาจจะมีข่าวดีให้ภาคภูมิใจอีกครั้งกับการมีอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง นั่นก็คือ “อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลิบง” จังหวัดตรัง และ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง” จ.สุราษฎร์ธานี

รู้จักมรดกแห่งอาเซียน

กองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้นิยามของ “อุทยานมรดกแห่งอาเซียน” (ASEAN Heritage Parks) เอาไว้ว่า คือ...พื้นที่คุ้มครอง ที่มีความสำคัญ ควรค่าต่อการอนุรักษ์อย่างสูง ซึ่งจะต้องสงวนรักษาไว้ให้คงความสมบูรณ์ เพื่อเป็นตัวแทนของระบบนิเวศน์ของภูมิภาคอาเซียน...
อช. เขาใหญ่ (น้ำตกเหวนรก) มรดกแห่งอาเซียนลำดับแรกของไทย (ภาพ : เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ)
อุทยานมรดกแห่งอาเซียน เป็นผลมาจากการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ร่วมลงนามรับรอง ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องมรดกอุทยานและการอนุรักษ์ (ASEAN Declaration on Heritage Parks) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 (ค.ศ. 2003)

อุทยานมรดกแห่งอาเซียน หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ “มรดกแห่งอาเซียน” มาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีข้อพิจารณาว่า ต้องมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีความโดดเด่น มีคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์ ต้องมีการจัดการและทำนุบำรุงรักษากระบวนการทางนิเวศวิทยา มีระบบนิเวศน์ที่สนับสนุนในการทำให้ทุกชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ มีการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ สามารถรับรองได้ว่า มรดกอุทยานดังกล่าวจะคงประโยชน์ต่อพันธุ์พืช รวมถึงระบบนิเวศน์ได้อย่างยั่งยืน และบำรุงรักษาทัศนียภาพตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เพื่อการศึกษา เพื่อการวิจัย เพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และสามารถสร้างมูลค่าได้จากการท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (เกาะไข่) มรดกแห่งอาเซียนลำดับที่ 2 ของไทย
สำหรับอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ที่ผ่านมามีการประกาศพื้นที่คุ้มครองให้ขึ้นบัญชีเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนไปแล้ว 40 แห่ง

ในส่วนของประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้รับการรับรองและประกาศให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนรวม 4 แห่งด้วยกัน คือ

-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกาศเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2527 เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนลำดับแรกของเมืองไทย และเป็นลำดับที่ 10 ของอาเซียน

-อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ประกอบด้วยเกาะน้อย-ใหญ่ 51 เกาะ) ประกาศเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2527 เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนลำดับที่ 2 ของเมืองไทย และเป็นลำดับที่ 11 ของอาเซียน
หมู่เกาะสิมิลัน อีกหนึ่งพื้นที่มรดกแห่งอาเซียนของไทย
-กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน-อ่าวพังงา ประกาศเมื่อ 18 ธ.ค. 2546 เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนลำดับที่ 3 ของเมืองไทย และเป็นลำดับที่ 22 ของอาเซียน

-กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อุทยานแห่งชาติกุยบุรี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี ประกาศเมื่อ 18 ธ.ค. 2546 เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนลำดับที่ 4 ของเมืองไทย และเป็นลำดับที่ 23 ของอาเซียน

หลังจากมีอุทยานมรดกแห่งอาเซียน 4 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ไม่ได้เสนอพื้นที่ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนอีกเลย
เขตห้ามล่าฯ ลิบง ว่าที่มรดกแห่งอาเซียนที่เป็นที่อยู่ของนกหลากหลายชนิด
กระทั่งล่าสุดเนื่องในวาระที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม( ASEAN Senior Official on Environment; ASOEN) ในปี พ.ศ. 2562 นี้ ทางรัฐบาลไทยจึงได้มีการเสนอพื้นที่เพื่อเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่อีก 2 แห่งด้วยกัน คือ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง” จ.ตรัง และ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง” จ.สุราษฎร์ธานี

ส่องว่าที่มรดกแห่งอาเซียนของไทย
เกาะกระดาน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง สองพื้นที่นี้ถูกควบรวมให้เป็นพื้นที่เดียวกันในการนำเสนอเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ติดกันและมีสภาพของระบบนิเวศที่เหมือนกัน ซึ่งมีความสมบูรณ์ทางนิเวศและเป็นตัวแทนของระบบนิเวศในภูมิภาคอาเซียน

อช.หาดเจ้าไหม และ เขตห้ามล่าฯ หมู่เกาะลิบง มีพื้นที่ประกอบด้วยระบบนิเวศหลากหลายประเภทที่ต่อเนื่องตั้งแต่ ป่าดิบชื้น ป่าเขาหินปูน ป่าชายหาด ป่าชายเลน แนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นอาหารและแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกอพยพในฤดูหนาวอีกด้วย
แนวปะการังที่สมบูรณ์ท้ายเกาะกระดาน อช.หาดเจ้าไหม
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีอัตลักษณ์พิเศษ โดยเป็นเพียงแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการผสมกันของสิ่งมีชีวิตจากระบบนิเวศทางทะเลของอันดามันเหนือกับสิ่งมีชีวิตที่มากับกระแสน้ำทางใต้จากอินโดนีเซีย เกิดเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคามในระดับโลก ได้แก่ นกหัวโตมลายู นกฟินฟุต เป็นต้น

ที่สำคัญคือบริเวณนี้เป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และแหล่งที่อยู่อาศัยของ “พะยูน” แหล่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ซึ่งล่าสุดเรื่องราวการเลี้ยงดูน้อง“มาเรียม” ลูกพะยูนน้อยนั้นโด่งดังไปไกลในระดับโลก
อช.หาดเจ้าไหม ถิ่นอยู่อาศัยของพะยูนแหล่งใหญ่ที่สุดของไทย
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นตัวแทนของระบบนิเวศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากพื้นที่ประกอบด้วยระบบนิเวศหลายประเภท เช่น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลน สังคมพืชรอยต่อระหว่างป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น รวมทั้งแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์

ที่นี่ถือเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญและใกล้สูญพันธุ์ได้แก่โลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ วาฬบรูด้า และเต่าตนุ เป็นพื้นที่สำคัญต่อการอนุรักษ์และพบพืชถิ่นเดียวของโลกคือกล้วยไม้นารีอ่างทอง และสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นั้นก็คือค่างแว่นถิ่นใต้
ทะเลใน อช.หมู่เกาะอ่างทอง
ที่สำคัญคือ อช. หมู่เกาะอ่างทอง มีลักษณะพิเศษของระบบนิเวศหินปูน เกิดเป็นทะเลสาบน้ำเค็มบนเกาะ หรือที่เรียกว่า “ทะเลใน” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของอุทยานแห่งนี้

สำหรับกระบวนการเสนอพื้นที่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี (ในเบื้องต้น) ที่ในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 21 และการประชุมอื่น ๆที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 8- 12 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ ที่ประชุมได้ให้การรับรองการเสนอชื่อขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ทั้ง 2 แห่งของเมืองไทย เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ลำดับที่ 45 และ 46 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอนุมัติเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ในการประชุมครั้งที่ 14 ที่จะกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7 ถึง 10 ตุลาคม 2562 นี้
ค่างแว่นถิ่นใต้ บนเกาะวัวตาหลับ อช. หมู่เกาะอ่างทอง
หลังจากนั้นก็จะมีการประกาศรับรองการเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนอย่างเป็นทางการในลำดับต่อไป ซึ่งอดใจอีกไม่นานก็จะได้รู้ว่า ประเทศไทยเราจะมีอุทยานมรดกโลกแห่งอาเซียนแห่งใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่?!?

ยังไง ๆ ก็หวังว่าเราคงจะมีข่าวดีในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้ฉลองส่งท้ายปีกัน
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น