xs
xsm
sm
md
lg

ร่มรื่นใต้ร่มเงา 10 ต้นไม้ใหญ่ "รุกข มรดกแห่งแผ่นดิน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
จามจุรีต้นใหญ่อลังการแห่งกาญจนบุรี (ปัจจุบันมีการทำทางเดินชมรอบต้นไม้เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเหยียบรากไม้)
ในปัจจุบันที่สภาพอากาศทั่วโลกมีความรุนแรงแถมยังผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้คนทั้งโลกได้ตระหนักถึงเรื่องโลกร้อน และช่วยกันทำทุกวิถีทางเพื่อชลอให้โลกนี้ร้อนช้าลงอีกนิด

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดโลกร้อนอย่างได้ผลคือการปลูกต้นไม้ จนมีคำกล่าวว่า ...เวลาที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเวลาที่ดีรองลงมาคือตอนนี้... เพราะกว่าต้นไม้จะเติบโตต้องใช้เวลา ถ้าไม่ลงมือปลูกในตอนนี้แล้วจะต้องรอไปถึงเมื่อไร

และเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการปลูกต้นไม้ เราจึงขอนำ "10 ต้นไม้ใหญ่" ซี่งเป็น 10 ต้นจาก 216 ต้นจาก "รุกข มรดกของแผ่นดิน" ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดสรรต้นไม้ใหญ่จากสถานที่ต่างๆ จากทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเลือกต้นไม้ที่สะท้อนถึงความผูกพันของคนกับธรรมชาติ วัฒนธรรมไทย ความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติผ่านต้นไม้แต่ละต้นในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้ และสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ด้วย

การรวบรวมนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดทำขึ้น 3 ครั้งด้วยกัน โดยในปี 2560 ได้รวบรวมมาไว้จำนวน 65 ต้น ปี 2561 รวบรวมมาจำนวน 63 ต้น และในปี 2562 ได้รวบรวมเพิ่มอีก 88 ต้น และในวันนี้เราได้คัด 10 ต้นไม้ใหญ่ที่ทั้งงดงามและมีอายุยืนยาว อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก และควรค่าแก่การไปชมยิ่งนัก
ต้นจามจุรีภายใน กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1
แผ่กิ่งก้านสาขาอย่างยื่งใหญ่
1. ต้นจามจุรี จ.กาญจนบุรี

ต้นจามจุรีต้นใหญ่นี้ยืนต้นอยู่ที่กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เป็นต้นจามจุรียักษ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอายุกว่า 100 ปี ขนาดใหญ่ 10 คนโอบ ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 15 เมตร วัดความสูงจากพื้นดินสู่ยอดได้ประมาณ 20 เมตร รัศมีทรงพุ่มประมาณ 25.87 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของร่มเงายาวประมาณ 51.75 เมตร ถือเป็นอีกหนึ่งต้นจามจุรีที่มีขนาดใหญ่และหาชมได้ยากในปัจจุบัน แผ่กิ่งก้านสาขาอย่างอลังการร่มรื่นยิ่งนัก ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจและแวะเวียนมาชม เนื่องจากเป็นต้นไม้มีขนาดใหญ่และแตกกิ่งก้านสาขาสวยงาม
ต้นผึ้งยักษ์แห่งบ้านสะนำ
ต้นผึ้งยักษ์ต้นนี้ถือเป็นต้นไม้ที่มีพูพอนใหญ่ที่สุดในประเทศ
2. ต้นผึ้ง จ.อุทัยธานี

ต้นผึ้งหรือต้นเชียงต้นใหญ่นี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสะนำ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี มีความสูงถึง 70 เมตร วัดเส้นรอบวงแนบตามพูพอนหรือรากที่ยื่นออกมาได้ 97 เมตร ขนาด 40 คนโอบ ถือเป็นต้นไม้ที่มีพูพอนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อายุราว 300-400 ปี เดิมเป็นของพ่อตาของนายเฮียง ชาวป่า โดยก่อนหน้านี้พ่อตาจะขายต้นผึ้งนี้ให้กับพ่อค้าในราคา 9,000 บาท เพื่อนำไปก้านไม้ขีดไฟ ทำไม้ไอศกรีม และเอาพูพอนไปทำที่ตีข้าว แต่นายเฮียง ชาวป่า ขอต้นไม้นี้กับพ่อตาไว้เพราะเห็นคุณค่าและความสำคัญ และยากที่จะหาต้นไม้ใหญ่แบบนี้ในชุมชนไม่มีอีกแล้ว จึงขอไว้และดูแลรักษาอนุรักษ์มาจนถึงวันนี้ ปัจจุบันต้นไม้ยักษ์นี้ไม่ได้มีความสำคัญแค่เพียงความเป็นต้นไม้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นต้นไม้ใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชุมชน ยืนตระหง่างเคียงข้างศาลเจ้าบ้านที่สมาชิกในชุมชนทุกคนมีความรักศรัทธา
ต้นมะม่วงยักษ์แห่งวัดศรีชุม
ต้นมะม่วงตั้งอยู่ข้างมณฑปพระอจนะ
3.ต้นมะม่วง จ.สุโขทัย

ที่วัดศรีชุม ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย มีต้นมะม่วงโบราณต้นยักษ์อายุกว่า 200 ปี มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ยืนต้นโดดเด่นอยู่ข้างมณฑปพระอจนะแห่งวัดศรีชุม อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเมืองเก่าสุโขทัย ต้นมะม่วงโบราณต้นนี้มีรูปฟอร์มที่สวยงาม แผ่สยายกิ่งก้านสร้างความร่มรื่น นับต้นไม้เด่นประจำวัดที่มีคนนิยมมาถ่ายรูปคู่ด้วยไม่น้อยเลย
ต้นกระบากที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มีความสูงถึง 50 เมตร
4. ต้นกระบาก จ.ตาก

ต้นกระบากที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยต้นนี้อยู่ที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อ.เมืองตาก จ.ตาก มีขนาด 12 คนโอบ วัดเส้นรอบวง 16.10 เมตร สูง 50 เมตร ต้นไม้ต้นนี้อยู่ในหุบเขาของป่าดงดิบ แฝงตัวอยู่กลางป่ามายาวนานกว่า 700 ปี ก่อนจะถูกค้นพบโดยชาวเขาเผ่ามูเซอเมื่อปี 2519 แสดงถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นที่มาของชื่ออุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ โดยภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช” นั่นเอง ใครที่อยากไปชมสามารถเดินเท้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทางอุทยานฯ จัดทำไว้ มีระยะทางประมาณ 400 เมตรด้วยกัน
ต้นสะตือพักทัพ
ต้นสะตือแผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่
5. ต้นสะตือ จ.ระยอง

ต้นสะตือต้นนี้ได้ชื่อว่าเป็น "ต้นสะตือพักทัพ" ยืนต้นอยู่ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล พระอารามหลวง หรือวัดลุ่ม อ.เมือง จ.ระยอง มีอายุกว่า 300 ปี วัดขนาดเส้นรอบวงได้ 5 เมตร และความสูง 15 เมตร เปลือกหนาแตกลายดูโบราณ โดยจากประวัติของวัดลุ่ม สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อราวปี 2234 โดยต้นสะตือต้นนี้อยู่คู่วัดมาแต่นั้น ต่อมาใน พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพาทหารตีฝ่าแนวรบทหารพม่าไปทางภาคตะวันออกและตีหัวเมืองเรื่อยมา จนเมื่อยกทัพมาถึงเมืองระยองก็ได้มาทรงผูกช้างม้าพักแรมที่โคนต้นสะตือใหญ่ ซึ่งก็คือต้นสะตือที่วัดลุ่มแห่งนี้นั่นเอง
ต้นตะบูนแห่ง จ.ตราด (ภาพจากหนังสือ รุกข มรดกแห่งแผ่นดิน เล่ม 2)
ลานตะบูน แหล่งท่องเที่ยวของบ้านท่าระแนะ จ.ตราด
6. ต้นตะบูน จ.ตราด

ต้นตะบูนใหญ่แห่ง จ.ตราด ต้นนี้อายุกว่า 100 ปี เส้นรอบวงโดยประมาณ 2.40-3.10 เมตร สูงประมาณ 13-15 เมตร อยู่ในกลุ่มต้นตะบูนในป่าชายเลนบ้านท่าระแนะ ต.หนองคันทรง อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีผืนป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ต้นไม้แต่ละต้นมีขนาดใหญ่ให้ความรู้สึกว่ากำลังเข้าไปในป่าดึกดำบรรพ์ โดยในช่วงเวลาที่น้ำลงเราจะเห็นรากของต้นตะบูนที่แผ่ขยายกิ่งรากถักทอเป็นลวดลายที่แปลกตางดงามนัก
ต้นไทรปิยะมิตร
ต้นไม้ยักษ์แห่งเบตง ยะลา
7. ต้นไทร จ.ยะลา

ต้นไทรปิยะมิตร ยะลา เป็นต้นไทรยักษ์ใหญ่ ณ บ้านอุโมงค์ปิยะมิตร 1 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา สามารถวัดเส้นรอบวงได้ประมาณ 60.8 เมตร สูง 40 เมตร บริเวณโคนต้นมีพูพอนแผ่รากอย่างสวยงามทำให้ลำต้นดูเก่าแก่โบราณ ทางชุมชนจึงเรียกว่า “ต้นไม้พันปี” โดยต้นไทรยักษ์นี้เคยเป็นต้นไม้อำพรางทางเข้าอุโมงค์ปิยะมิตร ซึ่งเป็นอุโมงค์หลบซ่อนตัวในการทำสงครามต่อสู้กับรัฐของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในสมัยอดีต ถือเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเกี่ยวพันกับประวัตศาสตร์ทางการเมืองอีกด้วย
ต้นโพธิ์ใหญ่เกาะเกี่ยวซุ้มประตูวัดพระงามจนได้ชื่อว่า ประตูแห่งกาลเวลา
กิ่งก้านสาขาแผ่ขยาย
8. ต้นโพธิ์วัดพระงาม จ.พระนครศรีอยุธยา

ต้นโพธิ์วัดพระงาม ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา วัดพระงาม เป็นวัดร้างที่ยู่ในความดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็น “ประตูแห่งกาลเวลา” เนื่องจากเป็นต้นโพธิ์ที่ขึ้นปกคลุมซุ้มประตูที่เก่าแก่หักพังนั้นดูราวกับเมื่อก้าวผ่านไปแล้วจะสามารถย้อนไปสู่อดีตได้ ปัจจุบันนี้วัดพระงามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวถ่ายภาพยอดนิยมเนื่องจากต้นโพธิ์ต้นดังกล่าวนี้เอง นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังสามารถกราบพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่บริเวณซากเจดีย์ด้านในวัดได้ด้วย
ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ปลูกเป็นแนวใน ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
ช่วงออกดอกจะมีนักท่องเที่ยวมาเก็บภาพกันเป็นจำนวนมาก
9. กลุ่มต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ จ.นครปฐม

ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีอายุกว่า 30 ปี โดยเริ่มปลูกมาพร้อมๆ กับการจัดตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน โดยปลูกไว้เป็นแถวบริเวณริมถนนวัฒนา เสถียรสวัสดิ์ หรือที่นักศึกษาเรียกกันว่า “ถนนหลังมอ” ซึ่งมีมากกว่า 200 ต้น ตามแนวถนนระยะทางกว่า 2 กม. และอีกจุดหนึ่งคือบริเวณรอบสระน้ำพระพิรุณ โดยต้นชมพูพันธุ์ทิพย์จะออกดอกสีชมพูสดใสในช่วงกลางถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนมีนาคม โดยใช้ระยะเวลาบานประมาณ 2 สัปดาห์ จนกลายเป็นจุดชมดอกไม้และแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนแวะเวียนมาชมมากมายทุกๆ ปี
กลุ่มระบบนิเวศป่าไม้เสม็ดขาวแห่งระยอง
กิ่งก้านหงิกงอเหมือนอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์
10. กลุ่มระบบนิเวศป่าไม้เสม็ดขาว จ.ระยอง

กลุ่มระบบนิเวศป่าไม้เสม็ดขาว ยืนต้นอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ระยอง ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง โดยภายในสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้มี “ป่าเสม็ดพันปี” ซึ่งมีต้นเสม็ดขาวและเสม็ดแดงที่เก่าแก่ขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้างหลายร้อยต้น ต้นเสม็ดนี้พบได้ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ พบได้ทั่วไปในพื้นที่ป่าพรุที่มีน้ำท่วมในหน้าฝน และในหน้าแล้งมีไฟไหม้ป่าอยู่เป็นประจำ ซึ่งพรรณไม้ชนิดอื่นๆ จะไม่สามารถปรับตัวได้ แต่ต้นเสม็ดทนได้ทั้งน้ำทั้งไฟเพราะลำต้นมีเปลือกหนานุ่มซ้อนกันเป็นชั้นๆ เพื่อปกป้องแก่นของต้นซึ่งเนื้อแข็งมาก ต้นเสม็ดที่อายุมากๆ จะแผ่กิ่งก้านและลำต้นออกไปไกล ปลายกิ่งหงิกงอดูแล้วชวนให้นึกถึงป่าดึกดำบรรพ์ นับเป็นพรรณไม้ที่น่าสนใจและเรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดชมของสวนพฤกษศาสตร์ระยองเลยทีเดียว

สามารถดูรายชื่อของ "รุกข มรดกของแผ่นดิน" ทั้งหมดได้ดังนี้
- รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ปี 2560 (รูปแบบ e-book )
- รุกข มรดกของแผ่นดิน 2561 (รูปแบบ e-book)
- รุกข มรดกของแผ่นดิน 2562
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น