xs
xsm
sm
md
lg

5 วัดงามเมือง “เชียงใหม่” ไหว้พระอิ่มบุญอุ่นใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่
“เชียงใหม่” เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ หากว่าใครคิดที่จะไปเที่ยวเมืองเหนือ เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย อย่างช่วงปลายปีที่อากาศเย็นสบาย คนก็นิยมขึ้นดอยไปสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่สดชื่น ขณะเดียวกันที่ในตัวเมืองก็มีทั้งคาเฟ่น่ารัก ร้านอาหารอร่อย ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางวัดวาอารามและโบราณสถานที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ใครที่อยากมองหามุมสงบในเมืองเชียงใหม่ ลองแวะไปไหว้พระทำบุญที่วัดงามๆ ซึ่งแต่ละแห่งนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่ไม่น้อย
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
มาถึงเชียงใหม่ จุดแรกที่จะมุ่งหน้าไปก็คือ “วัดพระธาตุดอยสุเทพ” วัดสำคัญของเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ ซึ่งบริเวณทางขึ้นดอยนั้นก็สามารถแวะสักการะ “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา ผู้เป็นพระนักพัฒนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของผู้คนในภาคเหนือและจากทั่วทุกสารทิศ

สำหรับวิธีการขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ จากด้านล่างสามารถขับรถขึ้นไปจอดไว้ลานจอดรถด้านบน หากไม่มีรถหรือไม่ชำนาญทาง ก็มีรถแดงเส้นทางขึ้น-ลงดอยสุเทพให้บริการจากเชิงดอย (สอบถามค่าบริการบริเวณจุดขึ้นรถ) มาถึงแล้วก็สามารถเลือกการขึ้นไปบนพระธาตุได้ 2 วิธี คือ เดินขึ้นบันไดนาค จำนวน 300 ขั้น ไปยังด้านบน หรือจะเลือกใช้บริการกระเช้าขึ้น-ลง วัดพระธาตุดอยสุเทพก็ได้
บันไดนาค ทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ
“พระธาตุดอยสุเทพ” สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก

ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น แล้วปล่อยช้างไป ช้างได้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตก ขึ้นไปยังดอยสุเทวะฤาษี (ดอยสุเทพ) แล้วมาหยุดอยู่ที่ยอดดอย พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา
พระธาตุดอยสุเทพ
ในสมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา และให้ช่างนำทองคำมาทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และราชโอรสของพระเมืองเกษเกล้าได้ทรงตีทองคำแผ่นติดไว้ที่องค์พระธาตุ ต่อมา พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพนั้น มาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ชักชวนชาวบ้านที่ศรัทธาให้ร่วมมือกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ รวมระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างราว 6 เดือน

ปัจจุบัน วัดพระธาตุดอยสุเทพถือว่าเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติหากว่ามาเที่ยวที่เชียงใหม่แล้วก็มักจะหาโอกาสมาเยี่ยมชมสักครั้งหนึ่ง
หลวงพ่อพูดได้ วัดพระธาตุดอยคำ
พระธาตุดอยคำ
วัดอีกแห่งที่อยู่บนยอดดอยเช่นเดียวกันก็คือ “วัดพระธาตุดอยคำ” ที่อยู่ด้านหลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ สร้างในปี พ.ศ.1230 รัชสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 1230 ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"
หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ
ขึ้นมาถึงด้านบนวัดแล้วจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ชื่อว่า “หลวงพ่อพูดได้” จากนั้นเดินเข้าไปด้านในวัด ไปสักการะพระธาตุดอยคำ และพระพุทธรูปสำคัญองค์ต่างๆ โดยเฉพาะ “หลวงพ่อทันใจ” ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพญากือนา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันมีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ มีผู้นิยมเดินทางมาขอพรและบนบานสานกล่าว เมื่อได้ผลสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ก็มักจะถวายดอกมะลิเพื่อแก้บน ซึ่งหากใครต้องการซื้อพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อแก้บน จะมีขายอยู่หลายร้านบริเวณริมถนนปากทางเข้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์

ไหว้พระทำบุญกันแล้ว อย่าลืมเดินออกมาบริเวณจุดชมวิวด้านนอก ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งบริเวณสนามบินเชียงใหม่ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์
จุดชมวิววัดพระธาตุดอยคำ
กลับเข้ามาในตัวเมือง ไปต่อกันที่ “วัดเจดีย์หลวง” ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928 - 1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย
วัดเจดีย์หลวง
สำหรับ “พระธาตุเจดีย์หลวง” นั้นถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่

สมัยพญาติโลกราช โปรดให้ปรับรูปทรงเป็น แบบโลหะปราสาทของลังการูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้ม ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวงนั้นมี 28 เชือก การสร้างรูปปั้น ช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์เพื่อให้เมืองมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการ สักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่า จะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้า มารุกรานย่ำยีเมืองได้ เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง
พระธาตุเจดีย์หลวง
ส่วนที่ “วิหารหลวง” ของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้น หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของล้านนา

มี “พระอัฎฐารส” เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง หล่อด้วยทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 18 ศอก พระนางติโลกะจุดา ราชมารดาของพญาติโลกราช โปรดฯให้หล่อขึ้น โดยนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยน พระพุทธรูปยืนมีขนาดใหญ่ได้สัดส่วน เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบล้านนาหรือพระสิงห์ ซึ่งได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย)
พระอัฎฐารส วัดเจดีย์หลวง
ไม่ไกลจากวัดเจดีย์หลวงก็เป็น “วัดเชียงมั่น” วัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ และถือเป็นวัดแห่งแรกในเขตกำแพงเมือง โดยแต่เดิมบริเวณนี้เป็นคุ้มหลวงที่ประทับของพญามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ก่อนที่จะทรงสร้างเมืองเชียงใหม่นี้ ได้ยกทัพเข้ามาตั้งในบริเวณนี้ที่แต่เดิมเรียกว่าเวียงเหล็ก ต่อมาจึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นราชมณเฑียรที่ประทับของพระองค์ และทรงขนานนามว่า “วัดเชียงมั่น” ให้เป็นพระอารามแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่
ด้านในวิหารหลวงวัดเชียงมั่น
พระแก้วขาว และ พระศิลาเจ้า
ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสําคัญของเชียงใหม่ คือ “พระแก้วขาว” (พระเสตังคมณี) และ “พระศิลาเจ้า” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีพระวิหารหลวง สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ด้านหลังเป็น “เจดีย์ช้างล้อม” รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนาฐานช้างล้อม องค์เจดีย์ผสมสี่เหลี่ยมและทรงกลมเปิดทองจังโก สร้างขึ้นครั้งพญามังรายสถาปนาวัดเชียงมั่น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากผู้ครองนครเชียงใหม่สืบมา
เจดีย์ช้างล้อม วัดเชียงมั่น
อีกวัดในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ห้ามพลาดก็คือ “วัดพระสิงห์” สร้างขึ้นในสมัยของพญาผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังราย ของเชียงใหม่ สร้างขึ้นพร้อมกับพระเจดีย์สูง 24 ศอก เพื่อใช้บรรจุอัฐิพระราชบิดาของพระองค์

“วิหารหลวง” ทางด้านหน้าวัดเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐาน “พระศรีสรรเพชญ” พระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นพระประธานเดิมของวิหารหลวงหลังเก่าก่อนที่จะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยครูบาศรีวิชัย
วิหารหลวง วัดพระสิงห์
พระศรีสรรเพชญ ภายในวิหารหลวง
ทางด้านในวัด มี “วิหารลายคำ” เป็นวิหารที่มีลวดลายปูนปั้นสวยงามประณีตบรรจง สร้างตามแบบศิลปกรรมของล้านนาแท้ๆ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระสิงห์” หรือ “พระพุทธสิหิงค์” (เป็นองค์จำลอง ส่วนองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พระราชวังบวรสถานมงคล) บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ ด้านหลังพระประธาน ยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบที่นี่เพียงแห่งเดียว
วิหารลายคำและพระเจดีย์
ส่วน “พระเจดีย์” วัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีมะโรง องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง โดยรูปแบบของเจดีย์สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญชัย รอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) โดยจะมีเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์อยู่ที่ฐาน และยังมีที่มุมอีก 4 องค์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้ายบรรจุรวมกับพระเกศา

เพลิดเพลินกับ 5 วัดงามในเมืองเชียงใหม่กันแล้ว หากยังมีเวลาอยู่ก็สามารถแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันได้อีก เพราะในตัวเมืองเชียงใหม่นี้มีวัดเก่าแก่ที่ยังคงความงามอันเป็นเอกลักษณ์อีกหลายที่
พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น